24 มิ.ย. 2566 1,308 16

หัวเว่ย จัดงานโร้ดโชว์ Women in Tech ครั้งแรกในประเทศไทย

หัวเว่ย จัดงานโร้ดโชว์ Women in Tech ครั้งแรกในประเทศไทย

เดินหน้าเสริมศักยภาพผู้หญิงไทยในวงการไอที เนื่องในวันวิศวกรรมสตรีสากล

ปิยะธิดา อิทธิระวิวงศ์ (ที่ 4 จากซ้าย) ประธานบริหารกลุ่มธุรกิจคลาวด์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วย ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง (ที่  3 จากซ้าย) รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ; มนทกานติ์ สุวรรณทรรภ กิตติไพศาลศิลป์ (ที่ 7 จากซ้าย) เจ้าหน้าที่บริหารโครงการด้านวัฒนธรรม สำนักงานยูเนสโกเพื่อพหุพันธกิจระดับภูมิภาค ณ กรุงเทพมหานคร; ผศ. ดร. สุนันฑา สดสี (ที่ 6 จากซ้าย) คณะบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ; ศิโรรัตน์ สุนทรสุข (ซ้ายสุด), Senior Developer, ThoughtWorks; ทิพรดา ทิพยบุญทอง (ที่ 2 จากซ้าย); Human Resource of Huawei Technologoies (Thailand) and Huawei Technologies (Thailand) Ambassador; ธัญญ์ฐิตา อนันต์จารุเลิศ (ขวาสุด) Senior 5G Marketing Manager, CNBG Marketing Asia Pacific, Huawei Technologies (Thailand); และ ฟูโร ลี (ที่ 5 จากซ้าย) นักศึกษาฝึกงานและผู้ประสานงานโครงการ Girls in ICT Day สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ให้เกียรติร่วมงาน Women in Tech Roadshow  ณ Stadium One กรุงเทพมหานคร

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเฉลิมฉลองวันวิศวกรรมสตรีสากล (International Women in Engineering Day) จัดงานโร้ดโชว์ “Women in Tech” ครั้งแรกในไทย จุดประกายการเรียนรู้ด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจจากผู้หญิงต้นแบบและผู้นำหญิงในสายไอที พบกับกิจกรรม Tech Talk และบูธจัดแสดงเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่หัวเว่ยร่วมผนึกกำลังกับพันธมิตร เพื่อสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมกัน วัตถุประสงค์ของกิจกรรมโร้ดโชว์ครั้งนี้คือการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงรุ่นใหม่หันมาสนใจศึกษาต่อในสาขา STEM  (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) เพื่อขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกัน กิจกรรมนี้ยังเป็นการผนึกกำลังระหว่างหัวเว่ย องค์การยูเนสโก (UNESCO) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย ในการบ่มเพาะและเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านไอซีทีให้กับโลกดิจิทัลของไทยในอนาคต

รายงานดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economy Forum) ระบุว่า อาชีพในสาขา STEM เป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพสำคัญที่มีค่าตอบแทนสูง และจะเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นในอนาคต แต่จำนวนผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในสาขา STEM ยังคงมีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ประกอบอาชีพที่ไม่อยู่ในกลุ่ม STEM ผู้หญิงมีจำนวนมากถึงเกือบครึ่ง (49.3%) ในขณะที่ในอาชีพในสาขา STEM มีผู้หญิงเพียง 29.2% เท่านั้น หัวเว่ยมีความตั้งใจที่จะผลักดันผู้หญิงเข้าสู่สายงานด้าน STEM มากขึ้น จึงเปิดตัวโครงการ ‘Women in Tech’ อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2563 โดยยึดแนวปฏิบัติ 3 เสาหลัก ได้แก่ Tech For Her, Teach With Her, Teach by Her ซึ่งปัจจุบัน โครงการมีการขยับขยายและดำเนินงานอยู่ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก 

“สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นการเปิดตัวโครงการการแข่งขัน Women in Tech อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ทั้งนี้นวัตกรและบุคลากรด้านดิจิทัล ทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจของประเทศ โดยทางสำนักงานมีความมุ่งมั่นจะทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรและพาร์ทเนอร์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงหัวเว่ย เพื่อบ่มเพาะอีโคซิสเต็มของผู้ประกอบการนวัตกรรมและบุคลากรด้านดิจิทัล ตลอดจนผลักดันประเทศไทยให้ขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งอาเซียน” ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรและบุคลากรด้านดิจิทัล


