15 ส.ค. 2566 651 25

สกมช. จับมือ สอท. จัดงาน Anti-Fraud Telecom Workshop สร้างความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์

สกมช. จับมือ สอท. จัดงาน Anti-Fraud Telecom Workshop สร้างความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์

สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จัดงาน Anti-Fraud Telecom Workshop เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ (Chief Information Officer: CIO) ผู้บริหารความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Chief Information Security Officer - CISO) และผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ จากหน่วยงานหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศทั้งรัฐและเอกชน


พลตำรวจโท วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และกล่าวว่า “จากสถิติการหลอกลวงออนไลน์ ที่ได้รับแจ้งมีจำนวนกว่า 314,000 กรณี ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 39 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่คนไทยถูกหลอกวันละ 80 ล้านบาท ดังนั้น ในวันนี้ จึงเป็นการดีที่เราได้มีกิจกรรม Anti-Fraud Telecom Workshop ให้เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการช่วยกันป้องกัน แก้ไขปัญหาดังกล่าว”


พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ว่า “การจัดงานในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการกับเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่าง ๆ การกำหนดปัจจัยสำคัญในการเตรียมการเพื่อรับมือและตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ แหล่งที่มาของภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมถึงการเปรียบเทียบและวิเคราะห์วิธีการรับมือและตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ”


ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และพลตำรวจตรี นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เสวนาร่วมกันในหัวข้อ “ความร่วมมือในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหา Telecom Fraud” ซึ่งได้กล่าวถึงปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มิจฉาชีพใช้ระบบโทรคมนาคมเป็นช่องทางกในการกระทำความผิด และความท้าทายในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขเพื่อลดเหตุการณ์ False-base Station ที่พบในไทย ผ่าน SMS Phishing มีสาเหตุมาจากจุดอ่อนของสัญญาน 2G ของเครือข่ายในระบบ GSM ซึ่งยังคงมีการใช้งานกันอยู่อย่างแพร่หลาย