เอ็นไอเอ พาเปิดโปรไฟล์ไทยแลนด์ปี 2023 กับจุดแข็งด้านการจัดตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ “จุดหมายปลายทางสำคัญ” แจ้งเกิดสตาร์ทอัพไทย – ต่างชาติ พร้อมโอกาสเติบโต
หลายปีที่ผ่านมา “สตาร์ทอัพ” ถูกกำหนดเป็นแผนสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับชาติ มีการผลักดันกฎหมาย และสิทธิประโยชน์ให้เอื้อต่อผู้ทำธุรกิจ อีกทั้งยังได้เห็นนวัตกรรมที่เกิดจากสตาร์ทอัพที่มีความสามารถในหลากหลายแขนง สิ่งที่น่าสนใจในอีกมิติหนึ่งคือการสยายปีกของกลุ่มยูนิคอร์นที่ไม่ว่าจะเป็นแฟลชเอ็กเพรส ไลน์แมนวงใน หรือ แอสเซนด์ที่สามารถระดมทุนได้หลายพันล้านบาท นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งแลนด์มาร์คสำคัญที่เหมาะแก่การจัดตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยจุดแข็งที่เอื้อและตอบโจทย์ทิศทางการลงทุนใหม่ของโลก ทั้งการมีโลเคชันที่อยู่ใจกลางภูมิภาค ใกล้ตลาดใหญ่อย่างอาเซียน ประเทศจีน และประเทศอินเดีย ทำให้สตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจในไทยสามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ได้หลากหลาย ในขณะเดียวกันยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งค่าครองชีพ ไลฟ์สไตล์ การสนับสนุนจากภาครัฐในหลากหลายมิติที่จะช่วยผลักดันให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพหน้าใหม่ โดยมีไฮไลต์ที่น่าสนใจ ดังนี้
ไทยแลนด์เมืองสตาร์ทอัพติดอันดับโลก
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยถึง ผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลก ประจำปี 2566 (Global Startup Ecosystem Index 2023) โดย StartupBlink ศูนย์กลางข้อมูลด้านระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ครอบคลุมทั่วโลก ได้มีการจัดอับดับ 100 ประเทศ และ 1,000 เมืองที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุด โดยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 52 ของโลก ขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1 อันดับ ในขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 74 ของโลก จาก 1,000 เมืองที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุด โดยขยับขึ้นมามากถึง 25 อันดับ แซงหน้าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และยังมีเชียงใหม่ ภูเก็ต และพัทยา ที่ติดท็อป 1,000 เมืองที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุด พ่วงด้วยความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมการขนส่งที่รั้งอันดับ 43 ของโลก สะท้อนให้เห็นถึงระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพของไทยที่เติบโตขึ้น
โตได้ไม่หยุด มียักษ์ใหญ่พร้อมซัพพอร์ต
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ขาดไม่ได้ คือ เงินทุน ซึ่งไทยมีบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากพร้อมเป็น Corporate Venture Capital (CVC) ที่เน้นลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเสริมแกร่งด้านกลยุทธ์ และความสามารถในการแข่งขันของบริษัทแม่ เช่น SCB 10X หนึ่งในกลุ่มธนาคารแห่งแรกๆ ที่ปรับตัวตามสถานการณ์ที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยมีเป้าหมายในการเป็น VC ชั้นนำระดับประเทศ และระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมผลักดันให้เกิดการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ และผลักดันไปสู่ระดับยูนิคอร์น AddVentures by SCG ที่มุ่งค้นหานวัตกรรมจากสตาร์ทอัพทั่วโลกมาเสริมประสิทธิภาพของ SCG ผ่านการเสาะหานวัตกรรมมาใช้และการพัฒนาให้เกิดธุรกิจใหม่ Krungsri Finnovate ที่เดินหน้าสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านฟินเทคและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้านการธนาคารทั้งในประเทศไทย และระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีเป้าหมายปั้นสตาร์ทอัพให้ขึ้นแท่นยูนิคอร์นให้ได้มากที่สุด และมุ่งสร้างระบบนิเวศของเศรษฐกิจไทยและภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีความยั่งยืน อีกทั้งยังมีกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation-Based Enterprise Development Fund; TED Fund) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่สนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายใหม่ ให้สามารถดำเนินธุรกิจบนฐานขององค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมเป็นตัวเร่งในการเพิ่มปริมาณการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้าและยั่งยืน
นโยบายรัฐพร้อมเร่งเครื่องรัฐสตาร์ทอัพให้แข็งแกร่ง
หลายหน่วยงานภาครัฐพร้อมสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ทั้งตลาดในและต่างประเทศ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ในฐานะ “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)" และอำนวยความสะดวกให้ระบบนิเวศนวัตกรรมเอื้อต่อศักยภาพการทำงาน ผ่านการส่งเสริมทั้งเงินทุนและองค์ความรู้ในการสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่มุ่งเน้นใน 5 สาขา ได้แก่ เกษตร อาหาร การแพทย์ ท่องเที่ยว และซอฟต์พาวเวอร์ และยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นสะพานเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อผลักดันไทยสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรอีกหลายหน่วยงานทั้งที่อยู่ภายใต้กระทรวง อว. และหน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ฯลฯ
Big Campaign ตอกย้ำไทยให้เป็นพื้นที่น่าลงทุน
ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจที่ส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีเมกะโปรเจกต์ที่ รองรับการเติบโตและการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมของสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็น BCG Model ที่รัฐบาลใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และเพิ่มศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาใน 2 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ 1) การพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) ที่มีอยู่แล้วในประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตระยะสั้นและระยะกลาง ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ท่องเที่ยวระดับคุณภาพ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอาหารมูลค่าเพิ่มสูง และ 2) การพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ที่สนับสนุนให้เกิดเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า โดยตั้งเป้าให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบิน ดิจิทัล การแพทย์ครบวงจร และเชื้อเพลิงคุณภาพและเคมีชีวภาพ นอกจากนี้ ยังมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมทันสมัยใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งมีภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมรองรับสตาร์ทอัพได้อีกจำนวนมาก
เรียกได้ว่าการเกิดขึ้นและเติบโตของสตาร์ทอัพในเมืองไทยยังคงมีโอกาสอย่างต่อเนื่อง ด้วยหลากหลายปัจจัยทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่พร้อมใจยกระดับระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อโมเดลธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้เร็ว รวมถึงเมืองต่าง ๆ ที่มีความโดดเด่นด้านไลฟ์ไสตล์และภูมิศาสตร์ที่รอต้อนรับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