26 พ.ค. 2566 512 0

สดช.ลงพื้นที่แก่งกระจาน เพชรบุรี จัดกิจกรรมสานฝันปันรักเพื่อน้อง ครั้งที่ 2 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอินทรีอาสา (บ้านปาเกอะญอ)

สดช.ลงพื้นที่แก่งกระจาน เพชรบุรี จัดกิจกรรมสานฝันปันรักเพื่อน้อง ครั้งที่ 2 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอินทรีอาสา (บ้านปาเกอะญอ)

สดช.ลงพื้นที่แก่งกระจาน เพชรบุรี จัดกิจกรรมสานฝันปันรักเพื่อน้อง ครั้งที่ 2 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอินทรีอาสา (บ้านปาเกอะญอ) สร้างรอยยิ้มและขวัญกำลังใจ มุ่งเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลในพื้นที่ห่างไกล


วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ลงพื้นที่จัดกิจกรรม “สานฝันปันรักเพื่อน้อง ครั้งที่ 2” ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอินทรีอาสา (บ้านปาเกอะญอ) อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และรอยยิ้มให้กับน้อง ๆ รวมถึงการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลแก่นักเรียนและชุมชนในพื้นที่ห่างไกลให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น 


ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สดช. ได้จัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่นักเรียน และบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ ทาสีอาคารเรียน และมอบสิ่งของบริจาคที่จำเป็นแก่นักเรียนและชุมชนรอบข้าง ได้แก่ อุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า-ถุงเท้านักเรียน ข้าวสารอาหารแห้ง ขนม เป็นต้น รวมไปถึงการสนับสนุนของใช้ที่จำเป็นแก่โรงเรียน อาทิ อุปกรณ์เครื่องเขียน กระดาษสำหรับถ่ายเอกสาร อุปกรณ์ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องครัว เจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น เพื่อให้โรงเรียนนำไปต่อยอดบริหารจัดการในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนต่อไปการจัดกิจกรรมสานฝันปันรักเพื่อน้อง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของปี 2566 ที่เราได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยียน น้องๆ เยาวชนในพื้นที่ห่างไกล เส้นทางการเดินทางมาโรงเรียนเป็นการเดินทางที่ยากลำบากและใช้ระยะเวลา รวมถึงการเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ ยังมีความขาดแคลนอยู่บ้าง เช่น มีข้อจำกัดเรื่องไฟฟ้า บางส่วนต้องใช้โซลาร์เซลล์เข้ามาช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ยากกว่าปกติ ทำให้การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้มาสัมผัสบรรยากาศ รับทราบถึงความต้องการของนักเรียนและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลอย่างแท้จริง โดยจะนำไปใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของเราต่อไป ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ดิจิทัลชุมชนอินทรีอาสา” ขึ้นที่โรงเรียนแห่งนี้ด้วย ถือเป็นการทำงาน ขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคมตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของ สดช. เพื่อให้เกิดการรู้จัก เข้าใจ ใช้ได้ ใช้เป็น และมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น


“ในวันนี้ สดช. ได้นำกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล มาสอนให้เด็กๆ ให้ทราบถึงประโยชน์ การใช้งานอย่างระมัดระวังที่เหมาะสมกับวัย รวมถึงให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์แท็บเล็ต เพื่อใช้ค้นคว้าหาความรู้ และเล่นเกมส่งเสริมทักษะต่างๆ ซึ่งเป็นภาพบรรยากาศที่มีสีสันและเห็นถึงความสุขของทุกคนที่ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้


โดยขอขอบคุณผู้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทุกท่าน ที่ได้ร่วมบริจาคสิ่งของมากับ สดช. น้ำใจจากทุกท่านที่ได้รวบรวมมาในวันนี้ ได้ส่งต่อให้น้องๆ เยาวชน ได้มีอุปกรณ์การเรียน และสิ่งของจำเป็นต่างๆ ไว้ใช้ทำกิจกรรมที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ กิจกรรมสานฝันปันรักเพื่อน้อง เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานเพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่ สดช. มีความตั้งใจและมุ่งหวังให้เด็กนักเรียนและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร เกิดการรับรู้ ความเข้าใจถึงบทบาทการดำเนินงานของ สดช. และขยายผลไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม พร้อมทั้งยังได้ร่วมสนับสนุนการศึกษาและสังคม โดยจะมีการจัดกิจกรรม CSR ในพื้นที่อื่นต่อไป” ภุชพงค์ กล่าว


ร.ต.ท.ประมวล พลเกษตร ผู้อำนวยการโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอินทรีอาสา (บ้านปาเกอะญอ) กล่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้ สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 (กก.ตชด.14) 


พื้นที่รับผิดชอบใน ต.ห้วยทราย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 โดยเปิดสอนในระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งสิ้น 136 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งสิ้น 12 คน ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรมอุทยานแห่งชาติ ระยะทางจากโรงเรียนถึงศาลากลางจังหวัด 132 กิโลเมตร โดยเป็นถนนลาดยาง 130 กิโลเมตร และถนนลูกรัง 2 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางกว่า 2 ชั่วโมง นักเรียนและชาวบ้านส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเชาเผ่ากระเหรี่ยงและกระหร่าง นับถือศาสนาพุทธและคริสต์ มีอาชีพรับจ้างทั่วไปและทำการเกษตรบางส่วน ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ การเดินทาง และสภาพสังคมของชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ทำให้การเข้าถึงการศึกษาและบริการที่สนับสนุนด้านการศึกษา อาทิ อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีต่างๆ มีน้อยลงเช่นกัน ในนามโรงรียนของเรา ขอขอบคุณ สดช. ที่ได้มาสร้างความสนุกสนานให้กับน้อง ๆ ให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ จะนำสิ่งของบริจาคไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิตและนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางสร้างสรรค์ต่อไป