5 ก.ค. 2566 551 0

ม.นเรศวร จับมือ สภาอุตฯ จังหวัดพิษณุโลก และภาคีเครือข่าย จัดงานยิ่งใหญ่ เกษตรนเรศวรเอ็กซ์โป 2023

ม.นเรศวร จับมือ สภาอุตฯ จังหวัดพิษณุโลก และภาคีเครือข่าย จัดงานยิ่งใหญ่ เกษตรนเรศวรเอ็กซ์โป 2023

ม.นเรศวร จับมือ สภาอุตฯ จังหวัดพิษณุโลก และภาคีเครือข่าย จัดงานยิ่งใหญ่ “เกษตรนเรศวรเอ็กซ์โป 2023” เผยผลกระทบการผลิตพืชเศรษฐกิจไทยในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

มหาวิทยาลัยนเรศวร จับมือ สภาอุตสาหกรรม จังหวัดพิษณุโลก และองค์กรภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน จัดงาน "เกษตรนเรศวรเอ็กซ์โป 2023" ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมนานานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมี ภูษิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิด


ภูษิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ด้านแรงงาน เกษตรกรเริ่มมีน้อยลงและมีอายุเพิ่มขึ้น ด้านพื้นที่เพาะปลูกมีลดลงหรือ การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อการเกษตรค่อนข้างรุนแรง ดังนั้น การถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการตั้งแต่ตันน้ำถึงปลายน้ำ จะช่วยช่วยเพิ่มผลผลิต และรายได้ด้านการเกษตรมากยิ่งขึ้น ซึ่งคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเล็งเห็นว่าการพัฒนาด้านดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการร่วมมือจากภาครัฐภาคเอกชน และผู้ประกอบการ จากประเด็นดังกล่าว


ในส่วนของเสวนาวิชาการ “มุมมองเกษตรกรต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการผลิตพืชเศรษฐกิจไทย”ภายในงานเกษตรนเรศวรเอ็กซ์โป 2023 นำโดย รศ.ดร.ธนัชสัณห์ พูนไพบูลย์พิพัฒน์ รองคณะบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ผู้นำเกษตรกร สายันต์ บุญยิ่ง นายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย ธวิช เพชรพงศ์ เกษตรดีเด่น สาขาทำนา และ พรศักดิ์ ตันติพูลพล ประธานฝ่ายวิชาการสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 6 กำแพงเพชร


รศ.ดร.ธนัชสัณห์ พูนไพบูลย์พิพัฒน์ รองคณะบดีฝ่ายวิชาการและประกันคุณภาพ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เนื่องด้วยสภาวะโลกร้อน (Global warming) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในแต่ละปี  ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate change) อย่างรวดเร็ว โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบด้านลบอย่างมาก ต่อการผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อนชื้นที่พื้นที่การเกษตรยังอาศัยน้ำฝน และความเหมาะสมของสภาพภูมิอากาศในการเพาะปลูกในประเทศไทย สภาวะโลกร้อนนี้นำไปสู่ปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น ฝนไม่ตกตามฤดูกาล หรือเกิดภัยแล้งในหลายๆพื้นที่ทางการเกษตร ส่งผลให้ประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตพืชผลลดลง และยังมีรายจ่ายต่อการจัดการผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ฝนตกในช่วงระยะของการออกดอกของมะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ส่งผลให้ช่อดอกร่วงไม่สามารถติดผลได้ สร้างความเสียหายอย่างมากให้แก่ตลาดการค้ามะม่วงน้ำดอกไม้ระดับประเทศและการส่งออกนอกประเทศ นอกจากนี้การเกิดภัยแล้งฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลกระทบโดยตรง ทำให้พืชขาดน้ำมีการเติบโตและผลิตผลที่ลดลง และความชื้นในดินที่ต่ำทำให้พืชไม่สามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบทางอ้อม โดยเกิดการปรับตัวของศัตรูพืชต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ เช่นการปรับวงจรชีวิตให้มีระยะเวลาที่สั้นลง สามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างรวดเร็ว และมีการเข้าทำลายพืชปลูกที่รุนแรงมากขึ้น การระบาดของศัตรูพืชทำให้ผลผลิตลดลง ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนในการจัดการศัตรูพืชที่สูงขึ้น


อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นมีประสิทธิภาพลดลงจากในอดีต  เนื่องมาจากสภาวะความร้อนที่สูงซึ่งไม่เหมาะสมต่อการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชบางชนิดที่เสื่อมสลายง่าย หรือชนิดของสารกำจัดศัตรูพืชที่มีจำหน่ายในขณะนี้มีให้เลือกไม่หลายหลาย และมีประสิทธิภาพการทำงานที่คล้ายคลึงกัน แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรบางราย ได้มีแนวคิดในการแก้ปัญหาโดยการใช้นำสารกำจัดศัตรูพืชแบบอินทรีย์มาใช้ทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่เนื่องด้วยเกษตรกรมีองค์ความรู้ทางด้านการใช้สารกำจัดศัตรูพืชแบบอินทรีย์ไม่เพียงพอ จึงทำให้ยากต่อการใช้งานและไม่มีประสิทธิภาพ  ดังนั้นเกษตรกรจึงมุ่งเน้นการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพราะใช้งานง่ายกว่า และให้ผลอย่างรวดเร็ว แต่การใช้สารอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีการใช้จำนวนครั้งที่ถี่ขึ้น และใช้สารชนิดเดิมเป็นระยะเวลานานมากกว่า 10 ปี  ส่งผลให้ศัตรูพืชเกิดการต้านทานต่อสารกำจัดศัตรูพืชชนิดนั้น และการใช้สารกำจัดในปริมาณมากทำให้ผลผลิตเกิดสารพิษตกค้างไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค


ด้วยเหตุนี้ ปัญหาการต้านทานของศัตรูพืชต่อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้น เป็นข้อกังวลของเกษตรกรเป็นอย่างมากในปัจจุบัน และในมุมมองของเกษตรกรผู้ประสบปัญหา มีข้อเรียกร้องให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณานำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพที่สูง และมีความหลายหลายต่อการใช้งานในแต่ละประเภทของศัตรูพืช เพื่อลดปัญหาการเกิดความต้านทางของศัตรูพืช และต้นทุนในการจัดการศัตรูพืชของเกษตรกร รศ.ดร.ธนัชสัณห์ กล่าวทิ้งท้าย