5 ก.ค. 2566 793 0

ดีอีเอส - ETDA หารือ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เผย ผู้ให้บริการส่วนใหญ่พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย DPS เตรียมเปิดช่องทาง ให้คำปรึกษา-ตอบทุกข้อสงสัย เริ่ม 17 ก.ค. นี้

ดีอีเอส - ETDA หารือ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เผย ผู้ให้บริการส่วนใหญ่พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย DPS เตรียมเปิดช่องทาง ให้คำปรึกษา-ตอบทุกข้อสงสัย เริ่ม 17 ก.ค. นี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จับมือ ETDA ตั้งโต๊ะหารือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เร่งทำความเข้าใจต่อกฎหมาย DPS (Digital Platform Services)  เผย ผู้ให้บริการแฟลตฟอร์มดิจิทัลส่วนใหญ่พร้อมจดแจ้ง  ย้ำเตรียมเดินหน้าเปิดช่องทางให้คำปรึกษา ตอบทุกข้อสงสัย เกี่ยวกับกฎหมาย เริ่มให้บริการ 17 กรกฎาคม 2566 นี้


ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (5 ก.ค. 2566) ดีอีเอส พร้อมด้วย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ทีมผู้บริหาร นักกฎหมายของ ETDA ประชุมหารือร่วมกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมาย DPS  (Digital Platform Services) ที่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ถือเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ โดยจากการหารือผู้ให้บริการแฟลตฟอร์มดิจิทัลส่วนใหญ่มีความเข้าใจและพร้อมให้ความร่วมมือในการจะเข้ามาจดแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจให้ ETDA ทราบ ซึ่งในกระบวนการสำคัญจะมีทั้งในด้านการเก็บข้อมูลการประกอบธุรกิจ การกำหนดมาตรการการป้องกันและการแก้ปัญหาจากการให้บริการที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้บริการ การมีกลไกในการจัดทำระบบการลงทะเบียนผู้ใช้บริการด้วยระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตน และที่สำคัญที่ผ่านมาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลส่วนใหญ่ได้มีส่วนร่วมในการรับทราบ และให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย DPS อย่างใกล้ชิด  ดังนั้น เมื่อกฎหมาย DPS มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ ส่วนใหญ่จึงพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและดำเนินงานให้มีความสอดคล้องตามที่กฎหมาย DPS ซึ่งจะเป็นกรอบแนวปฏิบัติที่ดี ที่ทำให้การให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีมาตรฐานเดียวกันมากยิ่งขึ้น


นอกจากนี้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแต่ละบริษัทได้แชร์วิธีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการ พร้อมให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะเข้ามาช่วยในการแก้ไขและปรับปรุง (ร่าง) คู่มือการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางระบบกลางทางกฎหมายที่ลิงก์ https://bit.ly/3XD4QFL จนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นี้ ซึ่งร่างคู่มือฉบับนี้ ถือเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติภายใต้กฎหมาย DPS ที่จัดทำขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนำไปเป็นกรอบทิศทางในการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นกลไกที่ทำให้แนวทางการปฏิบัติภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าวมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเป้าหมายของกฎหมาย DPS มุ่งเน้นการดูแลและคุ้มครองผู้ใช้บริการ ภายใต้การส่งเสริมและการสนับสนุนให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีการพัฒนาให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดี (Best practice) เพื่อช่วยเป็นกลไกในการกำกับดูแลธุรกิจบริการของตนเองได้อย่างเหมาะสมและที่ผ่านมา ETDA ในฐานะ Co-Creation Regulator ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะต่อกฎหมายลำดับรอง ภายใต้กฎหมาย DPS มาอย่างต่อเนื่อง การรับความความคิดเห็นครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้น ETDA จะเปิดเวทีชี้แจ้งและสรุปภาพรวมของกฎหมายลำดับรองทั้ง 9 ฉบับ ที่ได้เคยเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วต่อสาธารณะอีกครั้ง ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ผ่านทางระบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและผู้ที่สนใจได้ทำความเข้าใจภาพรวมของกฎหมายร่วมกันอีกครั้ง


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการสื่อสารถึงลักษณะของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมาย DPS มาอย่างต่อเนื่องว่า จะต้องเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงให้ ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค หรือ ผู้ใช้บริการอื่นๆ มาพบกันและเกิดธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิสก์ ทั้งที่ให้บริการอยู่ประเทศไทย หรือ ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการที่อยู่ประเทศไทย โดยผู้ให้บริการที่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจและมีหน้าที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ภายใต้กฎหมาย DPS ได้แก่ กรณีผู้ให้บริการเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทยเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือ ผู้ให้บริการที่เป็นนิติบุคคลที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทยเกิน 50 ล้านบาทต่อปีหรือมีผู้ใช้บริการในไทยเฉลี่ยต่อเดือนเกิน 5,000 รายขึ้นไป และหากเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่อยู่นอกประเทศไทย แต่ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในไทยจะต้องแต่งตั้ง ผู้ประสานงานในประเทศไทยและต้องดำเนินการแจ้งข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ยังมีผู้ให้บริการบางรายที่ยังมีความกังวล และ เกิดความสงสัยอย่างต่อเนื่องว่า บริการแพลตฟอร์มของตนเองเข้าข่ายต้องแจ้งข้อมูลให้ ETDA ทราบหรือไม่ 


“ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบประเด็นข้อสงสัยและให้เกิดความชัดเจนในข้อปฏิบัติภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว ETDA จึงเปิดระบบ Digital Platform Assessment Tool เพื่อช่วยประเมินเบื้องต้นว่าเป็นบริการที่เข้าข่ายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือไม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินการแจ้งให้ ETDA ทราบ ผ่าน Checklist ออนไลน์ ที่ลิงก์ https://eservice.etda.or.th/dps-assessment/ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหญ่และรายเล็กเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง และ ในเร็วๆ นี้ ETDA เตรียมขยายผล สู่การจัดกิจกรรม Pre-consultation Checklist ที่จะมีทีมงานคอยให้คำปรึกษาแก่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเตรียมความพร้อมในการจดแจ้งข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยจะเริ่มเปิดระบบให้จองนัดประชุมทางเว็บไซต์ของ ETDA ก่อนเปิดให้บริการให้คำปรึกษาอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 โดยในระยะแรกนี้ตั้งเป้ามีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้าร่วมแจ้งการประกอบธุรกิจกับ ETDA นับ 1,000 ราย” ชัยวุฒิ เน้นย้ำ


นอกจากนี้ ยังเตรียมยกระดับบทบาทของ “ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ หรือ 1212ETDA” สู่การเป็นช่องทางกลางในการรับเรื่องร้องเรียนที่เกิดจากการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อเป็นช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย DPS เพื่อให้ผู้ร้องเรียนเข้าถึงข้อมูล ตลอดจนกระบวนการดูแลที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด ซึ่งถือเป็นขยายการให้บริการเพิ่มเติมเพื่อรองรับการบังคับใช้ตามกฎหมาย DPS นี้ไปด้วย

สำหรับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่มีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อและติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย DPS ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-123-1234 (ติดต่อทีมพัฒนากฎหมายดิจิทัล) ในวันและเวลาราชการ (9.00-17.00 น.) หรือที่เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand