29 ส.ค. 2566 355 0

องค์กรภาครัฐจะใช้ไฮบริดมัลติคลาวด์ ปลดล็อกศักยภาพได้อย่างไร

องค์กรภาครัฐจะใช้ไฮบริดมัลติคลาวด์ ปลดล็อกศักยภาพได้อย่างไร

บทความโดย เฟตรา ชาห์บานา ผู้จัดการประจำกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่เติบโต (GEMs), นูทานิคซ์


โลกที่เชื่อมต่อถึงกันมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ภาครัฐมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้น เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการให้บริการที่จำเป็นแก่สาธารณะ แก้ไขความท้าทายทางสังคมหลากหลาย ป้องกันและตอบสนองต่อภัยคุกคามความปลอดภัยต่าง ๆ และส่งเสริมเศรษฐกิจให้เติบโต ในโลกที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็วนี้ องค์กรภาครัฐต่างตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเปลี่นแปลงตนเองสู่ดิจิทัล เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้บริการได้ดีขึ้น และสามารถตอบสนองความคาดหวังของประชาชนที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

หน่วยงานภาครัฐจำนวนมากเลือกผู้ให้บริการคลาวด์ด้วยเหตุผลที่คาดว่าจะประหยัดค่าใช้จ่าย และจะช่วยให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับพนักงานและประชาชน ตามข้อเท็จจริง IDC ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยตลาดชั้นนำของโลกคาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2568 ภาครัฐในเอเชียแปซิฟิกจะใช้จ่ายด้านพับลิคคลาวด์แตะระดับ 12.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

จริง ๆ แล้ว หน่วยงานภาครัฐมีการใช้เทคโนโลยีและกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมอยู่แล้ว เห็นได้จากรายงานผลสำรวจ Nutanix Enterprise Cloud Index ประจำปีครั้งที่ 5 โดยแวนสัน บอร์น ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยในสหราชอาณาจักร ได้เผยให้เห็นผลสำรวจที่ว่าองค์กรภาครัฐวางแผนใช้ไฮบริดมัลติคลาวด์เพิ่มขึ้นเกือบห้าเท่าในช่วงสามปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 39 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั่วโลกเล็กน้อย ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นถึงวิธีการเชิงรุก เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับการใช้สภาพแวดล้อมไอทีที่หลากหลาย เพื่อเลี่ยงที่จะต้องติดอยู่กับผู้ให้บริการเพียงรายเดียว และเพื่อพร้อมนำความล้ำสมัยทางเทคโนโลยีมาช่วยให้สามารถให้บริการสาธารณะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อภาครัฐเข้าสู่โลกของการใช้ไฮบริดมัลติคลาวด์ จะเป็นการเปิดโอกาสแห่งความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จะนำสู่การปลดล็อกศักยภาพทุกแง่มุม และปฏิวัติแนวทางการทำงานเพื่อให้บริการสาธารณะได้ดีขึ้น

รูปแบบไอทีที่ใช้ในปัจจุบันและที่ได้วางแผนไว้ในอีก 1-3 ปีข้างหน้าขององค์กรภาครัฐทั่วโลก


ภาครัฐสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมด้วยวิธีการแบบรวมศูนย์

ประชาชนในยุคดิจิทัลคาดหวังว่าจะสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้โดยง่าย เป็นบริการที่ตรงตามความต้องการเฉพาะตัว และมีประสิทธิภาพ ต้องการการปฏิสัมพันธ์ที่ราบรื่น เวลาในการตอบสนองที่รวดเร็ว ความปลอดภัย และความโปร่งใส หรืออีกนัยหนึ่งคือ ภาครัฐต้องสามารถตอบสนองความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างฉับไว ให้ความมั่นใจว่าแม้ในระหว่างเกิดเหตุฉุกเฉินจะยังคงให้บริการต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถปรับตัวรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว

การใช้ไฮบริดมัลติคลาวด์มากขึ้น เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ภาครัฐสามารถผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและการให้บริการที่ทันความต้องการของประชาชน ผลสำรวจจากรายงาน Enterprise Cloud Index ของนูทานิคซ์ฉบับนี้ยังพบว่า องค์กรภาครัฐคาดหวังจะใช้มัลติคลาวด์เป็นโครงสร้างพื้นฐานไอทีของตนเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าภายในปี 2569 ซึ่งการใช้โครงสร้างพื้นฐานไอทีที่หลากหลายมากขึ้น และการให้ความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูล การบริหารจัดการ การรักษาความปลอดภัย และบริการต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีต้องการความสามารถในการบริหารจัดการแอปพลิเคชันและข้อมูลที่อยู่บนทุกสภาพแวดล้อมไอทีได้จากจุดเดียว

