กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดกิจกรรม Digital Law สัญจร ครั้งที่ 1/2566 ให้ความรู้กฎหมายดิจิทัล ชู พ.ร.บ.คอมฯ ไม่กระทบสิทธิเสรีภาพ หากรู้เท่าทัน หวังกฎหมายใหม่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ และพ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ เข้าถึงประชาชน พร้อมเปิดรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีส่วนร่วม เกิดการรับรู้ ย้ำการบังคับใช้กฎหมายดิจิทัลเพื่อคุ้มครองประชาชน
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และกฎหมายตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ที่กระทรวงฯ เข้าไปเกี่ยวข้อง และอยู่ในความรับผิดชอบมีอยู่หลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม, พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562, พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 และพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เป็นต้น จึงได้มีการจัดกิจกรรม Digital Law สัญจร ครั้งที่ 1/2566 ขึ้น เพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคเอกชน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่ประชาชนให้ความสนใจและมีผลกระทบกับประชาชน รวมทั้งเสริมสร้างภาคส่วนต่าง ๆ ให้มีส่วนร่วมในการรับรู้การบังคับใช้กฎหมายเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรับฟังปัญหาปัญหาและข้อเสนอแนะต่อกฎหมายเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขให้เป็นประโยชน์และคุ้มครองประชาชนให้มากยิ่งขึ้น
สำหรับกฎหมายที่มักจะถูกหยิบโยงขึ้นมาในทุกกระแสบนโลกออนไลน์ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.บ.คอมฯ จึงเป็นตัวหลักในการให้ความรู้ และให้รู้เท่าทันกฎหมายดิจิทัล โดยมีความเป็นมา คือ การกระทำความผิดซึ่งกระทบต่อหลักพื้นฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ (Information Security) โดยมีพฤติกรรมเข้าข่ายลักษณะเฉพาะของอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ คือ ผู้กระทำความผิดอยู่ตรงไหนก็ได้ในโลก มีความเสียหายกระทบถึงคนจำนวนมากและรวดเร็ว มีการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนในการกระทำความผิด มีความ ยากต่อการตรวจพบร่องรอยการกระทำผิด และยากต่อการจับกุมและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ
อย่างไรก็ตาม ความผิดที่ประชาชนควรรู้ และต้องรู้เท่าทันในตัวกฎหมายนี้ และมีการดำเนินคดี ฟ้องร้อง กันอยู่ตลอด ของ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 ความผิดฐานนำเข้า/เผยแพร่ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ และมาตรา16 ความผิดฐาน สร้าง/ตัดต่อ/นำเข้า ภาพของผู้อื่น โดยผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทาง อิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือหากมีการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ อาจมีโทษจำคุกถึง 5 ปีได้
“แม้กฎหมายนี้จะมีบทลงโทษที่ชัดเจน แต่ก็จะมีวรรคหนึ่ง วรรคสอง ที่สามารถยอมความได้ ประชาชนจึงควรมีความรู้พื้นฐานในตัวกฎหมายนี้ เพื่อปกป้อง และป้องกันตัวเอง ไม่ให้เป็นผู้กระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือตกเป็นผู้ถูกกระทำ สรุปคือ ความผิดตามมาตรา 14 และ มาตรา 16 เฉพาะ ผู้อัพโหลด (Upload) เช่น การโพสต์ (Post) การกดแชร์ (Share) การกด Like เท่านั้นที่อยู่ในข่ายจะเป็นผู้กระทำความผิด ส่วนผู้ดาวน์โหลด (Download) หรือผู้อ่านไม่ผิด” ปลัดดีอีเอส กล่าว
นอกจากนี้ ในโครงการ Digital Law สัญจรในครั้งนี้ ยังได้มีการให้ความรู้เรื่องดิจิทัลอีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้บัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ กลไก หรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อแก้ปัญหาการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลในปัจจุบันที่มีเป็นจำนวนมากจนสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูล อีกทั้งปัญหาที่เกิดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่ทำให้การล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล โดยการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ทำได้โดยง่าย สะดวก และรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ขณะที่ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 บัญญัติขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ในการใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหลอกลวงประชาชนทั่วไปผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ จนทำให้ประชาชนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และผู้หลอกลวงได้โอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดดังกล่าวนั้นผ่านบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่นต่อไปเป็นทอด ๆ อย่างรวดเร็ว เพื่อปกปิดหรืออำพรางการกระทำความผิด ซึ่งแต่ละวันประชาชนผู้สุจริตถูกหลอกลวงจำนวนมากและมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก และการหลอกลวงดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
ด้าน ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ Digital Law สัญจร ครั้งที่ 1/2566 ว่า การดำเนินการจัดอบรม ในครั้งนี้มีวิทยากรจากกองกฎหมายและวิทยากรจากกองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้บรรยาย และอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมอบรม เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักการ สาระสำคัญ ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายในความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยครั้งนี้ได้จัดขึ้นที่จังหวัดชลบุรี และผลลัพธ์ที่ได้ในครั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ จึงมีแผนในการจัดกิจกรรม Digital Law สัญจร ในครั้งต่อ ๆ ไปให้ครบทุกภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนัก รู้เท่าทันกับภัยที่มาจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้วย