27 ต.ค. 2566 33,861 7

ดีอี หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เผย 5 มาตราการ แก้ปัญหาซื้อขายออนไลน์แบบเก็บเงินปลายทาง (COD)

ดีอี หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เผย 5 มาตราการ แก้ปัญหาซื้อขายออนไลน์แบบเก็บเงินปลายทาง (COD)

รัฐมนตรีดีอี เผยกังวลกับคดีหลอกลวงออนไลน์ โดยเฉพาะซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่มีจำนวนคดีสูงมาก จึงได้สั่งการให้เร่งเสนอมาตรการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการเก็บเงินปลายทาง (COD) ที่คนร้ายชอบใช้


กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หารือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แนวทางการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ แบบเก็นเงินปลายทาง Cash On Delivery (COD) ที่ประชุม สรุปเบื้องต้น 5 มาตรการ  การพิสูจน์ตัวตนผู้ส่งสินค้า – การกำหนดระยะเวลาการถือเงินค่าสินค้า – การบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการส่งสินค้า - การให้ข้อมูลผู้บริโภค - การเฝ้าติดตามพฤติกรรมการส่งพัสดุของผู้ส่งสินค้า



เวทางค์  พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ เปิดเผยว่า รัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง ได้มอบหมายให้ สุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช  ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ได้เป็นประธานหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด สภาองค์กรของผู้บริโภค แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ มายออเดอร์ สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย และตัวแทน บริษัทขนส่งพัสดุ หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ กรณีใช้ช่องทาง Cash On Delivery (COD)



ในที่ประชุม ได้มีการหารือเรื่อง ร่างข้อเสนอ แก้ปัญหาค้าขายออนไลน์ แบบเก็บเงินปลายทาง  (Cash On Delivery  หรือ COD)  5 ข้อ ดังนี้

1. การพิสูจน์ตัวตนผู้ส่งสินค้า

2. การกำหนดระยะเวลาการถือเงินค่าสินค้า

3. การบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการส่งสินค้า

4. การให้ข้อมูลผู้บริโภค

5. การเฝ้าติดตามพฤติกรรมการส่งพัสดุของผู้ส่งสินค้า



ด้าน ผู้แทน บช.สอท. กล่าวว่า ตำรวจมีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปรามการหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ ข้างต้น ซึ่งในส่วนของการป้องกัน มีการจัดเก็บข้อมูลของผู้ขายสินค้าที่หลอกลวง ก็อาจจะเป็นการป้องกันได้ส่วนหนึ่ง ในส่วนของการปราบปราม ควรจะได้รับความร่วมมือจากบริษัทขนส่ง พบเหตุน่าสงสัย ช่วยเร่งส่งข้อมูลให้ทางตำรวจดำเนินการทางคดีด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า ควรมีฐานข้อมูลกลาง เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสม กับผู้ซื้อ และใช้แลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันปราบปรามโจรออนไลน์ ได้ดียิ่งขึ้น