กรมอุตุฯ ประกาศประเทศไทยสิ้นสุดฤดูร้อนและจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนปี 2566 ในวันที่ 22 พ.ค. ปีนี้ปริมาณฝนรวมทั้งฤดูจะน้อยกว่าปีที่แล้ว ประมาณกลาง มิ.ย.-กลาง ก.ค. จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่วนในเดือน ส.ค.-ก.ย. จะเป็นช่วงที่ฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด มีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือและอีสาน 1-2 ลูก ทั้งนี้ ฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือน ต.ค. ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปอีกจนถึงกลางเดือน ม.ค. 2567
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 เวลา 10.00 น. ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ณ ศูนย์ปฏิบัติการพยากรณ์อากาศ ชั้น 11 อาคาร 50 ปี อุตุนิยมวิทยา โดยกล่าวว่าประเทศไทยสิ้นสุดฤดูร้อนและจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เนื่องจากพบว่ามีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยที่ระดับผิวพื้นถึงความสูงประมาณ 3.5 กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไปได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือว่าครบองค์ประกอบตามเกณฑ์การเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยแล้ว
ปีนี้ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนจะน้อยกว่าปี 2565 และจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5% (ปีที่แล้วสูงกว่าค่าปกติ 14%) ในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง อาจส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนเป็นช่วงที่จะมีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1-2 ลูก ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ สำหรับฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม 2567