18 ต.ค. 2566 275 0

หัวเว่ย, มูลนิธิอาเซียน, และซีมีโอ ผลักดันบุคลากรดิจิทัลรุ่นใหม่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในงาน Seeds for the Future Summit 2023

หัวเว่ย, มูลนิธิอาเซียน, และซีมีโอ ผลักดันบุคลากรดิจิทัลรุ่นใหม่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในงาน Seeds for the Future Summit 2023

ผนึกกำลังเพื่อยุคดิจิทัลที่เท่าเทียม: หัวเว่ย, มูลนิธิอาเซียน, และซีมีโอ ผลักดันบุคลากรดิจิทัลรุ่นใหม่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในงาน Seeds for the Future Summit 2023 ความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยและ ITU ปูทางสู่การพัฒนาดิจิทัลที่ยั่งยืนในภูมิภาค

หัวเว่ย, มูลนิธิอาเซียน, และองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีมีโอ (SEAMEO) ร่วมผนึกกำลังเพื่อเสริมศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัล เปิดฉากโครงการ Seeds for the Future Summit 2023 ภายใต้แนวคิด ‘เชื่อมต่อ, ปลูกฝัง, ผลักดันการเติบโตอย่างครอบคลุม ให้แก่บุคลากรดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก’ โดยมีเยาวชนมากความสามารถจากโครงการ Seeds for the Future เข้าร่วมการประชุมถึง 91 คน จาก 19 ประเทศในภูมิภาค ซึ่งโครงการ Seeds for the Future นับเป็นโครงการสำคัญของหัวเว่ย ตอกย้ำถึงบทบาทของเยาวชนในการพลิกโฉมอนาคตดิจิทัลให้แก่เอเชียแปซิฟิก


เจ้าหน้าที่รัฐและตัวแทนจากนานาประเทศในอาเซียนและองค์กรระหว่างประเทศ ร่วมเฉลิมฉลองการเติบโตของบุคลากรผู้มีศักยภาพด้านดิจิทัลในภูมิภาคร่วมกับนักศึกษา 91 คนจาก 19 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

โครงการ Seeds for the Future ได้รับการเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยมีเป้าหมายเพื่อบ่มเพาะผู้มีศักยภาพด้านไอซีทีในประเทศไทย และมอบโอกาสด้านการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูง สัมผัสความหลากหลายด้านวัฒนธรรม และต่อยอดด้วยการขยายครอบคลุมถึง 137 ประเทศในหลายประเทศและภูมิภาค โดยในโครงการ Seeds for the Future 2023 บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัดได้เฟ้นหานักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสาขาเทคโนโลยีสื่อสารและวิศวกรรมไฟฟ้า ตลอดจนคณะด้านภาษาและการบริหารธุรกิจ เพื่อบ่มเพาะผู้มีศักยภาพด้านไอซีทีที่มีทักษะรอบด้านสำหรับรองรับอนาคต นอกจากนี้ หัวเว่ย ประเทศไทย ยังผลักดันและสนับสนุนนักศึกษาที่สนใจฝึกงานหรือร่วมงานกับหัวเว่ยในอนาคต รวมถึงดำเนินโครงการอบรมพัฒนาผู้มีความสามารถด้านไอซีทีอีกมากมายตลอดทั้งปี ซึ่งรวมถึงโครงการ ICT Cloud Developer โดยปัจจุบัน หัวเว่ยได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับบุคลากรด้านดิจิทัลไปแล้วกว่า 70,000 รายในประเทศไทย และวางแผนที่จะฝึกอบรมนักพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านคลาวด์เพิ่มเติมอีก 20,000 ราย มุ่งหนุนศักยภาพบุคลากรเพื่อเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลของเอเชียแปซิฟิกในอนาคต

ไซมอน หลิน ประธานกรรมการบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หัวเว่ย ได้เน้นย้ำถึงแนวคิดของการประชุมสุดยอดในครั้งนี้ว่า “ปีนี้ นับเป็นปีที่สามที่หัวเว่ยได้ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Asia Pacific Seeds for the Future Summit และทุกปีเราจะเห็นพัฒนาการและการเติบโตของโครงการ ทั้งยังมีเครือข่ายพาร์ทเนอร์ที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น แต่สามสิ่งหลักที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปคือ ความร่วมมือ ความมุ่งมั่น และการร่วมผลักดันศักยภาพเยาวชน”

การประชุมสุดยอดครั้งนี้เปิดฉากด้วยขบวนพาเหรดหลากหลายวัฒนธรรม โดยมีตัวแทนจาก 19 ประเทศสวมชุดประจำชาติเข้าทักทายผู้ร่วมงาน และนำเสนอจุดเด่นของวัฒนธรรมประจำชาติอย่างภาคภูมิใจ ระหว่างพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ นายเกา กิม ฮวน เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กล่าวว่า “ผมสนับสนุนโครงการที่ริเริ่มโดยภาคเอกชนที่มีวิสัยทัศน์ในการดึงดูดและมุ่งบ่มเพาะบุคลากรผู้ที่มีความสามารถด้านดิจิทัล เช่นโครงการ Seeds for the Future ผมหวังว่าโครงการนี้จะมอบโอกาสเติบโตแก่เยาวชน และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้หญิง ผู้ทุพพลภาพ และผู้อาศัยในพื้นที่ห่างไกล เพื่อสร้างสังคมแห่งการมีส่วนร่วมและกลมกลืนกันอย่างสมดุล”

หู ยาน ชี เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำอาเซียน กล่าวชื่นชมว่า “โครงการนี้ไม่เพียงแต่ปลูกฝัง ‘เมล็ดพันธุ์’ แห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของนานาประเทศในภูมิภาคอาเซียน แต่ยังสร้างแรงผลักดันในการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศจีนและอาเซียนอีกด้วย” นอกจากนี้ นายแอม เฮง สาริธ ผู้แทนแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาประจำภูมิภาคอาเซียน และประธานคณะกรรมการมูลนิธิอาเซียน ยังได้แสดงความขอบคุณต่อหัวเว่ยสำหรับความร่วมมือกับมูลนิธิอาเซียน ในการผลักดันเวทีเสริมศักยภาพเยาวชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อต่อยอดพัฒนาทักษะดิจิทัลและขยายเครือข่ายของเหล่าเยาวชนมากความสามารถในระดับนานาชาติ

ดร. กฤษฎ์ชัย สมสมาน ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษา (STEM Education) ขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการบ่มเพาะบุคลากรผู้มีทักษะดิจิทัลว่า “ในภูมิทัศน์ดิจิทัลที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลจึงมีความสำคัญยิ่งกว่าที่เคย และจะเป็นกุญแจสำคัญในการเร่งการเติบโต เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว รวมถึงเพิ่มอำนาจต่อรองในการพลิกโฉมอุตสาหกรรม เศรษฐกิจและสังคม โดยหัวใจสำคัญของโครงการ Seeds for the Future ออกแบบมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและบ่มเพาะผู้นำรุ่นใหม่ต่อไป”

ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ หัวเว่ยและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union - ITU) ประกาศความร่วมมือที่มุ่งเน้นความร่วมมือทางดิจิทัล 6 ประการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงนโยบายและหลักปฏิบัติด้านไอซีที, ความร่วมมือด้านการวิจัย, โครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุม, การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล, การเสริมศักยภาพเยาวชนและเด็กผู้หญิง และการแบ่งปันความรู้ด้านดิจิทัล


ไซมอน หลิน ประธานบริษัทหัวเว่ย เอเชียแปซิฟิก (ที่ 4 จากซ้าย) และ อัตสึโกะ โอคุดะ ผู้อำนวยการสำนักงาน ITU ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ที่ 4 จากขวา) ร่วมเป็นสักขีพยานในการประกาศความร่วมมือระหว่างสององค์กร

งานประชุมสุดยอดครั้งนี้ปิดฉากด้วยการเสวนา ซึ่งนำโดย ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน คณะผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ตัวแทนจากหัวเว่ยและผู้เข้าร่วมโครงการ Seeds for the Future โดยเจาะลึกความซับซ้อนในการบ่มเพาะผู้นำแห่งโลกอนาคตด้วยการลดช่องว่างทางดิจิทัล ตลอดจนบริหารควบคุมและบ่มเพาะทักษะด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง


ผู้ร่วมเสวนา: ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน, ดร. โก๊ะ ป๋วย กวน รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์, จีซีล ไอเจเลธ รามอส แอมบาสเดอร์ระดับโลกของโครงการ Seeds for the Future, ธัญญ์ฐิตา อนันต์จารุเลิศ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด 5G และแอมบาสเดอร์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของหัวเว่ย, เกล็นน์ โชว, ผู้คว้ารางวัลผู้นำ Seeds for the Future 2023 (จากซ้ายไปขวา)

ก่อนการประชุมครั้งนี้ เหล่านักศึกษาทั้ง 91 คนยังได้เข้าศึกษาดูงานที่บริษัทหัวเว่ย ในเมืองเซินเจิ้นและตงกวนสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งได้สัมผัสประสบการณ์และเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกอันเป็นเอกลักษณ์ในด้านต่าง ๆ เช่น ทฤษฎีข้อมูล, พลังงานดิจิทัล, เทคโนโลยียานยนต์, และความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยหัวเว่ยได้ร่วมกับมูลนิธิอาเซียนและ ITU เพื่อคัดเลือกกลุ่มนักศึกษาระดับหัวกะทิจากหลายประเทศ ได้แก่เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น บังกลาเทศ, เนปาล, ศรีลังกา, มัลดีฟส์, ฟิจิ, และหมู่เกาะโซโลมอน

ในก้าวต่อไป หัวเว่ย ประเทศไทย จะร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (MHESI), และกระทรวงแรงงาน ตลอดจนมหาวิทยาลัยและพันธมิตรชั้นนำหลายแห่ง เพื่อจัดงาน Talent Summit ในประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับหัวเว่ยและหน่วยงานภาครัฐในการผสานความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการศึกษาและขยายโอกาสการจ้างงานสำหรับบัณฑิตใหม่ สอดคล้องกับพันธกิจของหัวเว่ยในการสร้างคุณค่าใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล ที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างครอบคลุม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคตต่อไป