25 ก.ค. 2566 400 0

ไบโอเทค สวทช. เผยผลการศึกษาเชิงนโยบายการปรับตัวระบบอาหารท้องถิ่น รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤตต่างๆ

ไบโอเทค สวทช. เผยผลการศึกษาเชิงนโยบายการปรับตัวระบบอาหารท้องถิ่น รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤตต่างๆ

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ ม.อุบลราชธานี และศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (IJC-FOODSEC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ไบโอเทค ม.ธรรมศาสตร์ และ Queen’s University Belfast ได้รับทุนวิจัยจาก Foreign Commonwealth & Development Office รัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมเผยแพร่การศึกษาในโครงการ “การสร้างความสามารถของระบบอาหารชุมชนในการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะช่วยเสริมสร้างระบบอาหารท้องถิ่นของไทยให้สามารถรับมือและปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤตต่าง ๆ อันจะสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศบนฐานความยั่งยืน โดยศึกษาใน 2 พื้นที่หลัก คือ เมือง/ชานเมือง (กทม. นนทบุรี และนครปฐม) และชนบท/พื้นที่เกษตรกรรม คือ อุบลราชธานี เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญและที่ผ่านมาเจอปัญหาน้ำท่วม พร้อมกันนี้ ยังเปิดเวทีระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำผลที่ได้เสนอต่อ “คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ” ต่อไป


ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า ระบบอาหารของไทยในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง ผนวกกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อาทิ วิกฤตทางเศรษฐกิจ การระบาดของโควิด-19 ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบทำให้ระบบอาหารของไทยมีความเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบอาหารท้องถิ่น ซึ่งผู้ที่อยู่ในระบบนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ที่ยังมีปัญหาในการเข้าถึงทรัพยากร แหล่งทุน องค์ความรู้ ที่จำเป็นสำหรับการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังนั้น Foreign, Commonwealth and Development Office (FCDO), South Asia Research Hub โดยความร่วมมือกับ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย จึงให้ทุนไบโอเทค สวทช. โดยฝ่ายศึกษานโยบายและความปลอดภัยทางชีวภาพ ร่วมกับ ม.อุบลราชธานี และศูนย์วิจัยนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหาร (IJC-FOODSEC) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ไบโอเทค ม.ธรรมศาสตร์ และ Queen’s University Belfast ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการ “Climate resilience of local or community food systems in Thailand” เพื่อเสริมสร้างความสามารถของระบบอาหารของท้องถิ่น ให้มีความสามารถในการรับมือและปรับตัวต่อวิกฤตต่าง ๆ โดยเฉพาะต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยอาศัยกลไกทางนโยบาย และความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารบนฐานของความยั่งยืน

“ผลจากการดำเนินโครงการครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักร ในการร่วมกันพัฒนาและใช้ประโยชน์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับระบบอาหารของไทยสู่ระบบอาหารที่มีความยั่งยืน สามารถบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs 2030 ในอนาคตอันใกล้นี้” ผอ.ไบโอเทค กล่าว


กุลวรางค์ สุวรรณศรี นักวิจัยนโยบาย งานวิจัยนโยบาย ฝ่ายศึกษานโยบายและความปลอดภัยทางชีวภาพ ไบโอเทค และหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของการศึกษาคือการเข้าใจบทบาทของเทคโนโลยี นวัตกรรม นโยบายและมาตรการ รวมถึงความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบอาหารท้องถิ่นที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงการศึกษาช่องว่างด้านนโยบาย โดยทีมมุ่งพัฒนากรอบนโยบายและกลยุทธ์การพัฒนาความสามารถของระบบอาหารท้องถิ่น ในการรับมือและปรับตัวเป็นระบบอาหารที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารและโภชนาการได้อย่างเท่าเทียม โดยจากข้อมูลดัชนีความมั่นคงอาหารโลก (Global Food Security Index: GFSI) ชี้ว่าโดยรวมประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารในระดับดี ในปี 2564 มีระดับคะแนนฉลี่ยอยู่ที่ 64.5 จาก 100 อย่างไรก็ดี ครัวเรือนไทยบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ยังมีปัญหาด้านโภชนาการ ได้รับสารอาหารที่ให้พลังงาน ธาตุอาหารในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ประกอบกับภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้งและน้ำท่วม ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงต่อระบบอาหารระดับท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงในการมีอาหารเพียงพอ การเข้าถึงอาหาร และคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดปัญหาสังคม เช่นความยากจน ถือเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานเพิ่มขึ้น 


นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นช่องว่างด้านนโยบายที่สำคัญในหัวข้อต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ประกอบด้วยในหลายด้าน เช่น ด้านความสามารถในการตั้งรับปรับตัว (resilience) ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของระบบอาหารประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยมีการจัดตั้งคณะกรรมการอาหารแห่งชาติเพื่อดำเนินการจัดการด้านอาหารในทุกมิติ แต่ยังขาดโครงสร้างและหน่วยงานในการขับเคลื่อนที่ชัดเจนในระดับท้องถิ่น ประเด็นเรื่องการสร้างความสามารถของระบบอาหารในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังไม่ได้ถูกบรรจุในแผนอาหารระดับจังหวัด อีกทั้งประเทศไทยยังไม่มีแผนระดับชาติและระดับท้องถิ่นในการจัดการความมั่นคงด้านอาหาร หรือเตรียมการรับมือกับภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น 


ด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ผลการศึกษาพบว่า งานวิจัยระดับพื้นที่ (area-based research) ซึ่งมีความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศไทย ยังไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร ในการจัดสรรทุนวิจัยด้านเกษตรและอาหาร นอกจากนี้งานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชอาหารที่ไม่ใช่ข้าวให้ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การคาดการณ์และเตือนภัยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังมีไม่เพียงพอและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเหล่านี้ต้องการการวิจัยพัฒนาที่เข้มข้นมากขึ้น


ส่วนประเด็นเรื่องการสร้างความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบอาหาร พบว่า ความรู้และความสามารถของเกษตรกรไทยยังเป็นปัญหาหลักของการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงคุ้นเคยกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม มีเพียงร้อยละ 10 ของเกษตรกรไทยที่สามารถปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และจากปัญหาอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้โอกาสของการเกิดความเสียหายและการเกิดเชื้อก่อโรคจากการจัดเก็บและขนส่งอาหารที่ไม่ดีพอเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้นระบบตรวจสอบย้อนกลับจึงเป็นประเด็นที่ผู้ค้าและตลาดต้องการยกระดับให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 

ด้านการสนับสนุนทางการเงิน ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร อีกทั้งยังมีการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green bond) รูปแบบต่าง ๆ โดยมีการสนับสนุนวงเงินนับจากปี 2563 กว่า 6,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางการเงินอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบอาหาร และระบบคุ้มครองทางสังคม ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม (Public Private Partnerships; PPPs) มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างความสามารถของระบบอาหารท้องถิ่นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภาคเอกชนและ NGOs แต่ทั้งนี้ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกลุ่มพืชที่ปลูกเพื่อการค้า (cash crop) เท่านั้น

“จากผลการศึกษาข้างต้น ทีมวิจัยได้ร่วมกันพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อยกระดับความสามารถในการตั้งรับปรับตัวของระบบอาหารท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาและใช้ประโยชน์ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีนโยบายเพื่อการรับมือและปรับตัวของระบบอาหารของประเทศไทยต่อวิกฤตต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องในระบบอาหาร ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม ในการร่วมกันขับเคลื่อนให้มีการดำเนินการขับเคลื่อนทั้งในเชิงนโยบายและปฏิบัติการต่อไป” กุลวรางค์ สุวรรณศรี กล่าวปิดท้าย