ทปส. โชว์นวัตกรรมระดับเวิลด์คลาส “รถแอมบูแลนซ์เวอร์ชั่นอัปเกรด” ล้ำหน้าด้วยระบบสื่อสารทางไกล หมอรักษาได้แบบเรียลไทม์ พร้อมพ่วงความครบครันด้วยเครื่องมือแพทย์ขั้นสูง ยกระดับการรักษาผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน
กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ โครงการรถกู้ชีพเก่งด้วยระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อใช้ในการช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่ออัปเกรดศักยภาพรถกู้ชีพที่มีอยู่แล้วให้มีอุปกรณ์ที่ครบครันมากยิ่งขึ้น โดยมีการพัฒนาแว่นตาอัจฉริยะเพื่อใช้ในการประชุมทางไกล เพื่อทำให้การรักษาสะดวกมากขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยขนาดพกพา อาทิ อุปกรณ์วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจและระดับออกซิเจน และจีพีเอสติดตามรถ เพื่อสร้างความสะดวกให้แพทย์ก่อนที่ผู้ป่วยจะถึงโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังเดินหน้าพางานวิจัยไทยสู่ระดับโลกคว้ารางวัล “เหรียญทอง” จาก The 16th International Invention Show INTARG@ 2023 ณ เมือง คาโตไวซ์ ประเทศสาธารณรัฐโปแลนด์
กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีรถพยาบาล หรือรถกู้ชีพอยู่ประมาณ 20,000 คัน ในจำนวนนี้มีเพียง 20% เป็นรถกู้ชีพที่มีเครื่องมือทางการแพทย์ขั้นสูง พร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยให้ทันท่วงที หรือ Advanced Life Support Ambulance (ALS) เนื่องจากรถพยาบาลแบบ ALS มีต้นทุนสูง ทำให้ในไทยจะมีรถกู้ชีพ ALS ใช้อยู่แค่เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น นอกจากนี้ รถกู้ชีพของไทยยังมีปัญหาด้านการสื่อสารกับแพทย์เฉพาะทางระหว่างนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กทปส. จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ โครงการรถกู้ชีพเก่งด้วยระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อใช้ในการช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออัปเกรดรถกู้ชีพที่มีอยู่ให้มีมาตรฐาน พร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากขึ้น
รศ. ดร.ชาญไชย ไทยเจียม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และหัวหน้าโครงการรถกู้ชีพเก่งด้วยระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อใช้ในการช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของโครงการฯ มาจากการเล็งเห็นว่าประเทศไทยยังมีรถกู้ชีพประเภท ALS ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้งาน ทำให้ผู้ป่วยที่ใช้รถกู้ชีพส่วนมากไม่มีการติดตามเก็บข้อมูลทางการแพทย์ตั้งแต่บริเวณจุดเกิดเหตุ รวมถึงไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ขั้นสูงที่จะช่วยดูแลผู้ป่วย จึงได้พัฒนาชุดอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยขนาดพกพาประเภทต่างๆ ขึ้น เพื่อนำไปเสริมให้รถกู้ชีพเดิมมีประสิทธิภาพการทำงานเทียบเท่ารถกู้ชีพประเภท ALS โดยไม่ต้องมีการดัดแปลงภายในตัวรถ และไม่ต้องเสียงบประมาณในการซื้อรถ ALS เพิ่มเติม เช่น
“แว่นตาอัจฉริยะเพื่อใช้ในการประชุมทางไกล” โดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบนรถกู้ชีพมักจะไม่ใช่แพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ทำให้ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางตั้งแต่บริเวณจุดเกิดเหตุจนไปถึงโรงพยาบาล ต้องมีการสื่อสารผ่านอุปกรณ์การสื่อสารประเภทต่าง ๆ ซึ่งหากเป็นโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่ต้องมีการถือด้วยมือ ทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยมือข้างเดียวเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพื่อลดช่องว่างในการสื่อสารจึงให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบนรถกู้ชีพสวมแว่นตาอัจฉริยะที่มีกล้องในตัว และมีไมค์ใช้พูดคุยที่ขาแว่น เพื่อใช้ในการสื่อสารกับแพทย์เฉพาะทาง ผ่านซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันที่ได้พัฒนาขึ้นและเชื่อมต่อได้ทั้งมือถือ พีซี หรือโน๊ตบุ๊ค ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบนรถกู้ชีพพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือผู้ป่วยได้เต็มที่ ในขณะเดียวกันแพทย์เฉพาะทางก็สามารถแนะนำวิธีการช่วยเหลือผ่านระบบที่เห็นจากกล้องได้อย่างชัดเจน
อุปกรณ์วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจและระดับออกซิเจน รวมถึงการติดตั้งจีพีเอสเพื่อให้ติดตามรถได้ ทำให้ทีมแพทย์ที่รอรับผู้ป่วยสามารถคาดการณ์เวลาที่จะมาถึงของรถกู้ชีพได้ และเตรียมพร้อมให้การรักษาแก่ผู้ป่วย และเพื่อทำให้การช่วยเหลือผู้ป่วยโดยรถกู้ชีพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทางด้านระบบบริหารจัดการ มีแอปพลิเคชันที่มีฟีเจอร์รองรับการทำงานของแพทย์ ทั้งระบบการลงทะเบียนจากบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต การสร้างคิวอาร์โค้ดเพื่อบันทึกข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยเมื่อถึงโรงพยาบาลก็นำข้อมูลมาสืบค้นบนฐานข้อมูลที่มีได้ การบันทึกข้อมูลจากอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยขนาดพกพาลงในแอปพลิเคชัน เมื่อข้อมูลต่างๆ ของผู้ป่วยอยู่บนฐานข้อมูลออนไลน์ แพทย์ก็สามารถเห็นข้อมูลของผู้ป่วยได้ก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาล ทำให้แพทย์สามารถเตรียมการรักษาผู้ป่วยจากข้อมูลที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที
“ปัจจุบันโครงการฯ ได้ส่งต่อรถกู้ชีพเก่ง หรือ Smart Ambulance เพื่อสร้างประโยชน์สาธารณะให้แก่โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลอุ้งผาง และโรงพยาบาลอื่นๆ สำหรับนำไปช่วยผู้ป่วยให้ทันท่วงที พร้อมทั้งเดินหน้าตั้งเป้าหมายในการต่อยอดเพื่อพัฒนา โดยลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่จริงในระดับอำเภอ และรวบรวมข้อมูลทางการแพทย์นำมาบูรณาการเชื่อมต่อร่วมกันในอนาคต สร้างให้เกิดบิ๊กดาต้าขึ้นเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ในการช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป โดยอยากให้สืบค้นจากฐานข้อมูลที่มีได้ว่า อาการแบบนี้ควรรักษาอย่างไร โรงพยาบาลใดรักษาได้บ้าง ควรส่งไปที่ไหนจึงทันต่อการรักษามากที่สุด สภาพการจราจรเป็นอย่างไรเหมาะแก่การเดินทางไปโรงพยาบาลใด รวมถึงผู้ป่วยมีสิทธิ์การรักษาอะไรบ้าง ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต หากข้อมูลทุกอย่างมีการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ”
รศ. ดร.ชาญไชย กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่โครงการฯ ได้รับคัดเลือกให้นำเสนองานกับทาง กทปส. และได้รับการพิจารณาสนับสนุนทุนวิจัย ถือเป็นโอกาสดีที่จะช่วยพัฒนาสิ่งที่เรามีอยู่แล้วอย่างรถกู้ชีพ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สร้างโอกาสในการเข้าถึงการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่อยู่บนรถกู้ชีพ ไปจนถึงปลายทางอย่างโรงพยาบาล อาจจะมีปัญหาติดขัดบ้างในช่วงที่เกิดโควิด-19 แต่การพัฒนา Smart Ambulance ก็เป็นไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงาน The 16th International Invention Show INTARG@ 2023 ในหัวข้อ A Smart Ambulance with Information System and Decision-Making Process for Enhancing Rescue Efficiency ณ เมืองคาโตไวซ์ ประเทศสาธารณรัฐโปแลนด์ และได้รับรางวัล "เหรียญทอง" มาครอบครอง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-554-1113 และ 02-554-1114 หรือติดตามความเคลื่อนไหวของ กทปส. ได้ที่ https://btfp.nbtc.go.th และ www.facebook.com/BTFPNEWS