แผ่นดินไหว เป็นภัยธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าหรือพยากรณ์ได้และไม่เลือกเวลาเกิด นำมาซึ่งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล กลุ่มนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้น “ระบบดิซาสเตอร์ลิ้งค์ (DisasterLink)” ใช้สื่อสารฉุกเฉินในพื้นที่หลังเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหว (Emergency Infrastructure Communication that Restores Areas With No Signal After Life-Threatening Disasters) แม้การสื่อสารหลักจะถูกตัดขาด เพื่อเพิ่มอัตรารอดชีวิต ให้ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อไปยังทีมกู้ภัย หรือหน่วยงานเพื่อเข้าช่วยเหลือได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วผ่านระบบนี้
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า น่ายินดีที่ทีมนักศึกษาไทยจากวิศวะมหิดลได้เป็นตัวแทนประเทศไทยบนเวทีนานาชาติ นำเสนอไอเดียสิ่งประดิษฐ์กู้โลก ในงาน Invent For The Planet 2023 ร่วมกับ 24 มหาวิทยาลัยชั้นนำ จาก 15 ประเทศ ณ เมืองเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความท้าทายคนรุ่นใหม่ในการคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยให้โลกของเราปลอดภัยและน่าอยู่ยิ่งขึ้น มุ่งฝึกให้รู้จัก Engineering Design มีขั้นตอน เสาะหาข้อมูล คิดวิเคราะห์ออกแบบ แก้ปัญหา โดยมหาวิทยาลัยในแต่ละประเทศ ได้รับโจทย์ของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมุ่งฝึกคนรุ่นใหม่ให้รู้จัก Engineering Design อย่างมีขั้นตอน เสาะหาข้อมูล คิดวิเคราะห์ออกแบบ แก้ปัญหา สมาชิกทีมไทย 6 คนรุ่นใหม่ในชื่อทีมดิซาสเตอร์ริสค์ สปอต เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ และภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ประกอบด้วย วิทวัส สุดทวี กรวิชญ์ สุวรรณ ศิรประกฤษฎิ์ ลิ้มตระกูลธงชัย พินิจ ไมตรีสกุลคีรี ภานุวัฒน์ เรืองเบญจสกุล วีรพันธุ์ วีรวัฒน์ไกวัล โดยมี รศ. ดร.อิทธิพงษ์ ลีวงศ์วัฒน์ และ อ. ดร.สมนิดา ภัทรนันท์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
วิทวัส สุดทวี หรือ บูม หัวหน้าทีมดิซาสเตอร์ริสค์ สปอต หนุ่มนักศึกษาชั้นปี 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่มาของแนวคิดนวัตกรรม “ระบบดิซาสเตอร์ลิ้งค์ (DisasterLink)” สื่อสารฉุกเฉินระหว่างเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหว (Disasterisk Spot Created an Emergency Infrastructure Communication that Restores Areas With No Signal After Life-Threatening Disasters) มาจากโศกนาฏกรรมแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ล่าสุดเมื่อต้นปี 2566 ที่ตุรกี-ซีเรียมีผู้เสียชีวิตกว่า 46,000 คน และติดอยู่ในซากปรักหักพังจำนวนมากเป็นเรื่องน่าสลดใจอย่างยิ่ง จากการศึกษาข้อมูลภัยพิบัติแผ่นดินไหว หลังจากเกิดแผ่นดินไหว 48 ชั่วโมงแรก หากช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทัน จะเป็นช่วงที่มี ‘อัตราการรอดชีวิต’ ของผู้ประสบภัยสูงสุด แต่เหตุแผ่นดินไหวในบางครั้งรุนแรง และสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางผู้คนบาดเจ็บ รวมถึงตึก อาคาร บ้านเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างพังทลาย กระทบถึงโครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสาร เช่น เสาสื่อสาร อาจเสียหายหรือชำรุด ส่งผลให้การสื่อสารถูกตัดขาดจากโลกภายนอก หรือหยุดชะงักและต้องใช้เวลานานในการซ่อมแซม ทำให้ผู้ประสบภัยจะไม่สามารถติดต่อสื่อสารขอความช่วยเหลือได้ รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น เมสเซนเจอร์ ไลน์ และแอพต่าง ๆ ก็จะไม่สามารถใช้งานได้ด้วยเช่นกัน เราจึงต้องการคิดค้นระบบสื่อสารฉุกเฉินที่แก้ปัญหาให้การสื่อสารไม่หยุดชะงัก ต่อให้โครงสร้างการสื่อสารจะชำรุดก็ตาม เพื่อต้องการเพิ่มอัตราผู้รอดชีวิต
“ระบบดิซาสเตอร์ลิ้งค์ (DisasterLink)” เป็นระบบที่สามารถใช้ติดต่อสื่อสารในช่วงหลังเกิดภัยพิบัติ มีจุดเด่นและประโยชน์ คือ ต่อให้โครงสร้างสื่อสารถูกทำลาย ผู้ประสบภัยก็ยังสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที ส่วนประกอบของ “ระบบดิซาสเตอร์ลิ้งค์ (DisasterLink)” ประกอบด้วย 1. Primary Node หรือ คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์หลักที่ใช้ในการรับข้อมูลต่าง ๆ โดยจะใช้เชื่อมต่อกับ Secondary Node 2. Subnode คือ ตัวขยายสัญญาณ WiFi ที่เซิร์ฟเวอร์หลักแชร์ ให้สามารถกระจายการเชื่อมต่อสู่ Web Application 3. เว็บไซต์สำหรับใส่ข้อมูล โดยภายในเว็บไซต์ จะมี 2 ปุ่ม คือ ปุ่ม Emergency Button ใช้เพื่อจับสัญญาณ GPS ล่าสุด ก่อนเครือข่ายจะล่ม และ ปุ่ม Rescue Team Room สามารถใช้ติดต่อ พิมพ์ข้อความ รายละเอียดต่าง ๆ กับศูนย์ช่วยเหลือได้
ศิรประกฤษฎิ์ ลิ้มตระกูลธงชัย หรือ ปัง ตัวแทนจากทีมดิซาสเตอร์ริสค์ สปอต นักศึกษาชั้นปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผู้ประสบภัยไม่จำเป็นต้องมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็สามารถใช้งานได้ เนื่องจาก “ระบบดิซาสเตอร์ลิ้งค์ (DisasterLink)” ที่สร้างขึ้นนี้ เป็นระบบการสื่อสารที่ไม่ได้พึ่งพาระบบโครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสารแบบทั่วไป แม้จะไม่สามารถใช้งานการสื่อสารในส่วนของ Data เช่น 3G, 4G หรือ 5G ได้ แต่เรานำประโยชน์จากความสามารถของโทรศัพท์ทุกเครื่องที่มี WiFi Module มาใช้งาน และนำมาพัฒนาต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับ วิธีการใช้งาน เพียงแค่ผู้ประสบภัยมีโทรศัพท์มือถือ ทำการเปิดหน้าเบราว์เซอร์ขึ้นมา จะพบกับเว็บไซต์ที่เราสร้างขึ้น แสดงขึ้นมายังหน้าจอทันที โดยผู้ประสบภัยสามารถใช้งานได้ง่าย สามารถกรอกข้อมูลที่สำคัญ พิมพ์รายละเอียดในลักษณะข้อความได้เลย ไม่ว่าจะเป็น ตำแหน่งปัจจุบัน พิกัด สถานที่ จำนวนผู้ประสบภัยในพื้นที่ หรือข้อมูลทางการแพทย์ อย่างโรคประจำตัว โดยระบุให้ครบถ้วนเพื่อรวดเร็วและแม่นยำต่อการช่วยเหลือ จากนั้นกดส่งข้อมูล เพียงเท่านี้ ข้อมูลที่กรอกนั้นจะถูกส่งมายังเซิร์ฟเวอร์ของระบบในศูนย์การปฏิบัติการการช่วยเหลือ ทางทีมหน่วยกู้ภัยจะเตรียมความพร้อม เตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆในการเข้าช่วยเหลือได้ถูกต้อง
ผลการทดสอบพบว่า ในปัจจุบัน เราสามารถพัฒนาต้นแบบ (Prototype) และสร้างเครือข่าย (Network) แบบ Mesh Topology ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อกันทุกอุปกรณ์เข้าด้วยกัน ใช้สำหรับให้ผู้ประสบภัยเชื่อมต่อและสื่อสารกันได้ เรียบร้อยแล้ว และทดลองใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ประสบภัยเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่าย Hotspot ที่ตัว “ระบบดิซาสเตอร์ลิ้งค์ (DisasterLink)” ปล่อยออกมา จากการทดสอบสามารถใช้งานได้ สามารถส่งข้อความ ระบุพิกัดตำแหน่งปัจจุบันจากโมดูล GPS ไปยังเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้