ความสำคัญของแนวทางที่เป็นหนึ่งเดียวนี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะมันช่วยให้องค์กรภาครัฐมองเห็นว่าข้อมูลของตนอยู่ ณ ที่ใดได้อย่างครบถ้วน ซึ่งความสามารถในการมองเห็นนี้ ช่วยให้ทีมไอทีบริหารจัดการแอปพลิเคชันและข้อมูลได้อย่างไร้รอยต่อ สามารถปรับวิธีการให้ตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัยของข้อมูล การสำรองข้อมูล การปฏิบัติตามกฎระเบียบ ประสิทธิภาพที่ต้องการ และค่าใช้จ่าย ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยูตลอดเวลาได้แบบเรียลไทม์ หน่วยงานภาครัฐสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สร้างนวัตกรรมได้เร็วขึ้น และมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับประชาชนได้อย่างราบรื่น ไฮบริด มัลติคลาวด์มอบศักยภาพมหาศาลให้กับภาครัฐเพื่อเปลี่ยนผ่านรูปแบบการให้บริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการบริหารจัดการที่คล่องตัว ไปจนถึงการให้บริการที่ตรงตามความต้องการเฉพาะบุคคล และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างไม่ยุ่งยาก 

ให้ข้อมูลทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์

หนึ่งในข้อได้เปรียบสำคัญที่ภาครัฐจะได้รับจากการใช้ไฮบริดมัลติคลาวด์ คือ สามารถนำศักยภาพของข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ภาครัฐเพิ่มการใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อประกอบการตัดสินใจอย่าง

ชาญฉลาดและจัดสรรทรัพยากรได้เหมาะสมมากขึ้น องค์กรภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์จากไฮบริดมัลติคลาวด์ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่ง และได้รับข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าเพื่อใช้ขับเคลื่อนการวางนโยบายโดยอิงตามหลักฐานที่ปรากฎชัดเจน และปรับปรุงบริการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น การใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการระบุรูปแบบและแนวโน้มต่าง ๆ ไปจนถึงการคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะได้นั้นตรงตามความจริง และช่วยให้องค์กรภาครัฐจัดการกับความท้าทายทางสังคมที่ซับซ้อนได้อย่างคล่องตัวและถูกต้อง

เหตุผลในการย้ายแอปพลิเคชันไปมาระหว่างโครงสร้างพื้นฐานไอทีประเภทต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน ภาครัฐมีความกังวลด้านความปลอดภัยของข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดย 47 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ตอบแบบสอบถามอ้างว่าเหตุผลที่ต้องย้ายแอปพลิเคชันไปมาระหว่างโครงสร้างพื้นฐานไอทีประเภทต่าง ๆ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เกิดจากความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพรูปแบบการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ขององค์กร และให้สามารถตอบโจทย์กฎระเบียบต่าง ๆ ได้ สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากรายงานสรุปผลการดำเนินงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนกันยายน 2565 โดยคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) พบว่ามีภัยคุกคามทางไซเบอร์จำนวนทั้งสิ้น 551 เหตุการณ์ เช่น การโจมตีด้วยการแฮ็กเว็บไซต์, มัลแวร์เรียกค่าไถ่ และมัลแวร์ที่มีความสามารถในการขโมยข้อมูลทางการเงิน เป็นต้น  รวมทั้งได้คาดการณ์แนวโน้มภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นว่าการโจมตีด้วยการแฮ็กเว็บไซต์ “หน่วยงานราชการและหน่วยงานสำคัญ” เป็นรูปแบบที่ถูกตรวจพบมากที่สุด

ไฮบริดมัลติคลาวด์มอบทางเลือกในการปกป้องข้อมูลที่อ่อนไหวง่าย และมอบความสามารถในการปฏิบัติตามกฎระเบียบให้แก่องค์กรภาครัฐ การเก็บข้อมูลที่อ่อนไหวง่ายไว้ในศูนย์ข้อมูลแบบไพรเวทในองค์กร และวางเวิร์กโหลดที่มีความอ่อนไหวน้อยไว้บนพับลิคคลาวด์ ช่วยให้องค์กรภาครัฐสร้างสมดุลระหว่างความปลอดภัยไซเบอร์ การเข้าถึงเพื่อใช้งาน และการประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นแนวทางการใช้ไฮบริด มัลติคลาวด์นี้จึงช่วยเพิ่มความคล่องตัวที่เกิดจากสามารถเลือกวางเวิร์กโหลดไว้ ณ โครงสร้างพื้นฐานไอทีที่เหมาะสมที่สุดตามลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ เช่น เลือกตามกลยุทธ์ด้านภารกิจ ด้านความปลอดภัย ประสิทธิภาพที่ต้องการ หรือการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ได้อย่างอิสระ

ยุคของไฮบริดมัลติคลาวด์นี้เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับภาครัฐ การนำกระบวนทัศน์นี้มาใช้จะช่วยให้ภาครัฐสามารถปลดล็อกศักยภาพที่แท้จริง ขับเคลื่อนนวัตกรรม สร้างประสบการณ์ดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จ ให้บริการประชาชน ทำภารกิจต่าง ๆ และสั่งการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อขอบเขตทางดิจิทัลยังคงไม่มีที่สิ้นสุด การใช้กลยุทธ์ไฮบริดมัลติคลาวด์จะช่วยให้ภาครัฐก้าวหน้าต่อไปในอนาคตที่บริการสาธารณะต่าง ๆ จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาให้ได้ และยังช่วยกำหนดอนาคตให้บริการสาธารณะมีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม