24 ส.ค. 2566 453 0

Braskem ผนึกกำลัง SCGC เดินหน้า ตั้งโรงงานผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Green-Ethylene) ในประเทศไทย เตรียมพร้อมผลิตพอลิเอทิลีนชีวภาพ I’m green 200,000 ตัน ต่อปี

Braskem ผนึกกำลัง SCGC เดินหน้า ตั้งโรงงานผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Green-Ethylene) ในประเทศไทย เตรียมพร้อมผลิตพอลิเอทิลีนชีวภาพ I’m green 200,000 ตัน ต่อปี

บราสเคม’ ผนึกกำลัง ‘SCGC’ เดินหน้า ตั้งโรงงานผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Green-Ethylene) ในประเทศไทย เตรียมพร้อมผลิตพอลิเอทิลีนชีวภาพ I’m green™ จำนวน 200,000 ตัน ต่อปี ป้อนเอเชียและตลาดโลก


บราสเคม (Braskem) ผู้ผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพชั้นนำระดับโลก และเอสซีจี เคมิคอลส์ (SCG Chemicals) หรือ SCGC ผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาคที่มุ่งเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุน (Joint venture agreement) เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ตั้งเป้าผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ หรือ Green-PE (Green-Polyethylene) ภายใต้แบรนด์ I'm green™ (แอมกรีน) ที่ผลิตโดยเทคโนโลยี อีทีอี เอเวอร์กรีน (EtE EverGreen™) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากความร่วมมือระหว่างบริษัท ลอมมุส เทคโนโลยี แอล ซีซี (Lummus Technology LCC) และ บราสเคม บี วี (Braskam B.V.) ในการร่วมพัฒนาและถือครองสิทธิเทคโนโลยีดังกล่าว

โรงงานเอทิลีนชีวภาพแบรนด์ I’m green™ แห่งนี้ ถือเป็นโรงงานแห่งแรกนอกประเทศบราซิล ที่จะสามารถเพิ่มกำลังผลิตให้กับแบรนด์ I’m green™  ได้เกือบเท่าตัว เพื่อตอบสนองความต้องการของพลาสติกชีวภาพที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเซียและยุโรป

พลาสติกชีวภาพ I’m green™ เป็นพลาสติกที่ผลิตจากเอทานอลที่ใช้ผลิตผลจากภาคเกษตร แทนเอทิลีนจากฟอสซิล   เช่น แนฟทาจากน้ำมัน พลาสติกชีวภาพนี้มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลบ (Negative carbon footprint) จึงเป็นการส่งผลดีต่อโลกและสภาพแวดล้อม ในปัจจุบัน  พลาสติกชีวภาพ I’m green™ สามารถนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มไปจนถึง ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว ผลิตภัณฑ์สำหรับการดูแลบ้าน ของเล่น ของใช้ในบ้าน และถุงพลาสติก นอกจากนี้ พลาสติกชีวภาพ I’m green™ ยังสามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป

การผนึกกำลังในการนำความเชี่ยวชาญด้านพลาสติกชีวภาพของบราสเคม กับความเป็นผู้นำในตลาดเอเชียและความเชี่ยวชาญด้านการผลิตพอลิเอทิลีนของเอสซีจีซี ถือเป็นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งสำหรับการร่วมทุนในครั้งนี้   โดยบราสเคมจะมอบการสนับสนุนในด้านเทคโนโลยี อีทีอี เอเวอร์กรีน (EtE EverGreen™)  และประสบการณ์ด้านปฏิบัติการในกระบวนผลิต ผสานกับเอสซีจีซีที่มีศักยภาพเป็นผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในระดับภูมิภาค


โรแบร์โต้ บิสชอฟฟ์ (Roberto Bischoff) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบราสเคม เผยว่า “เรามองเห็นโอกาสและความต้องการพลาสติกชีวภาพในตลาด  I’m green™ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ปล่อยคาร์บอนต่ำสำหรับลูกค้าที่มองหาโซลูชันเพื่อความยั่งยืน ความร่วมมือกับ SCGC นี้ สอดคล้องกับเป้าหมายของ Braskem ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้ได้ 1 ล้านตัน ภายในปี 2573 แทนที่ฟอสซิลด้วยวัตถุดิบหมุนเวียน และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรม”


ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า  “SCGC มีเป้าหมายที่จะพัฒนา Green Innovation เช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้าน Low Carbon โดย SCGC ได้เพิ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 ตามแนวทาง ESG (Environmental, Social and Governance)  การร่วมทุนและเป็นพันธมิตรระหว่าง SCGC กับ Braskem เพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของ SCGC ในการรุกธุรกิจกรีน ตอบเมกะเทรนด์ที่มีความต้องการพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียและยุโรป ทั้งนี้ การร่วมทุนดังกล่าว ตั้งเป้าผลิตเอทิลีนชีวภาพ (Green-Ethylene) จากเอทานอลที่ใช้ผลิตผลจากภาคเกษตรแทนเอทิลีนจากฟอสซิลด้วยเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก โดย SCGC จะนำเอทิลีนชีวภาพไปผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพ หรือ Green-PE (Green-Polyethylene) ซึ่งมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลบ (Negative carbon footprint) สามารถรีไซเคิลได้เช่นเดียวกับพอลิเอทิลีนทั่วไป  ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง ESG ของ SCGC และนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของประเทศไทย”