21 ต.ค. 2566 256 0

JSP กางแผน CDIP เชื่อมงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง หนุนผู้ประกอบการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ลุยขยายแพลตฟอร์มยาอัตโนมัติ 200 ตู้

JSP กางแผน CDIP เชื่อมงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง หนุนผู้ประกอบการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ลุยขยายแพลตฟอร์มยาอัตโนมัติ 200 ตู้

JSP ส่งบริษัทลูก CDIP บริษัท R&D สัญชาติไทย ผนึกกำลังปลดล็อกงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างหนุนประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ต่อยอดผลิตภัณฑ์เกษตรสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เป็นสะพานเชื่อมธุรกิจ SME และ รายย่อย ให้เข้าถึงงานวิจัย เพื่อยกรับสินค้าและธุรกิจสู่การยอมรับระดับสากล ตั้งเป้าต่อยอดงานวิจัย สู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพมูลค่าสูง มากกว่า 20 รายการต่อปี สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท กางโรดแมป ขยายฐานลูกค้า  เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่ม SME ด้วยบริการวิจัยพัฒนา บริการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ บริการตรวจสุขภาพตรวจเลือด จัดฝึกอบรมและเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ เป็นผู้จำหน่ายวัตถุดิบสู่อุตสาหกรรมอาหารและยา ต่อยอดการผลิตผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ตั้งเป้าขยายตู้ยาอัตโนมัติ 200 ตู้ ในปี 2567 แพลตฟอร์มตู้ยา 24 ชั่วโมง  เจาะกลุ่มโครงการที่อยู่อาศัย ทั้ง คอนโด อาพาร์ทเมนท์ หอพัก แหล่งชุมชน และโรงงานอุตสาหกรรม


สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (JSP) เปิดเผยว่า อีกหนึ่งธุรกิจหลักที่ผลักดันให้ JSP กลายเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจรคือ ธุรกิจด้านการวิจัยและพัฒนา และการต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ซึ่งถือเป็นหัวใจของการต่อยอดสู่การผลิตยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนและสัตว์ โดย JSP ขับเคลื่อนกระบวนการเหล่านี้ผ่าน บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CDIP ซึ่ง JSP ถือหุ้นอยู่จำนวน 65 % โดยธุรกิจของ CDIP นั้นไม่ได้สำคัญเฉพาะกับ JSP เท่านั้นแต่เป็นฟันเฟืองที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเพื่อก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ผ่านผู้ประกอบการรายย่อย และวิสาหกิจชุมชน เนื่องจากปัจจุบันสินค้าด้านสุขภาพของไทยมีจำนวนไม่น้อยที่มีคุณภาพสูงแต่ไม่สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้เนื่องจากไม่มีงานวิจัยรองรับ โดยอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงงานวิจัยได้ มาจากค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ธุรกิจของ CDIP จึงเป็นการเปิดกว้างให้ SME และผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงการทำวิจัยและยกระดับสินค้าให้สามารถตีตลาดต่างประเทศได้กว้างขึ้น การก้าวข้ามข้อจำกัดนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

ธุรกิจของ CDIP ถือเป็นธุรกิจด้านการรับจ้างวิจัยเชิงวิชาการในห้องปฏิบัติการ รับจ้าง ทดสอบและวิเคราะห์ผลทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงจัดงานฝึกอบรมและสัมมนา และส่วนงานให้คำปรึกษาการยื่นขอทุนวิจัยด้านการวิจัยและพัฒนา โดย JSP ตั้งเป้านำ CDIP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ภายในปี 2568 และในระยะยาวไม่เกิน 5 ปี ตั้งเป้าเข้าจดทะเบียนในตลาด Mai 


จิรรัตน์ พวงนุ้ย Chief Innovation Officer (ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม) CDIP เปิดเผยว่า บริษัทประกอบธุรกิจต้นน้ำผู้ให้บริการวิจัยและพัฒนา วิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ พัฒนาสูตรและรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ตั้งโดยกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ สายเลือดนักวิจัย เนื่องจากเห็นช่องว่างของความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ผลิตงานวิจัย นักวิจัย ผู้ใช้งานวิจัย ในอุตสาหกรรมต่างๆ และผู้บริโภคงานวิจัย หมายถึงตลาดและผู้บริโภค  จึงต้องการเชื่อมโยงของทั้ง 3 ส่วน เข้าด้วยกัน เพื่อนำงานวิจัยไทยมาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์และผลิตเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ ทั้งกลุ่มอาหารเสริม เครื่องดื่ม สมุนไพร และเครื่องสำอาง ออกสู่ตลาดได้จริง เน้นการต่อยอดงานวิจัยไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบเพื่อสุขภาพจากไทยสู่ตลาดโลกเสริมสร้างความแข็งแกร่งและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตร และสมุนไพรไทย


CDIP มีห้องแล็บขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล และเครือข่ายนักวิจัย ระดับปริญญาเอก ทั้งจาก สวทช.และอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งของ CDIP และมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งจะสนับสนุนให้ CDIP  สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการยกระดับงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ได้ด้วยเงินทุนที่ไม่มากเหมือนกับบริษัทใหญ่ ในต่างประเทศ


นอกจากนี้ CDIP ยังมีในธุรกิจปลายน้ำ ซึ่งเป็นนวัตกรรมแพลตฟอร์มตู้จำหน่ายยาอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ผ่านตู้กดยา Medis ทำการจำหน่ายยาสามัญประจำบ้าน ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ ซึ่งจะมาแก้ข้อจำกัดของการเข้าถึงยาในเวลากลางคืนที่ร้านขายยาปิดให้บริการแล้ว รวมถึงแก้ข้อจำกัดในเรื่องเภสัชกรประจำร้านขายยาที่ขาดแคลนอยู่ปัจจุบันให้บริการจำนวน 44 ตู้ มียาสามัญประจำบ้านให้บริการ 40 รายการต่อตู้ มีแผนขยายจำนวนตู้ในปีหน้า เพิ่มขึ้น 200 ตู้ และเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ตู้ในอนาคตเน้นขยายไปยังโครงการที่อยู่อาศัย  โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งชุมชน  อย่างไรก็ดีในอนาคตตู้ Medis จะสามารถให้บริการปรึกษาเภสัชกรออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยแก้ไขข้อจำกัดที่มีในปัจจุบันให้คนไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพและยารักษาโรคที่มีคุณภาพมากขึ้น