27 ก.ย. 2566 487 0

จีเอเบิล เปิดยุทธศาสตร์สร้าง Tech Talent เจนใหม่ ตอบโจทย์ความสำเร็จธุรกิจ Tech Enabler ในอนาคตอย่างยั่งยืน

จีเอเบิล เปิดยุทธศาสตร์สร้าง Tech Talent เจนใหม่ ตอบโจทย์ความสำเร็จธุรกิจ Tech Enabler ในอนาคตอย่างยั่งยืน

เมื่อ Digital Transformation กลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจทุกอุตสาหกรรมในประเทศไทยต้องขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้ทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมีความต้องการบุคลากรไอทีที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เข้ามาสนับสนุนงานในหลายส่วนตั้งแต่งานวางโครงสร้างพื้นฐานไอทีไปจนถึงงานวางระบบฐานข้อมูลและพัฒนาแอปพลิเคชันจำนวนมาก ส่งผลให้แนวโน้มตลาดงานด้านไอทีมีความต้องการสูงมากขึ้นทุกวันเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคดิจิทัล ข้อมูลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พบว่า ประเทศไทยมีความต้องการแรงงานด้านดิจิทัลปีละ 100,000 คน แต่ระบบการศึกษาของไทยผลิตได้เพียงชปีละ 30,000 คน ทำให้ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ไม่สามารถหาแรงงานด้านดิจิทัลได้เทียบเท่ากับบริษัทขนาดใหญ่


กมลทิพย์ สรรพศรี รองประธานบริหารอาวุโสฝ่ายการจัดการสร้างและติดตั้งระบบ บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) เผยว่า ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิตอลและไอทีโซลูชันที่ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษของจีเอเบิล รวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตรระดับโลกกว่า 100 องค์กร จีเอเบิล ในฐานะ “Tech Enabler” ของประเทศผู้ให้บริการด้าน Technology Solutions ที่ครอบคลุมระบบ Cybersecurity, Data and Analytics รวมถึงการสร้างและพัฒนา Business Application ต่างๆ ให้แก่ลูกค้าเกือบทุกอุตสาหกรรมชั้นนำในประเทศไทย เราจึงมั่นใจในความพร้อมและศักยภาพของทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีในแต่ละ Domain ที่จะเข้ามาช่วยสร้างไอทีเจนใหม่ให้เติบโตอย่างแข็งแรงในสายงานนี้ เพราะเรามองว่าคนคือทรัพยากรไอทีที่สำคัญของเรา และเล็งเห็นถึงการเผชิญหน้ากับ Digital Transformation การแข่งขันของทุกภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านไอทีในประเทศไทยจำนวนมากในปัจจุบัน


ซึ่งจุดเริ่มต้นกว่าจะมาเป็นโครงการ “Tech Scoop Academy” ในวันนี้ เราผ่านการทำโปรเจ็คเพื่อเฟ้นหา Software Tester และ Data Engineer มาแล้ว โดยเริ่มจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษาที่มีความรู้ด้านไอที ชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยใช้รูปแบบการส่งหัวหน้า Business Unit ในบริษัทไปเป็นอาจารย์สอน Software Tester และ Data Engineer คลาสละ 20 คน เป็นระยะเวลา 1 ปี ทำให้จีเอเบิลมีเด็กที่ผ่านการสอนโดยผู้เชี่ยวชาญของจีเอเบิลและได้เข้ามาเป็นพนักงานของจีเอเบิลเป็นกลุ่มแรก


โปรเจ็คต่อมาที่มีการพัฒนาต่อยอดจากโปรเจ็คแรกคือ “G-Freshy Project” เป็นโปรเจ็คที่เราตั้งใจจะสร้างศูนย์เรียนรู้ด้านไอทีให้กับเด็กจบใหม่เสมือนเป็นการเพาะต้นกล้าจากเมล็ดเล็กๆ ก่อนนำต้นกล้าลงแปลงใหญ่ เพราะเราอยากให้เด็กที่ผ่านการฝึกมาแล้วสามารถเข้าทีมและลงหน้างานจริงกับพี่ๆ ได้เลย ซึ่งเราได้มุ่งไปทาง Developer ก่อนเพราะตลาดมีความต้องการแรงงานสูง อีกทั้งในส่วนของ Developer มี Framework ที่หลากหลายทีมงานจึงเลือก Spring Framework ออกมาเป็นการสอนเรื่อง Java Framework และ Basic SQL โดยที่ยังไม่มีการสอนในส่วนของ Soft Skills ประกอบกับได้มีการพูดคุยกับสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย และได้รับไอเดียที่น่าสนใจมาว่ามีเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้จบสายไอที (NON-IT) แต่มีความรักและตั้งใจที่อยากเติบโตด้านไอที ได้พาตัวเองเข้ามาเรียนรู้ที่สมาคมฯ ทีมงานจึงรับเด็กกลุ่มนี้เข้ามาฝึกร่วมกันกับกลุ่ม “G-Freshy” ซึ่งผลลัพธ์จากงานของเด็กที่ผ่านการฝึกสอนในโปรเจ็คนี้ พบว่า เด็กกลุ่มที่ไม่ได้จบสายไอที (NON-IT) แต่มีใจรัก จะมีความกระตือรือร้น และ productivity ดีกว่า ทำให้มุมมองของทีมงานจีเอเบิลเปลี่ยนไป และมีความตั้งใจที่จะปั้นเด็กกลุ่มที่ไม่ได้จบสายไอที (NON-IT) อย่างจริงจัง เพราะเราเห็นแล้วว่าเด็กกลุ่มนี้ผ่านประสบการณ์ทำงานมาแล้ว รู้แล้วว่าตัวเองมีความชื่นชอบงานสายไอที แล้วอยากจะโตไปเป็นโปรแกรมเมอร์ ทีมงานจึงคิดว่าควรจะเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ สร้างโอกาสในสายงานอาชีพนี้ให้แก่พวกเรา จึงคิดภาพต่อและการเตรียมความพร้อมด้วยการสร้าง Ecosystem ในบ้านจีเอเบิลให้พร้อมสำหรับการเพาะต้นกล้าที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นกว่าเดิม


จีเอเบิลจึงได้คิดและเริ่มโครงการ “Tech Scoop Academy” Batch#1 ขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ที่มีใจรักอยากเรียนรู้และเติบโตในสายไอทีได้เข้ามาร่วมงานกับจีเอเบิลตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปีพ.ศ.2565 โครงการนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่ม IT ที่เป็นการนำเทคโนโลยี ด้านการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล เครือข่ายการสื่อสาร การประมวลผลแบบคลาวด์ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และการพัฒนาซอฟต์แวร์  ซึ่งต้องอาศัยความรู้ในระดับสูง และต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา ประกอบกับการลงมือทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความรู้ความชำนาญ และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดัน และปรับเปลี่ยนธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งตำแหน่งในกลุ่ม IT นี้ ได้แก่ software developer, data engineer, cloud engineer ฯลฯ โดยเป็นการผนึกกำลังของทุกฝ่ายสำคัญในจีเอเบิลเข้ามาช่วยกันสร้างศูนย์เพาะต้นกล้าด้านไอที สำหรับผู้ที่มีความสนใจด้านไอที แต่ไม่มีพื้นฐานด้านไอทีมาก่อน ให้สามารถก้าวเข้าสู่สายอาชีพใหม่และเติบโตได้อย่างแข็งแรง โดยที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับค่าตอบแทนตลอดระยะเวลาของโครงการ

