ดีป้า เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 1 ปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 4 ปีก่อน และอยู่ในระดับเชื่อมั่นเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ในทางกลับกัน ปริมาณความต้องการบุคลากรดิจิทัลจะสูงขึ้นจากการ Transform และการขยายกำลังการผลิตของภาคธุรกิจ ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนกำลังคน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านบุคลากร ขณะที่เอกชนแนะรัฐควรปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลให้ตรงจุด ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และดึงดูดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาเติมเต็มความต้องการกำลังคนดิจิทัลที่สูงขึ้น
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า แถลงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 54.0 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 49.0 ของไตรมาส 4 ปี 2565 ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นฯ ไตรมาส 1/2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 3 ปี และอยู่ในระดับเชื่อมั่นเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน อีกทั้งเพิ่มขึ้นในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านผลประกอบการ ด้านปริมาณการผลิตฯ ด้านการจ้างงาน ด้านการลงทุนเพื่อประกอบการ และด้านต้นทุนประกอบการ อย่างไรก็ตามมีเพียงดัชนีความเชื่อมั่นฯ ด้านคำสั่งซื้อฯ เท่านั้นที่ปรับตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้นตาม พร้อมกันนี้ ความต้องการทำ Digital Transformation ในหลายอุตสาหกรรมส่งผลดีต่อดัชนีในภาพรวม นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลจากต่างประเทศและการขยายฐานการผลิตของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกในประเทศไทยยังส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่คาดหวังจะลดต้นทุนการผลิตและขยายกิจการเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต อีกทั้งเปิดโอกาสในการทำกำไรได้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะทำให้อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยมีแนวโน้มเติบโต
แต่ในทางกลับกัน ความต้องการบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลจะสูงขึ้นตามการ Transform และการขยายกำลังการผลิตในหลากหลายกิจการ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากร รวมถึงการเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านบุคลากร อีกทั้งมีความกังวลว่า ความสามารถในการผลิตบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลของไทยยังไม่สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของภาคอุตสาหกรรมได้
หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมจะพบว่า 3 อุตสาหกรรมย่อยที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวขึ้นมาสูงกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 57.1 กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 59.3 และ กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ระดับ 58.6 ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 49.8 และ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 48.9
"ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ตรงจุด ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ และอีกประเด็นสำคัญคือ การดึงดูดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล (Talent) จากต่างประเทศเข้ามาเติมเต็มปริมาณความต้องการกำลังคนดิจิทัลที่สูงขึ้น รวมถึงการส่งเสริมการค้าเชิงรุกในตลาดต่างประเทศ" อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ของ ดีป้า ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ www.depa.or.th/th/depakm/digital-indicators, LINE OA: depaThailand และเพจเฟซบุ๊ก depa Thailand
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://short.depa.or.th/ZhiXB