ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เริ่มเข้ามามีส่วนในการทำงานที่หลากหลายมิติมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ งานกราฟฟิค งานเขียน งานดนตรี ส่งผลให้คนทำงานสร้างสรรค์เริ่มมีความกังวล และตั้งคำถามมากมายว่า AI จะเข้ามาทดแทน หรือส่งผลกระทบต่อสายงงานอาชีพมากแค่ไหน
ล่าสุด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้จัดงาน Creativities Unfold 2023 งานชุมนุมทางความคิดสร้างสรรค์ครั้งใหญ่ประจำปี ภายใต้งาน CREATIVE BUSINESS CONNEXT โดยได้มีการเชิญผู้นำความคิดในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น ภายใต้ธีม “VISIONAIRE: Reminisce/The Way Forward - แปลงอดีต เปลี่ยนวิสัยทัศน์อนาคต” หนึ่งในนั้นคือ พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร จาก MIT Media Lab นักเทคโนโลยี นักวิจัย ผู้ลุ่มหลงการผนึกกำลังของมนุษย์และ AI ได้มาแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับ AI ในหัวข้อ “Human+AI for the Future of Entertainment & Storytelling” ได้อย่างน่าสนใจ
AI กับการปลดล็อกความสามารถใหม่ ๆ
สำหรับพัทน์แล้ว AI (Artificial intelligence) ไม่ต่างจากเครื่องมือต่าง ๆ ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อทดแทนลักษณะทางกายภาพที่ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แต่เขามองในมุมของ IA หรือ Intelligence Augmentation ที่เป็นการนำ เทคโนโลยีเอไอมาช่วยเสริมความสามารถของมนุษย์ โดยเป็นผู้ช่วยที่มุ่งพัฒนาความอัจฉริยะให้มนุษย์เรา พัฒนาความฉลาดของมนุษย์ให้ก้าวหน้า พัทน์เชื่อว่า AI จะช่วยปลดล็อกความสามารถใหม่ ๆ ได้มากมาย ตั้งแต่ความสามารถในการตัดสินใจที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย Human-AI Symbiosis, สุขภาพที่ดีขึ้นด้วย Closed-Loop Wearables, ความสามารถในการค้นพบตัวตนด้วย Virtual Human และการเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ด้วย AI Generated Character
เมื่อมนุษย์และ AI ผนึกกำลังจนเกิดเป็นผลงานสุดสร้างสรรค์
แม้ว่าบทบาท AI จะเพิ่มผลมากขึ้นในการทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานของมนุษย์และ AI มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งพัทน์ได้โชว์ถึงผลงานการทำงานร่วมกันของมนุษย์ กับ AI ที่น่าทึ่งเอาไว้ ได้แก่ “Making Food with the Mind : Connecting Food 3D Printer with BCI” ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์อาหารที่ผลิตตามความต้องการของคน โดยอ่านจากคลื่นสมอง โดยใช้อัลกอริทึมของแมชชีนเลิร์นนิ่งที่ได้รับการฝึกฝนผ่านฐานข้อมูลคลื่นสมองไฟฟ้า ในการตรวจจับอารมณ์ของผู้ใช้และประมวลผลเป็นรูปลักษณ์และปริมาณของอาหาร
และผลงานที่โดดเด่นไม่แพ้กันคือ “Lab on Body” เครื่องมือเพื่อตรวจร่างกายที่ใช้งานร่วมกับ BioFab อวัยวะชีวดิจิทัลที่สามารถจัดการโปรแกรมการรักษาเยียวยาในอวกาศ รวมไปถึงเยียวยาปัญหาสุขภาพจิตได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ตัวละครที่สร้างโดย AI Generated Character โดยผู้สอนสามารถเปลี่ยนคาแรคเตอร์ตนเองเป็นศิลปินดัง เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้เรียนได้ ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีในห้องเรียน ทำให้นักเรียนกล้าที่จะโต้ตอบได้อีกด้วย และสำหรับการศึกษาในเรื่องของการใช้เหตุผลและการตัดสินใจร่วมกันของมนุษย์และ AI หรือที่เรียกว่า Human-AI co-reasoning
AI ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างที่คิด
จากตัวอย่างผลงานของพัทน์ ที่นำศักยภาพของมนุษย์มาผสานกับความสามารถของ AI จนเกิดเป็นผลงานที่สร้างสรรค์นั้น ทำให้เห็นได้ว่า ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ไม่ควรกลัว AI เพียงเพราะคิดว่ามันจะมาแทนที่มนุษย์ แต่จงใช้ Human + AI ในการช่วยขยายมุมมองเพื่อเพิ่มความรู้ ความสามารถ อาทิ นำเสนอไอเดียใหม่ ๆ สร้างภาพจินตนาการถึงการทำอาชีพต่าง ๆ ในอนาคตของตนเองได้ และใช้เป็นไทม์แมชชีน ด้วยการนำข้อมูลปัจจุบันจากความทรงจำของตัวเอง มาช่วยตัดสินใจในเรื่องของอนาคต รวมถึงนำไปต่อยอดสิ่งใหม่ได้อย่างไร้ขีดจำกัด
ซึ่งในปัจจุบัน พัทน์กำลังคิดค้นสิ่งที่เหนือกว่า Metaverse อย่าง ภาพพิมพ์ตึกที่เปลี่ยนแปลงเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ได้ รวมถึงวิศวกรรมด้านการช่วยให้เราไม่ฝันร้าย ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ต่าง ๆ ให้เข้ากับมนุษย์ ซึ่งในอนาคตอาจเกิดขึ้นจริง เพราะ AI นั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ทุกคนคิด