ในยุคปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของผู้คน จนส่งผลให้หลากหลายธุรกิจต้องเร่งปรับตัวให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ซึ่งตัวธุรกิจหรือองค์กรที่ปรับตัวไม่ทันอาจต้องเผชิญเข้ากับวิกฤต Digital Disruption อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นวันนี้ OPEN-TEC ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Tech Knowledge Sharing Platform) ภายใต้การดูแลของ TCC Technology Group ได้หยิบยกส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาที่ให้เกียรติมาร่วมมาแบ่งบันประสบการณ์และแนวทางการรับมือกับ Digital Disruption ของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในรายการ open talk มาแบ่งปัน หากใครไม่อยากตกขบวนแล้วละก็ต้องรีบศึกษาไว้เลย
ในช่วงหลายปีมานี้ คำว่า Digital Disruption คงเป็นคำที่หลายท่านคุ้นหูและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งถือได้ว่าเป็นกระแสความตื่นตัวที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสังคมรอบตัวของเราไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะมันคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นถึงจุดที่สร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นได้ทั้งผลิตภัณฑ์ แพลตฟอร์ม หรือโมเดล และเกิดผลกระทบต่อมูลค่าของสินค้า บริการ หรือผลิตภัณฑ์เดิมที่มีในตลาด นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พัฒนาและก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทั้งทางธุรกิจ สังคม และวัฒนธรรมเลยก็ว่าได้
โดย ปฐม อินทโรดม กรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวไว้ในรายการ open talk EP.21 : แนวโน้มดิจิทัลเขย่าโลก ว่า “เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างแน่นอน อยู่ที่เราว่าจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นหรือแย่ลง ซึ่งผลกระทบย่อมมีอยู่เสมอ หน้าที่ของเรา คือ ต้องช่วยกันลดช่องว่างและปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลจริงจังมากขึ้น ท้ายที่สุดนี้ ผมอยากเห็นคนไทยมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ แล้วเอาเทคโนโลยีมาต่อยอด อย่าหยุดเรียนรู้ แล้วเราจะอยู่รอดในอนาคต”
Digital Disruption เป็นปรากฏการณ์ที่ขับเคลื่อนโดยพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของผู้คนที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบันอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเทคโนโลยีที่มีความใหม่ ควรมีการนำไปใช้อย่าง มีวิจารณญาณ และต้องมีการศึกษาค้นคว้า รวมถึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ถูก Disrupt การวางแผนกลยุทธ์ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะช่วยให้การบริหารจัดการเรียนรู้ในยุค Digital Disruption นั้นประสบความสำเร็จ ไปสู่เป้าประสงค์ที่วางไว้
และจากการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลให้ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนเรามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ด้วยความเข้าถึงที่สะดวกสบายและรวดเร็ว แค่สมาร์ทโฟนเพียงหนึ่งเครื่องการจัดการกับกิจวัตรประจำวันจึงกลายเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัส ซึ่งนับได้ว่าเป็นยุค Mobile First หรือยุคที่สมาร์ทโฟนกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตเลยก็ว่าได้ และหลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งแรกที่ทำเมื่อตื่นนอนตอนเช้าคือการหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเพื่อเช็กข้อความจากช่องทางต่างๆ เสพข่าวบนโซเซียลมีเดีย การดูหนังฟังเพลง การชอปปิ้ง การจองที่พักและเที่ยวบิน ไม่เว้นแต่การทำธุรกรรมทางออนไลน์ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลในการทำกิจวัตรประจำวันอย่างมหาศาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้องค์กรและธุรกิจต่างๆ ต้องเร่งปรับตัว เร่งพัฒนาศักยภาพให้สามารถก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภคที่มีการหมุนเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว นับได้ว่าไม่มี Sector ไหนปลอดภัยจาก Disruption ได้เลย
Super App ผลจากการปรับตัวของธุรกิจในยุค Digital Disruption
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ปัจจุบันการใช้งานสมาร์ทโฟนมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ล้วนต้องการความสะดวก ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น การเข้าถึงสินค้าและบริการง่ายแค่เพียงปลายนิ้ว ด้วยเหตุนี้ทำให้ภาคธุรกิจล้วนอยากมี Super App เป็นของตนเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลากหลายธุรกิจเริ่มมีการเร่งเครื่องปรับตัวและพยายามเร่งพัฒนาแอปพลิเคชันของตนเอง ให้สามารถเป็นมากกว่าแค่แอปที่ทำงานแค่วัตถุประสงค์เดียว แต่เป็นแอปอเนกประสงค์ ที่รวบรวมบริการหลายอย่างไว้ในแอปเดียวกัน เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภคที่มีการหมุนเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วนี้
โดย สมคิด จิรานันตรัตน์ อดีตประธานกรรมการกสิกร บิซิเนส กรุ๊ป (KTBG), อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และอดีตผู้ก่อตั้งและ CEO คนแรกของ Settrade.com ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในรายการ open talk EP.23 : Super App (ซูเปอร์แอพ) แห่งชาติ ไว้ว่า“สิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ อยากเห็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่พัฒนาโดยคนไทย และสร้างชื่อให้เมืองไทย มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยจะต้องเป็นแพลตฟอร์มแบบเปิดที่มีบริการหลากหลาย สามารถ Scale up เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจได้ในอนาคต”
ดังนั้นดูเหมือนว่า Super App จะเป็นทางออกสำหรับหลายธุรกิจที่กำลังต้องการขยายตัว เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้อย่างเป็นวงกว้าง รวมถึงช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบายมากกว่าในอดีตอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนา Super App นั้นไม่ใช่ใครก็สามารถสร้างได้ และไม่ใช่อะไรที่สามารถทำได้ในเพียงไม่กี่วัน เพราะการพัฒนา Super App ให้ประสบความสำเร็จนั้นมีหลายปัจจัยนอกเหนือจากองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความรับผิดชอบ แต่หมายรวมไปถึงความรวดเร็วในการคิด พัฒนา ทดลอง และต่อยอดให้เกิดผลลัพธ์ตามคาดหวัง ซึ่งยังเป็นสิ่งที่หลายธุรกิจต้องการและขาดหายในยุคที่ทุกอย่างหมุนไปอย่างรวดเร็ว
การมาถึงของ Digital Disruption นับว่าเป็น "วิกฤต" ที่ต้องเปลี่ยนให้เป็น "โอกาส" ซึ่งการถูก Disrupt นี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถรับมือและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างเต็มที่ได้ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีหรือเครื่องมือบางอย่างมาใช้ เพื่อยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพและเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด และถึงแม้ว่าการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวธุรกิจนั้น จะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหา Digital Disruption ที่ตรงจุดและควรทำมากที่สุด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกธุรกิจจะสามารถทำได้เหมือนกันหมด บางองค์กรอาจต้องเผชิญเข้ากับปัญหาหรือข้อจำกัดบางอย่างเช่นในเรื่องค่าใช้จ่าย ความรู้ความเข้าใจที่ทำให้ไม่สามารถใช้งานนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีได้อย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นเพื่อให้การปรับตัวเกิดความลื่นไหล สามารถทำงานต่อได้ แม้จะเกิดความเปลี่ยนแปลง ตัวธุรกิจจึงต้องไม่ลืมวางรากฐานเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับองค์กรก่อนเป็นอันดับแรก
จากที่กล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาบางส่วนที่ OPEN-TEC ได้รวบรวมไว้จากรายการ open talk เท่านั้น
หากท่านต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าไปอ่านต่อได้ที่ :
https://www.open-tec.com/open-tec/th/opentalk-ep21-digital-trends-th/
https://www.open-tec.com/open-tec/th/open-talk-ep-23-super-app-th/