กระทรวงดีอี ประชุมหารือและจัดตั้งศูนย์ร้องเรียนแบบดำเนินการเร่งด่วนทันที ผ่านโทร 1441 เริ่ม 1 พฤศจิกายน 2566 นี้ เพื่อสกัดเส้นทางการเงินร่วมกับธนาคาร จากนั้นให้ตำรวจดำเนินการเข้าจับกุมโจรไซเบอร์แบบรวดเร็วมากที่สุด จากที่ผ่านมาประชาชนได้รับผลกระทบจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์และมิจฉาชีพจำนวนมาก แต่สกัดจับตามไม่ทัน ไม่ค่อยมีใครได้เงินคืนมาและใช้เวลานาน โดยเฉพาะปัจจุบันการโอนเงินแบบดิจิทัลรวดเร็วอย่างมากจึงต้องทำงานแบบภายใน 1 ชม. ทั้งหมดยังเป็นความร่วมมือกับทุกค่ายมือถือ และสมาคมธนาคาร ตลอดจน กสทช.ด้วย
ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนเดือนร้อนมาก บางคนถึงขั้นฆ่าตัวตาย ความเสียหายมูลค่าสูง จากการหลอกลวงออนไลน์ แก๊งคอลเซนเตอร์ การใช้ชีวิตของประชาชนไม่เป็นปกติ ต้องคอยระวังโจรออนไลน์ แก๊งคอลเซนเตอร์ตลอดเวลา ในระยะเวลาปีหกเดือน ตั้งแต่ มีนาคม 65 - สิงหาคม 66 มีจำนวนคดีมากถึง 320,000 คดี เฉลี่ยวันละ 600 คดี ความเสียหายสูงถึง 43,700 ล้านบาท เฉลี่ยวันละ 80 ล้านบาท การทำงานป้องกันปราบปรามแบบเดิม ๆ คงไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ จึงมีนโยบายยกเครื่อง ปรับเปลี่ยนการทำงานครั้งใหญ่ ดังนี้
1. จัดตั้ง Anti Online Scam Operation Center (AOC) หรือ ศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ เป็น One Stop Service สำหรับประชาชน และใช้ติดตามสถานการณ์ สั่งการ ปฏิบัติการป้องกันปราบปราม โจรออนไลน์ อย่างบูรณาการและทันเวลา ต้องทำงานแข่งกับเวลา โดยมี War-room ภายใต้ AOC และ ใช้เทคโนโลยี พัฒนา Intelligent Assistant (IA) และ Intelligence based platform ทำให้เกิด รวบรวมเชื่อมโยงข้อมูล เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ให้พร้อมใช้งานในการป้องกัน ปราบปราม โดย platform นี้จะมีการใช้และการวิเคราะห์ ทั้งข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ ข้อมูลธุรกรรมต้องสงสัย และ ใช้เทคโนโลยี AI ใช้ Data scientists เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ คาดการณ์ ซึ่งระบบนี้ จะทำงานเชื่อมโยง กับ Central Fraud Registry ของสมาคมธนาคาร และ ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ให้บริการโทรคมนาคม โดยมุ่งหวังให้ระบบนี้ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เป็นการใช้พลัง AI ช่วยเจ้าหน้าที่ (Intelligent assistant) เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน ได้รวดเร็ว ทันเวลา
2. จัดตั้ง War-room ภายใต้ AOC เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนแบบเร่งด่วน เชิงรุก ตั้งเป้าหมาย จบอายัดบัญชีการเงินได้ ใน 1 ชม. นับจากเวลาที่รับแจ้งเรื่องจากเหยื่อของโจรออนไลน์ หรือแก๊งคอลเซนเตอร์ โดยนำข้อมูล อาทิ การโอนเงินให้คนร้าย ส่งธนาคาร ให้ทำการอาญัติธุรกรรมที่เกี่ยวข้องทันที ที่ได้รับเรื่อง ทำการอาญัติ ทุกๆ ทอดที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกัน สถาบันการเงินอื่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ง. ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน กสทช. ผู้ให้บริการมือถือ สำนักงาน ก.ล.ต. แลกเปลี่ยนข้อมูลทันที ต้องมี KPI ระยะเวลาสำหรับปฏิบัติการของธนาคารและหน่วยต่างๆ
3. ทำทันที มีผลโดยเร็ว คือการจัดตั้ง ทีมปฏิบัติการด้านต่าง ๆ (Special Taskforce) อาทิ ทีมปฏิบัติการด้านพนันออนไลน์ เป็นต้น เพื่อจัดการ แก้ไขปัญหา การหลอกลวงการเงิน พนันออนไลน์ บัญชีม้า ซิมม้า ให้เด็ดขาด
4. ทำทันทีอีกเรื่อง คือ ยกระดับความร่วมมือและเพิ่มการพูดคุยกับแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ ต่างๆ ที่มีผู้ใช้จำนวนมาก ขอให้มีความรับผิดชอบต่อผู้ใช้งาน มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ปล่อยให้มีการโกง อย่างชัดเจน เช่น ให้คนร้ายซื้อโฆษณาหลอกลวง และใช้หลอกลวงประชาชนในวงกว้าง ค่ายมือถือก็ต้องช่วยหาวิธีไม่ให้ หมายเลขผิดปกติ หมายเลขต้องสงสัย โทร ส่งข้อความ หรือ ติดต่อ หลอกลูกค้าของตัวเองได้ง่ายๆ
5. นอกจากนี้ ต้องใช้การประชาสัมพันธ์เชิงรุก เข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น ตลอดจน ยกระดับความร่วมมือและการประสานงานอย่างใกล้ชิด กับตำรวจ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อจับกุมที่ต้นตอ ระดับหัวหน้าที่จำนวนมากอาศัยอยู่ในต่างประเทศ การยึดทรัพย์ ในขณะเดียวกัน ได้ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งสรุปประเด็นการแก้ไข กฎหมาย ที่เป็นปัญหาอุปสรรค รวมทั้งเรื่อง เร่งคืนเงินผู้เสียหาย เพื่อเร่งการปรับปรุงแก้ไข กฎหมายให้ทันสมัย ทันเทคโนโลยี ทันปัญหาโจรออนไลน์
“ผมมั่นใจว่า การทำงานที่รวดเร็วคือหัวใจของการแก้ปัญหา แจ้ง-จบ ใน 1 ชม. การใช้เทคโนโลยี Intelligent Assistant ช่วยผู้ปฏิบัติงานทำงานด้วยข้อมูลที่ดี เน้นการตัดตอนแก๊งอาชญากรออนไลน์ โดยเฉพาะเรื่องบัญชีม้า ซิมม้า พร้อมด้วยการใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ที่ดี การทำงานแบบบูรณาการ การทำงานมีกลยุทธ์ จะลดปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะหลอกลวงทางการเงินให้เหลือใกล้ศูนย์ได้” รัฐมนตรีดีอี กล่าวในตอนท้าย