7 ส.ค. 2566 738 1

ETDA ประกาศผลการแข่งขัน Boosting Craft Idea ทีมตัวตึง spu จาก ม.ศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศ สุดยอดโมเดลแผนธุรกิจอีคอมเมิร์ซชุมชน ประจำปี 66

ETDA ประกาศผลการแข่งขัน Boosting Craft Idea ทีมตัวตึง spu จาก ม.ศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศ สุดยอดโมเดลแผนธุรกิจอีคอมเมิร์ซชุมชน ประจำปี 66

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ Final Pitching กับกิจกรรม “Boosting Craft Idea รวมพล คนดิจิทัล ระเบิดไอเดีย  เพื่อสังคม” ณ ชั้น 6 ห้องออดิทอเรียม ทรูดิจิทัล พาร์ค เพื่อเฟ้นหาสุดยอดโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซชุมชน ที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางดิจิทัล (Digital Commerce) ไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชนของไทย จากการแข่งขันสุดเข้มข้น ในที่สุด ทีมตัวตึง spu จาก มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี เจ้าของผลงานเจ้าของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบครบวงจร คว้ารางวัลชนะเลิศ อันดับ1


ทีมตัวตึง spu จาก มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี

มีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีความสามารถในการทำธุรกรรมออนไลน์อย่างมีคุณภาพ เกิดการสร้างรายได้และโอกาสที่ดี  ผ่านการให้ความรู้ ตลอดจนการพัฒนาทักษะ        ในรูปแบบต่างๆ ครอบคลุมในภาคส่วนสำคัญทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และชุมชน คือหนึ่งในภารกิจที่ ETDA ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตโดยใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือมากขึ้น ได้กลายเป็นตัวเร่งให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งปรับตัวทั้งการทำงานและการให้บริการปรับเปลี่ยนไปด้วย หลายธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นสิ่งสะท้อนว่าในปัจจุบันโมเดลธุรกิจแบบออฟไลน์เพียงอย่างเดียวไม่อาจตอบโจทย์ได้เพียงพอที่จะนำพาธุรกิจให้อยู่รอด การมีโมเดลธุรกิจที่พาสินค้าและบริการขึ้นไปขายบนโลกออนไลน์จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการหลายคนให้ความสำคัญโดยเฉพาะสินค้าและบริการในชุมชนที่ต้องการแผนธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงเพื่อสร้างโอกาสและรายได้ สำหรับ 12 ทีมที่ได้ผ่านเข้ามาสู่รอบ Final นี้ ถือว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ได้รับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลโดยเฉพาะทางด้าน Digital Commerce ซึ่งมีโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ ที่จะสามารถนำไปต่อยอดให้กับชุมชนในพื้นที่ของตนได้ ซึ่งในปีนี้เป็นปีแรกที่เราจะผลักดันให้เป็นโมเดลที่ผนวกการดำเนินงานในแนวคิดแบบยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยจะเพิ่มการต่อยอดผลักดันให้ทั้งผู้เข้าแข่งขันและชุมชนก้าวไปสู่การเป็นกิจการเพื่อสังคม หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ได้ต่อไป


ETDA ได้ดำเนินโครงการ ETDA Local Digital Coach หรือ ELDC ที่มุ่งพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) ให้มีความรู้และทักษะดิจิทัล รวมถึงการทำ e-Commerce ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่ง กลุ่มเป้าหมายของ ELDC จะเป็นนักเรียน นักศึกษา บัณฑิตที่เพิ่งจบใหม่ ประชาชนที่สนใจ กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาทักษะจนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับชุมชน ด้วยการลงพื้นที่ชุมชนโดยตรง สำรวจเก็บข้อมูล และร่วมพัฒนาสินค้าชุมชน     จนสามารถพัฒนาเป็น Business model ให้กับชุมชนนั้น ๆ ขยายผลให้ชุมชนนำแผนไปต่อยอด เพิ่มช่องทางออนไลน์ เพื่อให้มียอดขายเพิ่มขึ้น  โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ของทุกปี ทาง ELDC ได้จัดเวทีให้ทางโค้ชดิจิทัลชุมชนได้มีโอกาสมาแข่งขันนำเสนอแผนธุรกิจออนไลน์เพื่อยกระดับชุมชน (Local Business Pitching) ซึ่งปีนี้มาในหัวข้อ “Craft Idea 3 คั้นโค้ช คัดคนคุณภาพ เฟ้นไอเดีย ธุรกิจชุมชนออนไลน์” โดยจากการเปิดรับสมัครและได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยใน 4 ภูมิภาค เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, มหาวิทยาลัยพายัพ,  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น ในการจัดแข่งรอบคัดเลือกอย่างเข้มข้นในรอบภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา ทำให้วันนี้เราได้ 12 ทีมสุดท้ายจากทั่วประเทศ ซึ่งจะมาประลองไอเดียกันอย่างเข้มข้น  เพื่อเฟ้นหาสุดยอดโมเดลแผนธุรกิจ อีคอมเมิร์ซชุมชน ในรอบชิงชนะเลิศ (Final Pitching) ในงาน “Boosting Craft Idea รวมพล คนดิจิทัล ระเบิดไอเดียเพื่อสังคม”  ที่จัดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ดังนี้ 1. ทีม TTU Lunna 2. ทีมชบาแก้ว 3. ทีม Nash 4. ทีม Kazue 5. ทีม Focus 6. ทีม 31 7. ทีมตัวตึง SPU 8. ทีมก้าวหน้าก้าวใจ  9. ทีม Youth Power 10. ทีมเด็ก.ชอบ.ชล 11 .ทีม The Winner และ 12. ทีม Baan Saijai


สำหรับรอบชิงชนะเลิศ ทุกทีมที่ผ่านเข้ารอบจะต้องเข้าสู่การแข่งขันในรูปแบบ Pitching ภายใต้โจทย์การแข่งขัน “ธุรกิจออนไลน์..พาชุมชน สร้างคุณค่า สู่ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)” ได้มีโอกาสนำเสนอแผนไอเดียธุรกิจที่ได้พัฒนาขึ้นมาเสนอต่อเหล่าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ มณฑิชา สุขจันทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย, อัจฉราพร หมุดระเด่น ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ETDA, วรุตม์สุรางค์ ธรรมอารี ผู้จัดการฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ณัฐวดี กุลคีรีรัตนา Lead Trainer โครงการ Meta Boost และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาธุรกิจมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย, วศุตม์พล ชฏาธรสุธาสิน Business Strategist, Startup and Acceleration Coach และ Senior Instructor - SCG Learning Excellence Center และ ธนาวุฒิ ศุภางคะรัตน์ หัวหน้าส่วน ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) โดยทุกทีมมีเวลาในการนำเสนอแนวคิดและผลงานทีมละ 8 นาที ก่อนเข้าสู่ช่วงตอบคำถามสุดท้าทายจากคณะกรรมการ ทีมละ 5 นาที

สำหรับเกณฑ์ในการแข่งขันจะครอบคลุมทั้งในประเด็นความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ (Business Model) ความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่น แนวทางการทำการตลาดดิจิทัลตลอดจนการเลือกใช้เครื่องมือในการโปรโมทหรือสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย ที่มุ่งเน้นให้สามารถนำไปต่อยอดกับชุมชนได้จริง นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญของการพิจารณาคือการมีแผนธุรกิจที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม หรือนำไปสู่การร่วมแก้ไขปัญหาสังคมได้ (Social Enterprise) ที่ถือเป็นอีกหนึ่งเกณฑ์ที่เพิ่มเติมมาสำหรับปีนี้เป็นปีแรก ซึ่งหลังจากที่คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาและลงคะแนนตัดสินในที่สุด เราก็ได้ทีมที่ได้รับ รางวัลชนะเลิศ “Boosting Craft Idea รวมพล คนดิจิทัล ระเบิดไอเดีย เพื่อสังคม” ได้แก่ ทีมตัวตึง spu จาก มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี เจ้าของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบครบวงจร ของชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม The Winner จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เจ้าของแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ “กาแฟเขาวังชิง”ภายใต้แนว “จากต้นสู่แก้ว” รับเงินรางวัล 50,000 บาทพร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร, รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม TTU Lanna จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เจ้าของแผน TTU Umbrella ร่มล้านนาผ้ามัดย้อมจากใบชา ที่เข้ามาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนชาและสมุนไพรบ้านเด่นหลวง  และวิสาหกิจชุมชนโคมลอยบ้านหนองโค้ง  จ.เชียงใหม่ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการมอบโล่รางวัลให้แก่ทีมชนะเลิศจากอีกกิจกรรมที่มีการจัดไปแล้วก่อนหน้านี้ นั่นคือ กิจกรรม EDC Pitching “Digital in Hand จุดแคมเปญ เค้นไอเดีย ศิลปะป้องกันตัวจากภัยออนไลน์” ที่เพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมาด้วย เพื่อเป็นการร่วมฉลองความสำเร็จให้กับกิจกรรมดีๆ ไปด้วยกัน โดยกิจกรรมในปีนี้ถือว่าได้รับการตอบรับจากนักศึกษา คนรุ่นใหม่ที่สนใจจำนวนมาก รวมถึงได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการร่วมจัดงานไม่ว่าจะเป็น มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รวมถึงความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยใน 4 ภูมิภาคข้างต้น ซึ่ง ETDA เห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนไทยได้จริง โดยในปีต่อๆ ไป ETDA ได้วางแผนในการขยายโอกาส  ต่อยอดแผนธุรกิจเพื่อการขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการติดตาม Impact ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนซึ่งจะช่วยสะท้อนมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ทั้งนี้ ติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวของโครงการ “Boosting Craft Idea รวมพล คนดิจิทัล ระเบิดไอเดีย เพื่อสังคม” ได้ที่เฟซบุ๊ก ETDA Thailand


ภาพมอบโล่รางวัลให้แก่ทีมชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 รองชนะเลิศอันดับ 2 จากกิจกรรม EDC Pitching “Digital in Hand จุดแคมเปญ เค้นไอเดีย ศิลปะป้องกันตัวจากภัยออนไลน์”