หากพูดถึงอุตสาหกรรมออกแบบสายงานที่สำคัญคงหนีไม่พ้น งานดีไซน์สินค้า งานศิลปะ รวมไปจนถึงงานสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ซึ่งเมื่อคนทำงานสายงานนี้ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น นักสร้างสรรค์กลุ่มนี้จะต้องเตรียมการรับมืออย่างไรบ้าง
และเมื่อไม่นานนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้จัดงาน Creativities Unfold 2023 งานชุมนุมทางความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม “VISIONAIRE: Reminisce/The Way Forward - แปลงอดีต เปลี่ยนวิสัยทัศน์อนาคต” ภายใต้งาน CREATIVE BUSINESS CONNEXT ได้เชิญนักออกแบบชื่อดังระดับโลกมาร่วมแชร์ความคิดเห็นกัน อันได้แก่ Jaime Hayon (ไฮเม่ ฮายอน) ดีไซเนอร์ชาวสเปนผู้ทรงอิทธิพล และ Lyndon Neri (ลินดอน เนรี่) สถาปนิกแห่งเอเชีย ที่มาถ่ายทอดแนวคิดงานออกแบบในยุคดิจิทัล มาดูกัน ทั้ง 2 ท่านมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร
Jaime Hayon - สร้างงานออกแบบให้โดดเด่น ด้วยการใส่ความรู้สึกและความสนุกสนาน
Jaime Hayon (ไฮเม่ ฮายอน) จาก Jaime Hayon Studio ดีไซเนอร์ชาวสเปนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก ที่มาในหัวข้อ “Design Follows Function, and Then What?” ได้ถ่ายทอดมุมมองถึงงานดีไซน์ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงนั้นควรเต็มไปด้วยความสนุกสนาน น่าตื่นเต้น ผ่านการเล่าเรื่องราวที่เชื่อมคนเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชม
นอกจากนี้ ไฮเม่ ยังเล่าถึงการสร้างประสบการณ์ออกแบบ ได้ด้วยพลังแห่งการเล่าเรื่องที่ขับเคลื่อนไอเดียให้โดดเด่น ประกอบกับการใช้ความรู้สึกของมนุษย์มาทำงานออกแบร่วมกับ AI ก็สามารถทำให้งานชิ้นนั้นดูมีชีวิตขึ้นมาได้
Lyndon Neri - การออกแบบสถาปัตยกรรมต้องสร้างผลงานให้กลมกลืนกับบริบทรอบข้าง
Lyndon Neri (ลินดอน เนรี่) จาก Neri & Hu สถาปนิกแห่งเอเชียผู้สร้างวิสัยทัศน์ให้โลกผ่านผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ ที่มาในหัวข้อ “Liminality: การก้าวข้ามพรมแดนทางการคิดเชิงสถาปัตยกรรม” เน้นการแปลงไอเดียให้เต็มเปี่ยมไปด้วยฟังก์ชันการใช้งาน และเน้นการสร้างสรรค์ผลงานที่อ้างอิงถึงบริบทที่เหมาะสม เขาได้พูดถึงแก่นการทำงานสถาปัตยกรรมว่า ต้องค้นคว้าข้อมูลในเชิงลึก ทั้งบริบทสภาพแวดล้อม ตลอดจนเรื่องราวความทรงจำต่าง ๆ เพื่อสร้างผลงานที่สามารถแบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ ให้กับผู้ใช้งานในพื้นที่นั้น
ผลงานที่ดีคือการเชื่อมต่ออดีตกับปัจจุบันเข้าด้วยกัน
ทั้ง ไฮเม่ ฮายอน และ ลินดอน เนรี่ ต่างมีความเชื่อที่คล้ายกันว่า ผลงานการออกแบบที่ดีควรเริ่มด้วยสารตั้งต้นที่ต้องเข้าใจเรื่องราวในประวัติศาสตร์ หรือวัฒนธรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจจากการออกเดินทาง ท่องเที่ยว พูดคุยกับผู้คน เพื่อความเข้าใจความรู้สึกนึกคิด และนำสิ่งเหล่านั้นมาสานต่อเทคนิคที่ร่วมสมัย ประยุกต์ใช้กับงานปัจจุบัน ผ่านมุมมองใหม่ ๆ โดยปรับแต่งให้เหมาะสมกับบริบทยุคใหม่โดยไม่แปลกแยก
AI ไม่ใช่ทั้งหมดของงานออกแบบ
สำหรับ AI ที่เป็นเรื่องที่พูดถึงกันมากในมิติต่าง ๆ ในงานสร้างสรรค์ ไฮเม่ ฮายอน ได้ให้ความหมายของ AI ในมุมมองของตนเองคือ Art Intelligence ซึ่งเป็นการสร้างผลงานศิลปะให้เกิดขึ้นในงานดีไซน์ โดยเน้นความแตกต่างออกไป ซึ่งสามารถทำได้จากการออกไปค้นคว้าหาวัตถุดิบใหม่ ๆ อยู่เสมอ พร้อมเปิดวิสัยทัศน์ และมอง
หาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อจุดประกายและท้าทายความคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบ เขาเชื่อมั่นว่าผลงานการออกแบบที่ไร้กาลเวลานั้น ต้องเป็นมากกว่าฟังก์ชันและความสวยงามซึ่งเกิดขึ้นมาจากมุมมองใหม่ ๆ ที่เราได้ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ AI ทางเทคโนโลยีทำไม่ได้
ในขณะที่ ลินดอน เนรี่ ได้ให้มุมมองต่อ AI ว่าเป็นเพียงเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อเอามาใช้ในงานออกแบบ แต่ในการทำงานจริงแล้ว งานสถาปัตยกรรมที่ดีต้องเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมโดยรอบ โดยดึงเอาสิ่งที่อยู่ในท้องถิ่น หรือความเป็น Local มาปรับใช้ในงานสร้างสรรค์ โดยคงความดั้งเดิม หรือ Traditional ให้มากที่สุด เพื่อให้ผลงานสามารถอยู่ร่วมกันกับบริบทนั้นได้อย่างกลมกลืน พร้อมตอกย้ำแนวคิดว่า “ถึงแม้ว่าเราไม่สามารถย้อนกลับไปอดีตได้ก็ตาม นักออกแบบสถาปัตยกรรมจึงไม่ใช่เพียงแค่ ‘สร้าง’ แต่ต้อง ‘รักษา’ ความทรงจำจากเค้าโครงจากอดีตสืบต่อมาจนถึงยุคปัจจุบันด้วย”