13 มิ.ย. 2566 318 0

Esri แนะใช้เทคโนโลยี GIS ช่วยพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร ขานรับเทรนด์ ESG

Esri แนะใช้เทคโนโลยี GIS ช่วยพัฒนาความยั่งยืนขององค์กร ขานรับเทรนด์ ESG

Esri สบโอกาส แนะนำเทคโนโลยี GIS ปรับใช้ ช่วยพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนตามแนวคิด ESG หรือ Environment Social และ Governance โชว์เคสธุรกิจใช้ GIS ดำเนินธุรกิจแบบคำนึงถึงความรับผิดชอบที่มีต่อ 1. สิ่งแวดล้อม 2. สังคม และ 3. การกำกับดูแล หวังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะกับนักลงทุนที่ปัจจุบันมีแนวโน้มให้ความสำคัญในการลงทุนแบบยั่งยืน พบการศึกษาของ Global Impact Investing Network เกี่ยวกับมุมมองนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ของโลก 300 ราย พบนักลงทุนกว่า 68% เลือกลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ESG และจากข้อมูล Royal Bank of Canada ที่สำรวจความคิดเห็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ พบ 45% ของกลุ่มตัวอย่างคาดหวังผลตอบแทนสูงขึ้น จากการลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ESG



ดร.ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธานบริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด
เปิดเผยว่า เทคโนโลยี GIS ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาบริหารจัดการธุรกิจตามแนวคิด “การดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน” (ตามหลัก Environmental, Social, Governance: ESG)  ซึ่งสามารถช่วยให้องค์กรมีการตัดสินใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการทรัพยากร รวมถึงการประเมินผลและติดตามการดำเนินงานขององค์กรในด้าน ESG โดย Esri ได้นำเทคโนโลยี GIS มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับแนวคิด ESG ตอบรับเทรนด์ภาคธุรกิจและการลงทุนที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อแนวคิดการลงทุนแบบยั่งยืนมากขึ้น โดยไม่คำนึงแค่เพียงรายได้เพียงอย่างเดียว แต่มองถึงประโยชน์ระยะยาว


ทั้งนี้ แนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบ ESG ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากบริษัทต่างๆ ตลอดจนนักลงทุนทั่วโลก สามารถเห็นได้จากการศึกษาของ Global Impact Investing Network เกี่ยวกับมุมมองนักลงทุนสถาบันรายใหญ่ของโลก 300 ราย พบนักลงทุนกว่า 68% เลือกลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ESG ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูล Royal Bank of Canada ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ พบ 45% ของกลุ่มตัวอย่างคาดหวังผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งเทคโนโลยี GIS เข้ามามีส่วนช่วยองค์กรในการบริหารจัดการในหลายมิติ เช่น

1. มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ช่วยวางแผนพัฒนาทรัพยากรและจัดการสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้การวิเคราะห์และจัดเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เพื่อติดตามและควบคุมปัญหาทางสิ่งแวดล้อม เช่น การปรับเส้นทางการขนส่งให้เหมาะสมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การควบคุมการปล่อยสารพิษในอากาศและน้ำ การจัดการสิ่งเสีย หรือการตรวจสอบการทำงานของโรงงานเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม สามารถคาดการณ์และการป้องกันสาธารณภัยเพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมในกรณีเกิดภัยธรรมชาติ สามารถวางแผนการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว

2. มิติด้านสังคม (Social) ช่วยให้สามารถแสดงผลข้อมูลทางภูมิศาสตร์และการสื่อสารได้อย่างชัดเจน นำไปใช้ในการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาคธุรกิจ สังคม รวมไปถึงการใช้ข้อมูลภูมิศาสตร์ในการวางแผนการพัฒนาเมืองที่มีการกระจายทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างมีประสิทธิภาพ

3. มิติด้านการกำกับดูแล (Governance) ช่วยบริหารจัดการอย่างประสิทธิภาพ เพื่อการวิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจ สามารถมอนิเตอร์เหตุการณ์หรือกระบวนงานต่าง ๆ ในรูปแบบแดชบอร์ดที่สรุปผลข้อมูลอย่างเป็นระบบ เข้าใจง่าย มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ง่าย

ดร.ธนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างการนำเทคโนโลยี GIS มาประยุกต์ใช้ พบบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ชื่อดังแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ได้นำเทคโนโลยี GIS มาใช้บริหารจัดการการขนส่ง ในการวิเคราะห์เส้นทางการขนส่งที่เร็วที่สุด ทำให้ประหยัดเวลา ประหยัดน้ำมัน และเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่ ซึ่งจากการบริหารจัดการนี้บริษัทลดการเดินทางไปได้มากถึง 100 ล้านไมล์ต่อปี เท่ากับประหยัดน้ำมัน 10 ล้านแกลลอน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 100,000 เมตริกตัน ทั้งยังช่วยพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย หรือบริษัทผลิตกาแฟรายใหญ่ของโลกรายหนึ่ง ใช้เทคโนโลยี GIS เพื่อวิเคราะห์สภาพอากาศและภูมิศาสตร์ที่ครอบคลุมพื้นที่ไร่กาแฟ เพื่อศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและผันผวนในพื้นที่รอบๆ ไร่ เพื่อช่วยรักษาคุณภาพของผลผลิต รวมไปถึงคาดการณ์ผลกระทบจากไร่ไปสู่สิ่งแวดล้อมที่จะมีผลต่อชุมชน

หากองค์กรที่ยังไม่ได้เริ่มต้นดำเนินการในส่วนนี้ สามารถเริ่มได้โดยการนำเทคโนโลยี GIS มาช่วยในการวิเคราะห์และประเมินความสอดคล้องระหว่างสถานะธุรกิจปัจจุบันกับแนวคิด ESG โดยการนำข้อมูลต่างๆ ทั้งในส่วนธุรกิจเอง เช่น ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลขนส่ง ข้อมูลการใช้สาธารณูปโภคต่างๆ มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลแวดล้อมภายนอก เช่น ข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลทางสังคม ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เพื่อที่สามารถตั้งเป้าหมายและวางแผนการดำเนินการอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ดี การเตรียมพร้อมใช้เทคโนโลยี GIS ที่สอดคล้องกับแนวคิด ESG เป็นกระบวนการที่ต้องมีการวางแผนและการดำเนินงานอย่างรอบด้าน ทั้งการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การวางแผนการใช้งาน เทคโนโลยีที่เหมาะสม การฝึกอบรมและการสนับสนุน และการติดตามผลเพื่อให้องค์กรมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับแนวคิด ESG อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ดร.ธนพรกล่าวทิ้งท้าย