ปิยะธิดา อิทธิระวิวงศ์ ประธานบริหารกลุ่มธุรกิจคลาวด์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ขึ้นกล่าวในงานครั้งนี้ว่า “หัวเว่ย ในฐานะบริษัทเทคโนโลยี ยึดมั่นในภารกิจการเติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย และขับเคลื่อนโลกอนาคตแห่งดิจิทัลที่มีความเท่าเทียม สำหรับในปี พ.ศ. 2566 นี้ หัวเว่ยจะยังคงเดินหน้าเพาะบ่มบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ โดยมุ่งเน้นใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ โครงการนักพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ โครงการวิศวกรพลังงานดิจิทัล และการสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัล เช่น โครงการ Women in Tech นี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการเหล่านี้กันมากขึ้น”


ด้าน มนทกานติ์ สุวรรณทรรภ กิตติไพศาลศิลป์ เจ้าหน้าที่บริหารแผนงานด้านวัฒนธรรม องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายในยุคดิจิทัล พร้อมทั้งแสดงความชื่นชมหัวเว่ยและพันธมิตรที่ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น และได้เน้นย้ำพันธกิจขององค์การยูเนสโกในการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ผ่านทางระบบการศึกษาตั้งแต่ชั้นปฐมวัยไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และผ่านการวางแผนโครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อการฝึกอบรมครูอาจารย์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุนันฑา สดสี คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้แสดงความคิดเห็นในมุมมองฝ่ายวิชาการว่า “มหาวิทยาลัยต้องทำงานร่วมกับภาครัฐ และพันธมิตรจากภาคอุตสาหกรรมอย่างหัวเว่ย เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนโลกอนาคตแห่งดิจิทัลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”      

กิจกรรมโร้ดโชว์ Women in Tech จัดแสดงบูธให้ผู้เยี่ยมชมได้เรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และโซลูชันพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สำหรับครัวเรือนที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนยิ่งขึ้นให้กับโลก ผู้ร่วมงานยังจะได้สัมผัสเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน สมาร์ทวอทช์ โซลูชัน AR และ XR ที่เข้ามาช่วยส่งมอบความบันเทิงแห่งอนาคต และบูธนิทรรศการแผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยองค์การยูเนสโก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย นอกจากนี้ ภายในงาน ผู้สนใจยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการนักพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ของหัวเว่ยได้อีกด้วย


ไม่เพียงเท่านั้น หัวเว่ยยังนำ ‘รถดิจิทัลเพื่อสังคม’ มาจัดแสดงให้บุคคลทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชมเป็นครั้งแรก รถดิจิทัลคันนี้เป็นโครงการเพื่อสังคมที่หัวเว่ย ประเทศไทย จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทักษะความรู้ด้านดิจิทัลให้กับนักเรียน คนงาน และบุคลากรทางการแพทย์กว่า 3,000 คนใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ โครงการดังกล่าวได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีสถานศึกษาเข้าร่วมในโครงการแล้ว 27 โรงเรียน สะท้อนถึงความร่วมมือกันเพื่อเพิ่มการเข้าถึงด้านการศึกษาดิจิทัลในพื้นที่ห่างไกล

กิจกรรมโร้ดโชว์ครั้งนี้ยังแสดงถึงความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างหัวเว่ยและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการ ‘Girls in ICT’ ซึ่งหัวเว่ย ได้ส่งเสริมความรู้และฝึกอบรมหลักสูตรเทคโนโลยี 5G, คลาวด์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่นักเรียนมากกว่า 40 คน ตัวแทนนักเรียนจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณหัวเว่ยและพันธมิตร พร้อมทั้งเชิญชวนนักเรียนคนอื่น ๆ ให้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลเพื่อปลดล็อคโอกาสทางอาชีพที่น่าสนใจอีกมากมาย

สืบเนื่องจากความสำเร็จของโครงการเหล่านี้ หัวเว่ย จึงได้ประกาศแผนการระยะเวลา 3 ปี เพื่อฝึกอบรมนักพัฒนาคลาวด์จำนวน 20,000 คน พร้อมทั้งจุดประกายนักเรียนนักศึกษา ทั้งชายและหญิง ให้เข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีคลาวด์ของหัวเว่ย (Huawei Developer Program) โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างแน่วแน่ของหัวเว่ย ในการขับเคลื่อนสู่ยุคดิจิทัล และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนผ่านการผนึกกำลังร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทย      

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา หัวเว่ย ประเทศไทย ยังได้รับรางวัล Prime Minister Award ด้าน ‘สุดยอดองค์กรดีเด่นด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์’ (Best of Contributor in Human Capital Development Award) จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รางวัลอันทรงเกียรตินี้เป็นเครื่องพิสูจน์ความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ของหัวเว่ยในการส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรด้านดิจิทัล การสนับสนุนการเติบโตของอิโคซิสเต็มด้านเทคโนโลยี 5G คลาวด์ รวมทั้งความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย