รมว.ดีอี เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลของประเทศ เดินหน้าสร้างข้อสรุปร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันแนวทางการดึงดูดกำลังคนดิจิทัลสาขาขาดแคลนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย หรือ Global Digital Talent Visa ชี้จะเป็นการสร้างประโยชน์และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรดิจิทัลให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย พร้อมมอบหมาย ดีป้า ดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงก่อนชงเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. ต่อไป
ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมหารือแนวทางการดึงดูดกำลังคนดิจิทัลสาขาขาดแคลนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย (Global Digital Talent Visa) กับ ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้แทนจากกรมการจัดหางาน โชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครอง ชวดล นิปธานนนท์ ผู้อำนวยการกองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สมศักดิ์ อนันทวัฒน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) กระทรวงการคลัง และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
ประเสริฐ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ กระทรวงดีอี ได้ร่วมหารือแนวทางการดึงดูดกำลังคนดิจิทัลสาขาขาดแคลนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย (Global Digital Talent Visa) กับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น อนุทิน เห็นควรที่จะดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ดังนั้น กระทรวงดีอี จึงได้ประชุมเพื่อหารือ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อนำสาระสำคัญมาประกอบการยกร่างประกาศกระทรวง ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และออกเป็นกฎกระทรวงในลำดับถัดไป
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี มองว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการกำลังคนดิจิทัลเฉลี่ยปีละ 100,000 คน แต่ภาคการศึกษาสามารถผลิตกำลังคนกลุ่มดังกล่าวได้เฉลี่ยปีละ 25,000 คนเท่านั้น ดังนั้น Global Digital Talent Visa จะเป็นการสร้างประโยชน์และช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรดิจิทัลให้กับภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของประเทศผ่านการนำเข้ากำลังคนจากต่างประเทศ โดย Global Digital Talent Visa เป็นการตรวจลงตรารูปแบบใหม่ มีอายุ 1 ปี ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่มีความสามารถด้านดิจิทัลสามารถเข้ามาพำนัก หางาน และทำงานในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ตลอดระยะเวลาการตรวจลงตรา โดยจะเปิดให้กับชาวต่างชาติ 2 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. กลุ่มผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล (Digital Talent Track) คือ ผู้ที่อยู่ระหว่างศึกษาหรือ
จบการศึกษาไม่เกิน 3
ปีในสาขาเทคโนโลยีและดิจิทัลจากมหาวิทยาลัยที่ได้รับการรับรองอันดับสูงสุด 600 อันดับของโลก หรือ
ผู้ที่อยู่ระหว่างศึกษาหรือจบการศึกษาไม่เกิน 3
ปีด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลในสาขาที่ขาดแคลนหรือมีความต้องการสูงโดย ดีป้า
จะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งผู้ขอรับการตรวจลงตราต้องมีเงินฝากในบัญชีธนาคารในประเทศที่เชื่อมโยงกับระบบ NDID ไม่น้อยกว่า 300,000 บาท และไม่สามารถโอนเงินออกจากประเทศได้
อีกทั้งไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
2. กลุ่มดิจิทัลโนแมด (Digital Nomad Track) คือ ผู้ที่มีความสามารถด้านดิจิทัล
โดยต้องแสดงหลักฐานการจ้างงานในตำแหน่งด้านดิจิทัล
หรือหลักฐานการมีรายได้จากงานด้านดิจิทัลจากประเทศต้นทาง ซึ่งผู้ขอรับการตรวจลงตราต้องมีเงินฝากในบัญชีธนาคารในประเทศที่เชื่อมโยงกับระบบ
NDID
ไม่น้อยกว่า 600,000 บาท และไม่สามารถโอนเงินออกจากประเทศได้
อีกทั้งไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
“แนวทางการดึงดูดกำลังคนดิจิทัลสาขาขาดแคลนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย (Global Digital Talent Visa) เป็นการดำเนินการที่ไม่มีต้นทุนเป็นตัวเงิน เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายและมาตรการทางภาษีมาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ชาวต่างชาติที่ยื่นขอ Global Digital Talent Visa จะสามารถต่อยอดไปสู่วีซ่าประเภทอื่น ไม่ว่าจะเป็น Non-Immigrant Visa, SMART Visa และ Long-Term Resident Visa (LTR Visa) ซึ่ง กระทรวงดีอี ประเมินว่า ภายในระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินการจะสามารถดึงดูดผู้ที่มีความสามารถด้านดิจิทัลเข้ามาเติมเต็มความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของประเทศได้” รมว.ดีอี กล่าว
ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานได้รับทราบแนวทางการดึงดูดกำลังคนดิจิทัลสาขาขาดแคลนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย (Global Digital Talent Visa) โดย รมว.ดีอี ได้มอบหมายให้ ดีป้า เร่งดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงพร้อมระบุถึงกระบวนการดำเนินงาน ประเภทและคุณสมบัติต่าง ๆ โดยละเอียด ก่อนหารือกับคณะทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบ และเมื่อร่างประกาศกระทรวงผ่านความเห็นชอบแล้วให้ส่งเรื่องเวียนถึงหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำงานไปพร้อมกัน ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้คอขวดให้ประเทศไทยมี Ease of Doing Business และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) ในอนาคต