27 มิ.ย. 2566 354 0

LINE ชูแนวคิด Chat Economy เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เปิดแผนธุรกิจหลัก มุ่งผลักดันเศรษฐกิจและชีวิตคนไทย เติบโตต่อได้อย่างยั่งยืน

LINE ชูแนวคิด Chat Economy เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เปิดแผนธุรกิจหลัก มุ่งผลักดันเศรษฐกิจและชีวิตคนไทย เติบโตต่อได้อย่างยั่งยืน

LINE ประเทศไทย เปิดข้อมูลพฤติกรรมการใช้งาน LINE เพื่อการทำงานของคนไทย ชี้ผลกระทบจากโครงสร้างประชากรเดินหน้าสู่สังคมผู้สูงวัย ส่งผลให้วัยทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มคนเจนวาย (Gen Y) กลายเป็นกลุ่มสำคัญ ที่ต้องแบกรับภาระหนักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในหลายมิติ LINE จึงเล็งเห็นความสำคัญด้วยการร่วมผลักดัน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เสริมสร้าง Work Life Balance ให้คนไทยวัย ‘เดอะแบก’ ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม พร้อมเผยแนวทางการพัฒนาธุรกิจหลักของ LINE ประเทศไทยในปี 2566 ชูจุดเด่นแห่ง Chat Economy ด้วยการพัฒนาโซลูชั่นสำหรับการทำธุรกิจเพิ่มเติม เสริมสร้างและผลักดันโซเชี่ยลมีเดียรูปแบบใหม่ นำเทคโนโลยี AI มาสู่คนไทย รวมถึงขยายบริการเดิมสู่ธุรกิจใหม่ ที่จะช่วยให้ทั้งผู้ใช้งาน และพันธมิตรทางธุรกิจเติบโตไปพร้อมกัน


นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า “เป็นที่รู้กันดีว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต นั่นแปลว่าประชากรที่เข้าสู่วัยทำงานจะมีจำนวนลดลงอย่างมาก ซึ่งอาจส่งผลทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปอย่างช้าๆ หรือถดถอย สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันจะเห็นว่ากลุ่มคนเจน Y (อายุ 28-42 ปี)  เป็นกำลังหลักในวัยทำงาน ด้วยความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ กลุ่มคนเจน Y จึงถือเป็นพลังสำคัญในยุคสังคมสูงวัย และนับเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในช่วงเวลาที่เรามีแรงงานลดน้อยลง เราควรเร่งการสนับสนุน เพื่อร่วมสร้างการเติบโตและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไป”

เปิดพฤติกรรม Gen Y ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านแชต

เมื่อมองถึงการใช้เทคโนโลยีของคนไทย เพื่อการทำงานและการทำธุรกิจบน LINE คนไทยเป็นชาติที่มีลักษณะเฉพาะในการใช้ LINE โดยใช้งานทั้งกับชีวิตส่วนตัวและการทำงาน สิ่งนี้เกิดขึ้นกับคนไทยทุกเจนที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน คือ ตั้งแต่อายุ     20 ปี โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเจน Y โดยมีมากถึง 82% ที่ใช้งาน Group Chat บน LINE เพื่อการทำงาน โดยมีการใช้ LINE Call ควบคู่กันด้วย และมีมากถึง 88% ที่ใช้งาน LINE บนคอมพิวเตอร์ สะท้อนชัดถึงการใช้ LINE เพื่อการทำงาน นอกจากนั้น กลุ่มเจน Y ยังเป็นกลุ่มที่มีช่วงเวลาการใช้งาน LINE นานที่สุดถึงประมาณ 100 นาทีต่อวัน ในส่วนด้านการบริโภคจับจ่าย ยังพบว่าเจน Y เป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายบน LINE มากที่สุด ด้วยยอดผู้ใช้จ่าย ซื้อของผ่าน LINE มากกว่าเจนอื่นๆ ถึง 2 เท่า โดยเฉพาะผู้ใช้งานเพศหญิง ทั้งนี้ โดยระหว่าง 8 โมงเช้าถึงเที่ยงวัน ในวันจันทร์ถึงศุกร์ จะมีการเข้าใช้งาน LINE OA มากที่สุด


ทิศทางเทคโนโลยีบน LINE ตอบโจทย์คนวัยทำงานและคนทำธุรกิจ

ด้วยยอดการใช้งาน LINE ผ่านฟีเจอร์ Group Chat และการใช้งาน LINE บนคอมพิวเตอร์ของคนไทย ที่สะท้อนถึงความนิยมในการทำงานผ่าน LINE นอกเหนือจากการติดต่อทั่วไปในชีวิตประจำวัน นำมาสู่ประเด็นเรื่องการบริหารจัดการชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานผ่านแชตในปัจจุบัน โดย LINE ให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว จึงได้มีแผนการสำรวจและวิจัยเรื่องการใช้งาน Group Chat ในเชิงลึก เพื่อนำมาพัฒนาฟีเจอร์ที่จะช่วยคนไทยให้สามารถใช้ LINE ได้ ทั้งสำหรับชีวิตส่วนตัวและการทำงาน แต่ยังคงความสมดุลและมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังมีแผนการนำเทคโนโลยี AI ทั้งในส่วนที่ LINE พัฒนาเองและจากภายนอก เข้ามาเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการใช้งานให้ดียิ่งขึ้น

ในด้านของการทำธุรกิจ LINE OA ยังคงเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย เพื่อใช้เป็นช่องทางหลักในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ สำหรับธุรกิจทุกขนาดและทุกประเภท ซึ่งโดยปัจจุบันมียอดการเปิดใช้งานสูงถึง 6 ล้านบัญชี อีกทั้ง ยังมีกลุ่มเครื่องมือจาก LINE OA Plus ซึ่งเป็นกลุ่มเครื่องมือที่คิดค้นและพัฒนาโดยทีมนักพัฒนาของ LINE ในประเทศไทย ที่เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการใช้งาน LINE OA ให้เป็นมากกว่าช่องทางเพื่อการสื่อสาร แต่สามารตอบโจทย์ที่หลากหลายตามความต้องการของแต่ละกลุ่มธุรกิจได้ในเชิงลึก

โดยในปีนี้ LINE มีแผนพัฒนากลุ่มเครื่องมือภายใน LINE OA Plus อย่างต่อเนื่อง อาทิ การออกเครื่องมือใหม่ MyCRM สำหรับจัดการ บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าด้วยฟีเจอร์ ฟังก์ชั่นเฉพาะด้านที่ครบครัน พร้อมการพัฒนาปรับปรุงเครื่องมือเดิมอย่าง MyCustomer สำหรับการจัดเก็บและจัดการข้อมูลลูกค้า ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ให้ครบเครื่องเพื่อการทำธุรกิจด้วยดาต้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับโฉมใหม่เครื่องมือ MyRestaurant สำหรับการบริหาร จัดการธุรกิจร้านอาหาร ให้ตอบสนองตลาดได้ดีกว่าเดิม การเปิดตัว LINE OA Store อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นช่องทางให้แบรนด์ได้สามารถมองหาและเข้าถึงพาร์ทเนอร์ ผู้สรรค์สร้างโซลูชั่นเชิงเทคโนโลยีที่ใช่ และเป็นพื้นที่ให้บริษัทฯ นักพัฒนาทั่วไปได้นำเสนอโซลูชั่นบน LINE ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ LINE ยังมีแผนจัดตั้ง Blue Badge Guide Awards การประกาศรางวัลให้กับร้านค้า ธุรกิจไทย ที่มีความใส่ใจในเรื่องการออกแบบธุรกิจที่ครบในทุกด้าน ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานร้านค้าไทยทั้งในเชิงการสร้างแบรนด์ควบคู่กับการทำธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ LINE ยังเผยแนวคิดในการพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้ Myshop เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการเปิดร้านสำหรับผู้ประกอบการไทยในทุกธุรกิจ เฉกเช่นการสร้างเว็บไซต์ของแบรนด์ และการใช้ Market Place ที่กลายเป็นกลยุทธ์ยอดฮิตในการดำเนินธุรกิจของตลาดฝั่งตะวันตก แต่สำหรับตลาดประเทศไทย ด้วยความง่าย ความคุ้นชินในการใช้งาน LINE Chat และ LINE Official Account (LINE OA) ของผู้บริโภค และการเชื่อมต่อเครื่องมือที่สะดวก ง่ายดาย และฟรี สำหรับผู้ประกอบการไทย ถือเป็นพื้นฐานทีสำคัญที่จะช่วยให้ Chat Economy บน LINE สามารถขับเคลื่อน E-commerce ในประเทศไทย ให้เติบโตได้มากขึ้นไปพร้อมๆ กับ Market Place ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

พัฒนาธุรกิจกลุ่มไลฟ์สไตล์ ขยายการเติบโต

ไม่เพียงด้านธุรกิจเท่านั้น ในด้านไลฟ์สไตล์ LINE ยังคงรับฟังและพัฒนาบริการต่างๆ ให้ตอบโจทย์การเติบโต และความต้องการของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการอิสระแต่คงความเป็นส่วนตัวไว้ในที่เดียวกัน LINE OpenChat ถือเป็นหนึ่งบริการที่เป็นที่นิยมของคนทุกวัย ด้วยยอดการใช้งานสูงสุดถึง 10 ชม.ต่อวัน เรียกได้ว่าเป็นบริการที่สามารถสร้างปรากฎการณ์ในเชิงสถิติการเข้าใช้งานที่ยาวนานที่สุด หรือที่เราเรียกว่า ‘Always On’ เมื่อเทียบกับบริการอื่นๆ บนแพลตฟอร์ม ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานประจำ 17 ล้านคนต่อเดือน ในปีนี้ LINE OpenChat มีแผนพัฒนาฟีเจอร์ LIVE Talk เปิดการพูดคุยแบบเรียลไทม์ เพื่อเป็นการเปิดประสบกาณ์แบบใหม่แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวแบบไม่เปิดเผย พร้อมมีแผนพัฒนาให้เปิดพื้นที่สำหรับอินฟลูเอนเซอร์บนโลกของ LINE อีกด้วย


ในขณะที่บริการอื่นๆ LINE มีแผนที่จะพัฒนาและขยายธุรกิจเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น LINE TODAY ที่จะมีการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลายมากขึ้น จากแหล่งรวมข่าวสาร สาระมากมาย สู่ธุรกิจแห่งความหลากหลายของคอนเทนต์ LINE STICKERS ที่จะขยายขอบเขตธุรกิจ licensing เพื่อผลักดันศักยภาพอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ในไทย ดังเช่นตัวอย่างความสำเร็จล่าสุดจากโปรเจคความร่วมมือระหว่าง K Plus และ LINE Creators LINE MELODY ที่จะมุ่งขยายธุรกิจจากการทำธุรกิจเพลง สู่การเป็นผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีโดยรวม ด้วยหลากหลายกิจกรรมการส่งเสริม พร้อมเปิดโอกาสให้ศิลปินทั้งค่ายใหญ่ ค่ายเล็ก หรือศิลปินอิสระ สามารถเข้ามาเป็นพันธมิตรในการสร้างรายได้และการเติบโต และ LINE HORO ที่จะขยายธุรกิจจากบริการดูดวง ขอพร ทำบุญออนไลน์ สู่การบริจาคยุคใหม่ Donation on LINE ที่สะดวกและเชื่อถือได้ โดยล่าสุดได้พิสูจน์ความสำเร็จจากโครงการบริจาคโลงศพ และโครงการระดมทุนรับบริจาคช่วยเหลือสังคม ที่ร่วมมือกับเทใจ ด้วยยอดเงินบริจาคมากกว่า 2 ล้านบาทภายในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

“จากข้อมูลทั้งในเชิงโครงสร้างสังคม และพฤติกรรมของคนไทยในการใช้งานแพลตฟอร์ม LINE ที่เปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามุ่งเน้นการพัฒนา ปรับปรุงการใช้งานบริการต่างๆ ของเราให้ดียิ่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการพัฒนาเพื่อตอบสนองสิ่งที่คนไทยต้องการ ด้วยผีมือทีมนักพัฒนาแห่ง LINE ประเทศไทย ที่สามารถออกแบบเครื่องมือ และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของคนไทย เรามั่นใจว่า LINE ประเทศไทย จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นแรงผลักดันเชิงบวกให้กับประเทศได้ ด้วย Chat Economy ที่เกิดขึ้นโดยวิถีของคนไทย สู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่สามารถก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และพัฒนาประเทศไทยให้มีศักยภาพการแข่งขันในแบบฉบับของเราเองได้ในที่สุด” นรสิทธิ์ กล่าวสรุป