"เอ็นไอเอ" พาเปิด 12 นโยบายนวัตกรรมในฝัน จาก ‘เสียงของประชาชน’ อนาคตแบบไหนที่คนไทยอยากเปลี่ยน และจะเป็นอย่างไรถ้าประชาชน กำหนดนโยบายนวัตกรรมได้ด้วยตัวเอง
จากการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ามิติของคำว่า “นวัตกรรม” เป็นนโยบายที่ทุกพรรคการเมืองต่างให้ความสำคัญ เพราะการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนในฐานะ “พลเมือง” ควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาและขับเคลื่อนไปด้วยกัน ตั้งแต่กระบวนการคิด การวางแผน และการออกแบบนโยบาย ส่วนรัฐบาลที่มีหน้าที่เป็นผู้วางรากฐานและกำหนดทิศทางของแผนพัฒนาประเทศ ก็ควรนำมุมมองและความคิดเห็นของประชาชนมายึดเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ เพื่อให้สิ่งที่จะสร้างออกมาตอบโจทย์ความต้องการและช่วยเหลือประชาชนได้มากที่สุด ดังนั้น พรรคการเมืองที่มีโอกาสเข้าไปเป็นฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ควรจะต้องรับฟังเสียงของประชาชนเพื่อนำไปปรับใช้ และทำให้สังคมวิถีประชาธิปไตยเกิดขึ้นในแวดวงนวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรม (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า การส่งต่อนโยบายนวัตกรรมในฝันถือเป็นหนึ่งในกระบวนการขับเคลื่อน “นวัตกรรมเชิงนโยบาย” ด้วยการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ เอกชน การศึกษา สื่อมวลชน ประชาสังคม ฯลฯ หรือที่เรียกว่า Stakeholder สามารถเป็นผู้ริเริ่มกระบวนการคิด วางแผน ออกแบบ และสร้างกระบวนการนโยบายร่วมกัน NIA จึงได้ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจัดกิจกรรม Hack Thailand 2575 ที่เปิดโอกาสรับฟังเสียงจากประชาชนร่วมกับว่าที่ตัวแทนจากฝั่งรัฐบาล เสมือนเป็นเวทีเชื่อมโยงให้เกิดการส่งต่อนโยบายในฝันและให้ทุกคนร่วมเปลี่ยนแปลงอนาคตประเทศ 12 ประเด็น 6 ด้าน ซึ่งจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้พบว่า ถ้า “ประชาชน” เป็นผู้กำหนดนโยบายนวัตกรรมให้กับพรรคการเมืองได้ สิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ได้แก่
ด้านสังคม ภายใต้โจทย์ หยุดความรุนแรงแฝงเร้นในสังคมไทย จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่ามีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะมีภาพจำว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว กับระบบการให้ความช่วยเหลือที่แยกออกจากกัน จึงเกิดเป็น “นโยบาย: รื้อระบบ เพื่อจบความรุนแรง” ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงความคิด และสร้างระบบฐานข้อมูลสำหรับจัดการปัญหาในการส่งเรื่องซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยงาน เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากช่วยให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม ส่วนอีกโจทย์คือ Green Space เปิดพื้นที่สร้างสรรค์เพิ่มศักยภาพเมือง เกิดเป็น “นโยบาย: พื้นที่สร้างสรรค์โอกาสของทุกคน” ทำให้ประชาชนมองเห็นการเพิ่มโอกาสในพื้นที่สีเขียวจากอาคารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของภาครัฐมาปรับปรุงเป็นพื้นที่สาธารณะ ส่งเสริมให้เกิดสถานสร้างสุขภาพสำหรับการพักผ่อนให้กับประชาชน
ด้านเศรษฐกิจ กับโจทย์ ‘ปลดล็อกท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ เกิดเป็นนโยบาย: 4 เปิดคือ เปิดพื้นที่รับฟังเสียงของประชาชน เปิดช่องทางการค้าและการลงทุน เปิดตลาดข้อมูลเพื่อให้ประชาชนพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการ และเปิดใจรับฟังความแตกต่างเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ส่วนโจทย์ ‘แก้หนี้แก้จน’ อีกหนึ่งปัญหาสังคมที่ฝังรากลึกมานาน มีการเสนอนโยบาย: สถาบันบริหารจัดการการเงินภาคประชาชน โดยให้ภาครัฐสร้าง Big Credit Data สำหรับรวบรวมข้อมูลประกอบการปล่อยสินเชื่อ พร้อมให้ความช่วยเหลือในระดับจุลภาค ผ่านแอปฯ หมอเงินที่จะมีแหล่งเงินทุน และแผนฟื้นฟูหนี้ให้แต่ละคนอย่างเป็นระบบ
ด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม กับโจทย์ ‘เศรษฐกิจขยะ’ มีการเสนอนโยบาย: Thailand Zero Waste ที่ต้องเริ่มปรับตั้งแต่ต้นทาง เพิ่มความรับผิดชอบในฝั่งเอกชนตั้งแต่การผลิต ส่วนภาคประชาชนเสนอให้มีระบบทิ้งมากจ่ายมาก อีกโจทย์ที่กำลังเป็นเรื่องเร่งด่วนคือ ‘อากาศสะอาดหยุด PM 2.5’ มีการนำเสนอ นโยบาย: พื้นที่ปลอดภัยเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ป้องกันปากท้อง สุขภาพ หรือเสนอให้มีการควบคุมผู้ก่อมลพิษ ผลักดันกฎหมายให้มีการชดเชยไปจนถึงกำหนดตัวแทนเพื่อเข้าไปเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน
ด้านสาธารณสุข จากปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ภายใต้โจทย์ ‘Active Aging: Oldy Health Society’ มีการเสนอนโยบาย: สูงวัยใจสะออน การทำให้มีสถานบริการสุขภาพอย่างใกล้ชิด พร้อมเปิดโอกาสให้คนวัยเก๋าสามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง พัฒนากองทุนส่วนบุคคลสำหรับคนสูงวัย ปิดท้ายด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยทั้งในและนอกบ้าน นอกจากนี้ ยังควรแก้ปัญหาระบบประกันสังคม จากโจทย์ ‘Wellness ยิ่งใหญ่ คนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้าเท่าเทียม’ เกิดเป็นนโยบาย: แฮกกองทุนประกันสังคม ลดความเหลื่อมล้ำเพื่อประชาชนทุกคน โดยเกลี่ยงบประมาณจากหน่วยงานอื่นมาลงทุนด้านสุขภาพ ปรับงบสมทบ สิทธิประโยชน์และทำการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล
ด้านการศึกษา กับโจทย์ ‘ติดปีกครูไทย’ เกิดเป็นนโยบาย: ตั้งสภาติดปีกครูไทย ปรับระบบ เปลี่ยนโรงเรียน เด็กที่อยู่ในระบบเพื่อให้แม่พิมพ์ของชาติสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการลดงานซ้ำซ้อน จ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสม ไปจนถึง โจทย์ ‘คนไทย 3 ภาษา’ ที่ต้องการแปลงโฉมหลักสูตร ผ่านนโยบาย: พลิกไทย คนไทย 2+ หลายภาษา โดยเพิ่มทางเลือกภาษาที่สมารถนำมาใช้สำหรับการประกอบอาชีพ เช่น ภาษาโปรแกรมมิ่ง ภาษาจีน ภาษาอังกฤษเฉพาะทาง
สุดท้าย ด้านระบบราชการ กับโจทย์ ‘รัฐทันสมัย โปร่งใส ไร้คอร์รัปชัน’ มีการนำเสนอนโยบาย: หยุดผลาญงบประมาณชาติ เปิดพรมเก็บกวาด ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อปรับให้เกิดการทำงานที่โปร่งใส เพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้เป็นหูเป็นตาตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และโจทย์ ‘รัฐของกลุ่มคนที่หลากหลาย’ ที่มาจากความต้องการให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถเป็นตัวแทนของประชาชนได้ทุกกลุ่ม ต้องการให้มีการเปิดรับกลุ่มคนหลากหลายเข้าไปในสภามากขึ้น จึงเกิดเป็นนโยบาย: สภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงนวัตกรรมเชิงนโยบายของประชาชนบางส่วนที่ได้จากกิจกรรมที่จัดขึ้น ยังมีเสียงสะท้อนจากประชาชนอีกมากที่ต้องการพื้นที่รับฟังและแสดงความคิดเห็น ซึ่งการจะผลักดันให้นโยบายที่มาจากความต้องการของประชาชน กลายเป็นนโยบายของประเทศที่เกิดขึ้นจริงได้นั้น NIA เชื่อว่าจำเป็นต้องมีเวทีหรือช่องทางให้เกิดการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาของทุกภาคส่วน เพื่อมาตรฐานใหม่ในการสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะที่สามารถออกแบบบริการให้เป็นประโยชน์สำหรับภาคประชาชนทุกคนได้อย่างแท้จริง