รายได้ที่สูงเป็นประวัติการณ์พร้อมผลกำไรที่แข็งแกร่ง เป็นพื้นฐานให้แอลจีสามารถสร้างการเติบโตในระยะกลางถึงระยะยาวผ่านการเดินหน้าขยายพอร์ทโฟลิโอด้านธุรกิจ
แอลจี อีเลคทรอนิคส์ ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 โดยมีรายได้รวมจำนวน 20 ล้านล้านวอน (ประมาณ 5.38 แสนล้านบาท) และกำไรจากการดำเนินงาน 741.9 แสนล้านวอน (ประมาณ 1.99 หมื่นล้านบาท)
ผลประกอบการในไตรมาสนี้ ถือเป็นรายได้ไตรมาสที่ 2 ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ซึ่งตอกย้ำถึงความสำเร็จของกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสร้างความแข็งแกร่งในด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจ และยังสะท้อนถึงการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจตั้งแต่ระดับพื้นฐาน โดยเริ่มดำเนินธุรกิจใหม่คือบริการบนแพลตฟอร์ม และเดินหน้าขยายธุรกิจฝั่ง B2B อย่างต่อเนื่อง ด้านผลกำไรก็อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ถึงแม้ว่ารายได้จากการดำเนินงานในไตรมาสนี้จะน้อยกว่ารายได้ของไตรมาสที่ 2 เมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ 6.3% ก็ตาม โดยสาเหตุหลักมาจากการตั้งงบสำรองจ่ายครั้งเดียว (one-time provision) ในไตรมาสที่ 2
แอลจีมีแผนจะสร้างผลกำไรให้มากขึ้นโดยการเสริมประสิทธิภาพการทำงานอย่างสูงสุด และการเตรียมพร้อมเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในอนาคต ด้วยการคาดการณ์แนวโน้มตลาดให้ดียิ่งขึ้น และเสริมการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ แอลจียังมีแผนอย่างต่อเนื่องที่จะพัฒนาร้านค้าออนไลน์ของตนเองและขายสินค้าให้ผู้บริโภคโดยตรงอีกด้วย
กลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและโซลูชันเครื่องปรับอากาศ มีรายได้ในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 7.99 ล้านล้านวอน (ประมาณ 2.15 แสนล้านบาท) และมีกำไรจากการดำเนินงาน 600.1 พันล้านวอน (ประมาณ 1.61 หมื่นล้านบาท) แม้ว่าสถานการณ์ในตลาดจะมีการแข่งขันสูง แต่กลุ่มธุรกิจนี้ก็สามารถสร้างกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมียอดขายที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการสูง เช่น เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์ที่มาพร้อมปั๊มความร้อนที่มีประสิทธิภาพ โดยผลกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงการจัดการโครงสร้างต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แอลจีจะต่อยอดนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงของบริษัท ซึ่งรวมถึงปั๊มความร้อน และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) ให้มากขึ้น เนื่องจากความต้องการเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมมีการเติบโตขึ้นทั้งในยุโรป อเมริกาเหนือ และทั่วโลก ในขณะเดียวกัน แอลจียังเห็นเทรนด์ของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นโอกาศในการเติบโตสำหรับธุรกิจระบบปรับอากาศ HVAC อีกด้วย โดยในไตรมาสที่ 3 แอลจีจะเปิดตัวเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่มีระบบ LG ThinQ UP 2.0 ซึ่งมาพร้อมเทคโนโลยีที่ตอบสนองการใช้งานของแต่ละบุคคลขั้นสูง (Hyper-personalization) และรองรับระบบสมัครสมาชิก และบริการต่างๆ นอกจากนี้บริษัทจะขยายกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อผู้บริโภคในวงกว้างเพื่อตอบโจทย์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป แอลจีตั้งใจจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ด้วยการผสานโมเดลธุรกิจบริการเข้ากับผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างและแข่งขันได้ พร้อมกับเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การจัดซื้อ และโลจิสติกส์เพื่อการสร้างผลกำไรอย่างมั่นคง
กลุ่มธุรกิจโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ มีผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ที่ 3.15 ล้านล้านวอน (ประมาณ 8.47 หมื่นล้านบาท) และมีผลกำไรจากการดำเนินงาน 123.6 แสนล้านวอน (ประมาณ 3.32 พันล้านบาท) เนื่องจากยังคงมีความท้าทายจากการชะลอตัวของตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกสำหรับผู้บริโภคทั่วโลก บริษัทจึงเดินหน้าให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและผลกำไรด้วยการขยายธุรกิจคอนเทนต์และบริการบนแพลตฟอร์ม webOS ของแอลจีสมาร์ททีวี โดยบริษัทตั้งใจที่จะเปลี่ยนผ่านพอร์ทโฟลิโอของธุรกิจทีวีไปเป็น “ผู้ให้บริการสื่อและความบันเทิง” ด้วยการขยายคอนเทนต์ บริการ และโฆษณาในผลิตภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้กลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ยังตั้งใจที่จะเสริมความเป็นผู้นำในตลาดทีวีจอใหญ่พิเศษ ด้วยการเปิดตัวทีวี LG SIGNATURE OLED M ขนาด 97 นิ้ว ซึ่งเป็น “ทีวีไร้สาย” ที่มาพร้อมเทคโนโลยี Zero Connect รุ่นแรกของโลก นอกจากนี้ ยอดขายที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มไลฟ์สไตล์ทีวีที่กำลังได้รับความนิยม ยังช่วยสร้างการเติบโตให้กับแอลจีในตลาดทีวีระดับพรีเมียม
กลุ่มธุรกิจโซลูชันชิ้นส่วนยานยนต์ ทำยอดขายในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ที่ 2.66 ล้านล้านวอน (ประมาณ 7.16 หมื่นล้านบาท) นับเป็นรายได้ในไตรมาสที่ 2 ที่สูงเป็นประวัติการณ์ของบริษัท ส่วนผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ 89.8 หมื่นล้านวอน (ประมาณ 2.42 พันล้านบาท) โดยไม่นับรวมค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ อาทิ การตั้งงบสำรองจ่ายรายครั้ง ซึ่งทำให้บริษัทสามารถทำสถิติผลกำไรจากการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ที่สูงที่สุดในแง่ผลประกอบการทางธุรกิจ แต่หากนับรวมค่าใช้จ่ายจำนวน 1.51 แสนล้านวอน (หรือประมาณ 4.06 พันล้านบาท) ที่จากการตั้งงบสำรองจ่ายครั้งเดียว ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณีการเรียกคืนรถยนต์ไฟฟ้า Chevy Bolt EV ของ General Motor จะทำให้ผลกำไรจากการดำเนินงานกลายเป็นติดลบจำนวน 61.2 พันล้านวอน (หรือประมาณ 1.65 พันล้านบาท) การจ่ายเงินสำรองในครั้งนี้ยังสะท้อนต้นทุนด้านวัสดุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
โดยกลุ่มธุรกิจโซลูชันชิ้นส่วนยานยนต์จะเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งขยายธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มและมีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้บริษัทยังมีรายได้ที่รอการรับรู้ซึ่งคาดว่ามีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านล้านวอน (หรือประมาณ 2.69 ล้านล้านบาท) ภายในสิ้นปี ซึ่งจะแปลงเป็นยอดขายในลำดับต่อไปและส่งผลให้บริษัทมีกำไรที่เติบโต ในด้านความสามารถในการทำกำไรก็มีแนวโน้มเป็นบวก เนื่องจากต้นทุนต่อชิ้นที่ลดลงจากการผลิตจำนวนมาก (economies of scale) ซึ่งเป็นผลมาจากสินค้าที่ขายได้มากขึ้น แอลจีคาดว่าความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต บริษัทจึงจะมุ่งแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในตลาดนี้ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ โซลูชันซอฟต์แวร์ และคอนเทนต์ ในขณะเดียวกันก็จะรักษาความสามารถในการทำกำไรอย่างมั่นคง ด้วยการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าและมีประสิทธิภาพสูง เพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้แก่ลูกค้ายานยนต์รายสำคัญทั่วโลก
กลุ่มธุรกิจโซลูชันสำหรับองค์กร มีรายได้ในไตรมาสที่ 2 ที่ 1.33 ล้านล้านวอน (ประมาณ 3.58 หมื่นล้านบาท) โดยมีผลกำไรจากการดำเนินงาน 2.6 พันล้านวอน (ประมาณ 69.94 ล้านบาท) โดยทั้งรายได้และกำไรจากการดำเนินงานลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการสินค้าไอทีลดลงอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสที่ 3 คาดการณ์ว่าสินค้าไอทีจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก ในสถานการณ์เช่นนี้ แอลจีมีแผนที่จะขยายการจำหน่ายจอมอนิเตอร์และแลปท็อปที่มีฟีเจอร์สำหรับเกม รวมทั้งจอแสดงผล OLED ในส่วนของธุรกิจจอแสดงผลเชิงพาณิชย์ แอลจีแสวงหาโอกาสในการเติบโตด้วยการนำเสนอโซลูชันที่เหมาะสำหรับธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม นับตั้งแต่โรงแรม โรงพยาบาล ไปจนถึงการศึกษา ธุรกิจค้าปลีก และองค์กรต่างๆ