สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียถก (ร่าง) นโยบายการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคาร สำหรับอาคารสร้างใหม่ และอาคารที่ทำการบูรณะใหม่ ให้ไทยมีกรอบนโยบายการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคารสร้างใหม่ เดินหน้าผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีผ่านการสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม
ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) โครงการจัดทำนโยบายการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคาร สำหรับอาคารสร้างใหม่ และอาคารที่ทำการบูรณะใหม่ โดยมีนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วย นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร นายสมเกียรติ ศิริวัฒนโชค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารจัดการเชิงนโยบาย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมจำนวนกว่า 200 คน ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าวจัดทำขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยได้มีกรอบนโยบายสำหรับการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคาร สำหรับอาคารสร้างใหม่ และอาคารที่ทำการบูรณะใหม่ ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และมีแนวปฏิบัติในการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคาร สำหรับอาคารสร้างใหม่ และอาคารที่ทำการบูรณะใหม่ ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ในการเข้าถึงเทคโนโลยีและใช้ประโยชน์โครงข่ายอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และรองรับการใช้งานโทรคมนาคมที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม
“รัฐบาลมีนโยบายในการผลักดันเศรษฐกิจและสังคม เพื่อมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศ โดยหนึ่งในนโยบายหลัก คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเชื่อมต่อโดยตรงกับศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนอินเทอร์เน็ตของโลก และเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ประกอบกับร่างแผนปฏิบัติการด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี ระยะที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๖๕ – ๒๕๗๐) ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีด้านการติดต่อสื่อสาร แพร่เสียง และแพร่ภาพ โดยได้บรรจุโครงการฯ ดังกล่าวไว้ในแผนงานโครงการสำคัญของ สดช.” ภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับอาคารสร้างใหม่และอาคารที่ทำการบูรณะใหม่ แบ่งออกเป็น 4 ประเภทอาคาร ได้แก่ 1) อาคารหน่วยเดียว ประเภทที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว โครงการบ้านจัดสรรที่ไม่จำกัดจำนวนผู้วางโครงข่ายสาย 2) อาคารหน่วยเดียว ประเภทไม่ใช่ที่อยู่อาศัย เช่น อาคารเพื่อกิจการพาณิชกรรม สำนักงาน โรงแรม ซึ่งเป็นอาคารขนาดเล็ก 3) อาคารหลายหน่วย ประเภทที่อยู่อาศัย เช่น อาคารชุด (คอนโดมิเนียม) โครงการบ้านจัดสรรที่จำกัดจำนวนผู้วางโครงข่ายสาย และ 4) อาคารหลายหน่วย ประเภทไม่ใช่ที่อยู่อาศัย เช่น อาคารเพื่อกิจการพาณิชกรรม สำนักงาน โรงแรม ซึ่งเป็นอาคารที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน 2,000 ตารางเมตร
ทั้งนี้ ผลสรุปที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในครั้งนี้ จะนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุง (ร่าง) นโยบายการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคาร สำหรับอาคารสร้างใหม่ และอาคารที่ทำการบูรณะใหม่ (ร่าง) แผนการดำเนินงาน และแนวทางในการขับเคลื่อนตามนโยบายการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคาร สำหรับอาคารสร้างใหม่ และอาคารที่ทำการบูรณะใหม่ และ (ร่าง) ข้อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการปรับแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงในตัวอาคาร สำหรับอาคารสร้างใหม่ และอาคารที่ทำการบูรณะใหม่ที่เหมาะสม ก่อนนำเสนอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาในลำดับต่อไป