ตลอดระยะเวลา 4 เดือน ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะที่ถูกออกแบบขึ้นมาโดย Instructor ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะแต่ละสาขา เพื่อให้เกิดทักษะใหม่ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยได้มีการนำ Agile Methodology และนวัตกรรมด้าน AI อย่าง Chat GPT เข้ามาช่วยขับเคลื่อนทั้งในเรื่องการวาง Framework การออกแบบหลักสูตร การสร้างความร่วมมือระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลาย (Diversity) ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง รวมถึงการสร้าง Eco System ที่ช่วยกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของผู้เข้าร่วมโครงการได้อย่างดีเยี่ยม พร้อมทั้งยังได้นำหลักการบริหารและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเรื่องของการบริหารความเปลี่ยนแปลง (Change Management), หลักการ Agile (Adapt to change), หลักการ Learn, Unlearn, Relearn, การส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Experimental Learning) เข้ามาใช้ในโครงการนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีการพัฒนาทักษะครบ 3 ด้านทั้ง Technical Skills, Core Competency และ Culture นอกจากนี้เรายังมีแพลตฟอร์มสำหรับเรียนรู้ด้านไอทีด้วยตัวเองตลอด 24 ชั่วโมงให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ในชื่อ “Learnable” อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดคือสิ่งที่ทีมงานจีเอเบิลตั้งใจที่จะสร้างความแข็งแกร่งและความพร้อมให้ผู้ที่ผ่านหลักสูตรการพัฒนาจากโครงการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้องค์กรเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของอาจารย์ที่สอนแต่ละ Batch จะเป็นพนักงานของจีเอเบิลในระดับหัวหน้างาน ซึ่งมีความรู้ความชำนาญ มีความสามารถในการถ่ายทอดที่ดี สามารถรับฟังปัญหาและปรับบทเรียนที่เหมาะสมสำหรับเด็กกลุ่ม (NON-IT) ให้สามารถทำความเข้าใจในเรื่องไอทีที่ยากได้ หลังจากเรียนเนื้อหาหลักด้านต่างๆ เสร็จแล้ว ได้มีการให้น้องๆ ร่วมกันคิดโครงงาน เพื่อนำความรู้ทั้งด้าน Programming, Database, Web Application มาสร้างเป็น Software จริงเพื่อไปนำเสนอในวัน pitching โดยจะมีพี่ๆ ตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเป็นคณะกรรมการในการคัดเลือกน้องๆ ไปร่วมฝึกงานที่หน้างานจริง (on the job training) โดยมีทีมพี่เลี้ยงคอยดูแลประกบดูแลตลอดการทำงาน ก่อนที่จะรับเข้ามาเป็นพนักงานของจีเอเบิล

ซึ่งผลลัพธ์จากการบ่มเพาะต้นกล้าจากโครงการ “Tech Scoop Academy” Batch#1 มีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ามาร่วมงานกับจีเอเบิลอยู่ที่ 75% ผลลัพธ์จากการบ่มเพาะสาย Data Science & Data Engineer ใน Batch #2 มีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกให้มาร่วมงานกับจีเอเบิลอยู่ที่ 80% ในส่วนของ “Tech Scoop Academy” Batch#3 ที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่ในขณะนี้จะเป็นรับสมัครสาย Developer อีกครั้ง ส่วนแผน Batch ในอนาคตอันใกล้ก็ตั้งใจจะรับสมัครสาย Cloud Engineer, Data Analytics รวมถึงขยาย Key Domain อื่นๆ และอาจจะมีการร่วมมือกับ AI Engineer ในการเรียนการสอน ซึ่งตั้งเป้าเปิด Batch ไม่น้อยกว่า 2 Batch ต่อปี เพื่อเร่งการสร้าง Tech Talent ออกมาตอบโจทย์ความต้องการแรงงานด้านไอทีในประเทศไทย”

เก่ง - ธีรพล คำวัน ผู้เข้าร่วม “Tech Scoop Academy” Batch#1 ปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง Application Migration and transformation เผยว่า “ในมุมมองของผมในฐานะที่เรียนจบคณะนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สาขาวิศวกรรมระบบการผลิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมีประสบการณ์ทำ UX/UI มาก่อน มองว่าหากผู้เข้าโครงการไม่มีพื้นฐานด้านเทคมาเลยนับว่าเป็นอะไรที่ยากมาก แต่อาจารย์ที่สอนในคลาสนี้ได้ออกแบบเนื้อหาความรู้พื้นฐานที่ค่อนข้างเหมาะกับการทำงาน และเหมาะสมกับการต่อยอดไปต่อได้ด้วยตนเอง เวลาที่ตามไม่ทันเพื่อนก็รู้จุดที่ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเองได้จุดสำคัญที่ได้เรียนรู้มากที่สุดคือการได้ลองลงมือทำจริง ระหว่างคลาส เพื่อนๆ ก็ช่วยเหลือและให้คำปรึกษากันตลอดเวลา รวมถึงแชร์ไอเดียใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเจอ อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้คือทักษะด้าน Soft Skills ตอนแรกก็คิดทำไมต้องเรียน แต่พอต้องคุยงานกับเพื่อนร่วมงานหรือพี่ๆ ในทีม มันได้ใช้ทักษะนี้ไม่มากก็น้อยจริงๆ และรู้เลยว่าเป็นทักษะที่ช่วยให้เราไปถึงสิ่งที่เราอยากเป็นได้ครับ ในส่วนของการทำงานจริงค่อนข้างแตกต่างจากสิ่งที่เรียน เพราะผมได้ทำงานแนว Migration  ซึ่งอาจจะแตกต่างจากเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน เป็นอะไรที่ใหม่มากครับ แต่ด้วยความที่เรามีพื้นในด้าน code มาก่อน  ทำให้จับจุดได้ไม่ยากและใช้เวลาเรียนรู้ได้ค่อนข้างเร็ว เพราะความรู้เรียนในคลาสสามารถนำไปต่อยอดได้ครับ ทุกวันนี้ผมดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีเอเบิล และขอบคุณตัวเองที่กล้าก้าวเข้ามาเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำงานที่ตัวเองชอบและสนุกกับการเรียนรู้ในสายงานนี้ ผมบอกตัวเองเสมอว่าผลจะเก่งขึ้นในทุกๆ วัน เท่านี้ผมก็ภูมิใจในตัวเองแล้วครับ”

แตงกวา – อภิญญา สิมะเสถียร ผู้เข้าร่วม “Tech Scoop Academy” Batch#2 ปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง  Data Analyst เผยว่า “ส่วนตัวเรียนจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรู้สึกดีใจที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาร่วมโครงการนี้ ทำให้เห็นว่าถึงแม้เราจะมาจากพื้นที่และแวดวงที่แตกต่างกัน แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเรากลายเป็นเหมือนครอบครัวที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อได้เข้าร่วมโครงการ “Tech Scoop Academy” ส่วนตัวรู้สึกเหมือนได้เปิดโอกาสใหม่ในชีวิต ไม่เพียงแค่ได้เรียนรู้ความรู้ใหม่ แต่ยังได้พบกับครูผู้เชี่ยวชาญและพี่ๆ ที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในงานจริง ทำให้เราได้นำเสนอความคิดและได้รับความรู้ที่ตรงประเด็น การเรียนรู้ในโครงการนี้ไม่เพียงแค่เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ และเทคนิคต่างๆ แต่เป็นการสร้างพื้นที่สำหรับการเติบโตอย่างครบวงจร ผ่านการพัฒนาทักษะทางเทคนิคและการพัฒนาตนเองในด้านที่สำคัญ ไม่เพียงแค่เราได้เรียนรู้เครื่องมือและเทคนิคต่าง ๆ แต่ยังได้ฝึกทักษะระหว่างบุคคล เช่น การทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน และการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเสริมสร้างเรื่องราวในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ส่วนตัวมั่นใจว่าเราไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ที่เรียนจบในหลักสูตรนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นและพร้อมที่จะตามหาความรู้และประสบความสำเร็จในอนาคตที่เราจะสร้างขึ้น พร้อมกับทักษะที่ได้พัฒนาขึ้นจากโครงการนี้ รู้สึกขอบคุณบริษัทจีเอเบิลที่เป็นส่วนสำคัญในการทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นและมีความหมาย โครงการนี้ไม่เพียงแค่เป็นการเรียนรู้ แต่เป็นพื้นที่แห่งโอกาสและเตรียมความพร้อมให้เราทุกคนเดินสู่อนาคตที่แสนสดใสและเต็มไปด้วยความสำเร็จ ด้านไอทีพี่ๆ ทุกคนเป็นสุดยอดกูรูด้าน Data ที่ไม่ได้เป็นเพียงอาจารย์ที่ถ่ายทอดความรู้ให้พวกเราเท่านั้น แต่พี่ๆ ยังจุดประกายความอยากรู้อยากเห็นและความหลงใหลในตัวของพวกเราด้วย”