13 ก.ย. 2566 503 0

TEI ร่วมกับ TBCSD ยกระดับมาตรฐานขององค์กรธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

TEI ร่วมกับ TBCSD ยกระดับมาตรฐานขององค์กรธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก โดยเฉพาะสัญญาณวิกฤตของภาวะโลกร้อนที่ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่องค์การสหประชาชาติ ได้ชี้ว่าเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ถูกจัดว่าเป็นเดือนที่ร้อนสุดนั้นเป็นสัญญาณแจ้งว่าโลกได้เข้าสู่“ยุคโลกเดือด” หรือ Global Boiling แล้ว


ในโอกาสครบรอบ 30 ปี สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ในฐานะหน่วยงานคลังสมอง (Think Tanks) ด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ได้จัดงาน “30 ปี TEI ก้าวไปกับภาคี สู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” และได้ร่วมกับ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) จัดงานเสวนา “ความท้าทายธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน” เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงบทบาทขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมแก้ไขปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม (Country Issue) และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ และการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน อันเป็นการยกระดับประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตอบสนองนโยบายของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน



โดยในงานได้รับเกียรติจาก ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ในฐานะประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่ง TGO เป็นหนึ่งในองค์กรพันธมิตรของ TBCSD มาร่วมบรรยายพิเศษ เรื่อง “Global Climate Action & Thailand Climate Action: Next Steps on the Path to COP28” กล่าวว่า “ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ GDP หรือรายได้ประชาชาติของทุก ๆ ประเทศลดลง มันคุ้มกว่ามากที่เราต้องช่วยกันจัดการต้นเหตุด้วยการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกรูปแบบ (Climate Mitigation) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราต้องผลักดันการเปลี่ยนผ่านรูปแบบด้านพลังงาน จากการใช้ Fossil ไปเป็นพลังงานที่ไม่ปล่อย GHG อีกต่อไป (Energy Transition) หรือไม่ก็ต้องสร้างระบบกักเก็บไม่ให้หลุดออกสู่บรรยากาศ (ระบบ CCS) ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกรูปแบบ อันจะเป็นการป้องกันและหยุดยั้งผลกระทบดังกล่าวได้ แม้จะมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ก็คุ้มค่ากว่ามากต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมเมื่อเทียบกับต้นทุนการปรับตัวและความเสียหายจากผลกระทบในรูปแบบต่าง ๆ ก่อให้เกิดการลงทุนและการค้าใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate’s Capital) อันจะเป็นหนทางที่จะยุติการไปถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับสู่สภาวะปกติของโลกได้ หรือ Point of No Return”

นอกจากนี้ ผู้บริหารขององค์กรสมาชิก TBCSD ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กลุ่มพลังงานไฟฟ้า) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (กลุ่มพลังงานเชื้อเพลิง) และ เอสซีจี (กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้าง) มานำเสนอกลยุทธ์สำคัญในการมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนพร้อมข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหา Climate Change เสนอต่อภาครัฐในมุมมองขององค์กรภาคธุรกิจไทย


ณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง รองผู้ว่าการอาวุโส รักษาการผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “กฟผ. ได้ตั้งเป้าหมาย EGAT Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ.2050 เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยได้มีการจัดทำ Roadmap เพื่อมุ่งเน้นการดำเนินการไปสู่ Carbon Neutrality ผ่านกลยุทธ์ EGAT “Triple S” และในปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างการทบทวน Roadmap บางกิจกรรมอาจมีการปรับให้เร็วขึ้น เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย EGAT Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ.2050”


วรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปตท. ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 และกำหนดกลยุทธ์ “ปรับ เปลี่ยน ปลูก” สอดคล้องตามนโยบายและเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปตท. มุ่งมั่นและพร้อมเป็นกำลังสำคัญของประเทศเพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการดำเนินงานในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และนำพาประเทศบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ที่ตั้งไว้ไปด้วยกันอย่างยั่งยืน”


ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ - การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจีดำเนินงานตามแนวทาง ESG 4 Plus: 1. มุ่ง Net Zero 2. Go Green 3. Lean เหลื่อมล้ำ 4. ย้ำร่วมมือ ยึดหลักเชื่อมั่นและโปร่งใส เพื่อเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ในทุกมิติอย่างเป็นธรรม (Just Transition) สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมกับพันธมิตรสร้างโมเดลความร่วมมือ Public Private Partnership model (PPP) เพื่อบูรณาการด้านนโยบาย ส่งเสริมด้านการเงินและเทคโนโลยี สร้างองค์ความรู้ ผ่านสระบุรีแซนด์บอกซ์ สร้าง Use case ให้แต่ละภาคส่วนลงมือปฏิบัติร่วมกัน เพื่อมุ่งหวังสร้าง Low Carbon City ดึงผู้ขับเคลื่อนสำคัญในระดับพื้นที่พัฒนาโครงการลดคาร์บอนทั้ง 5 สาขา ตาม NDC ได้แก่ Energy, IPPU, Waste, Agriculture, Land Use, Land Use Change & Forestry (LULUCF) นำไปสู่การทำงานแบบ Cross Industry และนำโครงการที่ประสบความสำเร็จไปสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในพื้นที่อื่น”

การเสวนา ในหัวข้อ “การยกระดับมาตรฐานขององค์กรธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในอนาคต” จากผู้บริหารขององค์กรพันธมิตรของ TBCSD ซึ่งทุกองค์กรได้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศและร่วมสนับสนุนการสร้างความยั่งยืนขององค์กรภาคธุรกิจในประเทศไทย


ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และ เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า “TBCSD และ TEI พร้อมภาคีเครือข่าย ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่องค์กรต้นแบบธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ตอบสนองนโยบายของประเทศไทยที่มุ่งสู่ Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero GHG Emission ในปี ค.ศ. 2065 ที่จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและได้รับการยอมรับจากสากล”


นที สิทธิประศาสน์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ได้จัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บริการสมาชิก บุคคล และองค์กรทั่วไป โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ การดำเนินงานที่ปรึกษาและการทวนสอบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการขับเคลื่อนกลไก BCG ที่สอดรับกับมาตรการของภาครัฐ นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตและพลังงานสะอาด เพื่อส่งเสริมกลไกการชดเชยคาร์บอน เพื่อมุ่งหวังสู่เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2030 และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ.2065”


จอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า “ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทย มุ่งมั่นเสริมสร้างความยั่งยืนทางการเงินของตลาดทุน โดยคำนึงถึงองค์ประกอบหลัก 6 ด้าน เพื่อพัฒนาระบบนิเวศตลาดทุนอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1. ผู้ระดมทุน (Issuers) 2. ผู้ลงทุน (Investors) 3. เครื่องมือระดมทุน (Products) 4. ผู้ประเมินภายนอก (External reviewer) 5. ศูนย์รวมข้อมูล (Platform) และ 6. ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งตลาดทุนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การยกระดับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนตามแนวทางสากลจึงเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยเพิ่มโอกาสของภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วโลก และการยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนและมั่นคงต่อไป”


ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ช่วยเตรียมความพร้อมให้ผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนในด้านต่าง ๆ ประกอบไปด้วย 1) การสร้างทักษะความรู้ และเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อให้บริษัทเข้าใจพื้นฐานตั้งแต่การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงการบริหารจัดการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงมีเครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูลและคำนวณการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างสะดวก 2) สร้างบุคลากร ให้มีความพร้อมและมีจำนวนเพียงพอกับการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ 3) สร้างมาตรฐานและคู่มือ สำหรับให้บริษัทนำไปใช้ประกอบการบริหารจัดการประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ และ 4) สร้าง platform การเปิดเผยข้อมูล เพื่อความสะดวกต่อการวิเคราะห์ข้อมูล และแสดงถึงความโปร่งใส”


อลิสรา ศิวยาธร CEO Sivatel Bangkok Hotel (ต้นแบบก้าวพอดี) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ขณะนี้โลกได้เปลี่ยนผ่านจากสภาวะโลกร้อนเข้าสู่สภาวะโลกเดือดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องเร่งมือทำงานร่วมกันแบบบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องที่เราจะนำมาใช้เป็นจุดขายแข่งขันกัน แต่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่พวกเราทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันลงมือแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่ออนาคตของพวกเราทุกคน”

การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับมาตรฐานขององค์กรภาคธุรกิจไทยไปสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนในอนาคต สู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์