ชัยวุฒิ นำทีมกระทรวงดีอีเอส แถลงข่าวพร้อมยื่นศาล ปิด Facebook สิ้นเดือนนี้ เร่งสกัดมิจฉาชีพหลอกลงทุน อ้างตลาดหลักทรัพย์-ก.ล.ต. ระบาดบนสื่อออนไลน์ หวั่นเป็นภัยต่อความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศ
(21 สิงหาคม 2566) ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธวัชชัย พิทยโสภณ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และพลตำรวจตรี ฐายุฏฐ์ จันทร์ถาวร รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยภาคเอกชน เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการซื้อโฆษณาผ่าน Facebook หลอกประชาชนลงทุน รวมถึงการชักชวนลงทุน โดยแอบอ้างใช้ชื่อบริษัทจดทะเบียน และสัญลักษณ์ของ ก.ล.ต. โดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น ก.ล.ต. หรือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนเทรดทองเริ่มต้น 1,999 บาท พร้อมระบุว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลและได้กำไรร้อยละ 15-30 ต่อวัน หรือลงทุนผ่านบริษัท หรือบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่มีลักษณะข้อความเชิญชวนลงทุนมีผลกำไรสูงให้ผลตอบแทนในลักษณะเป็นรายสัปดาห์
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ขอเรียนว่า ก.ล.ต.หรือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีเสนอการลงทุนดังกล่าว หากพบเป็นข้อมูลปลอมที่มีการแอบอ้างชื่อ
และตราสัญลักษณ์ของ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงข่าวสารต่างๆ ที่เผยแพร่นั้น เป็นข่าวปลอมทั้งสิ้น
เพื่อต้องการหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อและร่วมลงทุนตามคำแนะนำของเพจต่างๆ ไปแล้วจะไม่ได้รับเงินคืน
ทั้งในส่วนของค่าตอบแทนหรือเงินต้น
ปัจจุบัน โจรไซเบอร์ มีกลวิธีต่างๆ ให้หลงเชื่อและโอนเงินออกจากบัญชี ด้วยกลวิธีปรับเพิ่มกลไกลใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การเทรดเหรียญดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์, ลงทุนเกี่ยวกับเหรียญคริปโต, ลงทุนกับบริษัทปล่อยเงินกู้ผลตอบแทนสูง, ลงทุนหุ้นทอง, ร่วมลงทุนประมูลสินค้าเพื่อรับผลตอบแทนสูง, ลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศ, และลงทุนหุ้นในเครือบริษัทชื่อดัง นอกจากนี้ โจรออนไลน์มักปลอมโปรไฟล์เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเรื่องการเงินการลงทุนเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการหลอกลวง และเข้าหาผู้เสียหายผ่านการแฝงตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มสังคมออนไลน์ของผู้ที่สนใจด้านการลงทุน โดยทางกระทรวงฯ ได้มีการส่งหนังสือขอให้บริษัท meta หรือ FB ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมีการซื้อขายโฆษณาบนแพลต์ฟอร์ม FB และส่งข้อมูลให้ FB ทำการปิดกั้นโฆษณาหลอกลวงไปแล้วกว่า 5301 โฆษณา/เพจปลอม อีกด้วย
“ดีอีเอส อยู่ระหว่างการเรียบเรียงหลักฐานจากผู้กระทำความผิดบนแพลตฟอร์มเฟสบุ๊คเพื่อส่งศาลให้มีการปิดเฟสบุ๊คภายในสิ้นเดือนนี้และขอให้ศาลสั่งปิดเฟสบุ๊คภาคใน 7 วัน โดยการกระทำผิดของเฟสบุ๊ค เนื่องจากเฟสบุ๊ค ได้รับการโฆษณาจากผู้กระทำความผิดมิจฉาชีพในการลงโฆษณา และหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อในการลงทุนและซื้อสินค้าผ่านเฟสบุ๊ค เมื่อลูกค้าหลงเชื่อและชำระค่าสินค้าแล้วได้สินค้าไม่ตรงปก ที่ผ่านมามีผู้เสียหายจำนวนมากกว่า 200,000 รายหรือประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์จาก 300,000 ราย มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 10,000 ล้านบาท ถ้าเฟสบุ๊คไม่ช่วยเหลือประเทศไทย ถ้าเขาอยากทำธุรกิจในประเทศไทย เขาต้องแสดงความรับผิดชอบกับสังคมไทย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงได้คุยกับเฟสบุ๊คตลอดเวลา แต่กลับไม่สกรีนผู้มาลงโฆษณาทำให้ประชาชนชาวไทยได้รับความเสียหายมากกว่า 100,000 ล้านบาท” ชัยวุฒิ กล่าว
ขอเตือนพี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อการชักชวนลงทุนทางสื่อสังคมออนไลน์ใดๆ
ทั้งสิ้น และขอให้พี่น้องประชาชนตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่มีการกล่าวอ้างถึงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ก่อนเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลดังกล่าวในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เพื่อป้องกันการเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตว่าข้อความการเชิญชวนลงทุนเหล่านั้น จะใช่มิจฉาชีพหรือไม่
มีรูปแบบดังนี้
1. ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้น
ๆ ส่วนมากมิจฉาชีพมักจะมีการโฆษณาชักชวนโดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงเกินจริง
โดยใช้เวลาลงทุนไม่นานและง่ายดาย
เป็นอีกรูปแบบที่ทำให้มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมากเพราะคาดหวังในผลตอบแทนดังกล่าว
เช่น เงินลงทุน 10,000 บาท ระยะเวลา 15
วัน จะได้รับกำไร 50%
2. การันตีผลตอบแทน
โดยกำหนดเป็นตัวเลขที่แน่นอน เช่น 30% ต่อสัปดาห์
หรือการการันตีว่าจะได้รับผลตอบแทนแน่นอน
หากลงทุนไม่เป็นก็มีผู้เชี่ยวชาญคอยลงทุนให้
3. อ้างชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง
หรือมีการนำภาพของดารา ศิลปิน หรือนักธุรกิจชื่อดังต่าง ๆ
มาแอบอ้างว่าบุคคลเหล่านั้นก็ร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการลงทุน
4. ไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้
หากมีการชักชวนให้ร่วมลงทุนแต่ไม่มีสินค้า ไม่มีแผนธุรกิจ
หรืออ้างว่าแพลตฟอร์มอยู่ต่างประเทศ ทำให้ตรวจสอบข้อมูลการเงินไม่ได้
ก็เข้าข่ายว่าอาจจะเป็นมิจฉาชีพได้
5. ให้รีบตัดสินใจลงทุน โดยมักจะเสนอสิทธิพิเศษเฉพาะช่วงเวลาเหล่านั้นให้ เช่น หากไม่ลงทุนตอนนี้จะพลาดโอกาสที่ได้ผลตอบแทนดี ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เรารีบตัดสินใจลงทุน”
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14 ส่วนความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.66 เพื่อช่วยดูแลคุ้มครองผู้ถูกหลอกลวง ช่วยระงับยับยั้งการโอนเงินและติดตามเงินคืนได้ทันมากขึ้นโดยเจ้าของบัญชีม้าหรือเบอร์ม้า จะมีโทษทางอาญาหนัก จำคุก 3 ปี หรือ ปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่ได้เป็นธุระจัดหา โฆษณา ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หมายเลขโทรศัพท์ก็มีโทษอาญาหนักเช่นกัน คือ จำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับ สถิติคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก่อน พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมไซเบอร์ ( 1 ม.ค.- 16 มี.ค. 66) เฉลี่ย 790 เรื่องต่อวัน ส่วนหลังมี พ.ร.ก. (17 มี.ค.- 31 ก.ค.66) เกิดรวม 80,405 คดี เฉลี่ย 591 คดีต่อวัน สถิติการเกิดคดีลดลงเฉลี่ย 199 คดี/วัน ขณะที่สถิติการอายัดบัญชี ก่อนมี พ.ร.ก. ( 1 ม.ค.- 16 มี.ค.) มีการขออายัด1,346 ล้านบาท อายัดทัน 87 ล้านบาท คิดเป็น 6.5 % ส่วนหลังมี พ.ร.ก. (17 มี.ค.- 31 ก.ค.66) มีการขออายัด 2,792 ล้านบาท อายัดทัน 297 ล้านบาท คิดเป็น 10.6 %
ด้านการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าและซิมม้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ได้ดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าและซิมม้า รวม 364 ราย ดังนี้ บัญชีม้า รวม
254 ราย, ซิมม้า รวม 43 ราย , ซื้อขายบัญชีม้า
รวม 14 ราย ,ซื้อขายเลขหมายโทรศัพท์ รวม
53 ราย
ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่แนะนำการลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ หรือหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้ที่แอปพลิเคชัน SEC Check First และเว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th หัวข้อ SEC Check First หรือหากมีข้อสอบถามหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าสงสัย หรือได้รับการแจ้งข้อมูลที่ผิดปกติ ผ่านเอสเอ็มเอส หรือทางโทรศัพท์ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และโทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง