กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ชวนธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลยักษ์ใหญ่ Food Delivery ร่วมให้ความคิดเห็นในแนวทางแก้ไขปัญหาที่สะท้อนมาจากผู้ใช้บริการ ภายใต้กฎหมาย DPS ทั้งในเรื่องมาตรฐานเทคโนโลยีการให้บริการ ตลอดจนการนำประเด็นร้องเรียนที่ได้รับตามช่องทางในการรับเรื่องเพื่อนำมาปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น ที่ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของแพลตฟอร์มในทำให้เกิดจุดสมดุลของการดำเนินงาน
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เน้นย้ำว่าผลกระทบของผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์มถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรมีแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งจากผลการศึกษา “ผลกระทบที่เกิดจากการให้บริการของธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และการใช้บริการของผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเบื้องต้นกลุ่ม Share Economy Platform: Delivery Services (Food Delivery)” ได้สะท้อนทั้งมิติของผู้ใช้บริการ ผู้บริโภค ตลอดจนไรเดอร์ ซึ่งในทางปฏิบัติ ได้มี Regulatory Framework ตลอดจนกฎหมายที่เกิดขึ้นแล้ว โดยมี Regulator ที่ปัจจุบันคือ ETDA ซึ่งจะช่วยในการดูแล โดยการดำเนินงานได้คำนึงถึงผลกระทบ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง (Stakeholder) รวมไปถึงผู้บริโภค ก็จะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องและพยายามปรับการทำงานให้มีความยืดหยุ่น มีการทำความเข้าใจกับมุมมองในเชิงธุรกิจ ดังนั้น การได้รับความคิดเห็นจากทุกหน่วยงานในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นจากภาครัฐ ผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์ม ตลอดจนผู้ประกอบการจะช่วยให้เห็นมุมมองอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดสมดุลในการทำงานที่เหมาะสมมากที่สุด
สำหรับการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ที่ ETDA ได้เชิญธุรกิจบริการแพลตฟอร์ม Food Delivery เจ้าใหญ่หลายแห่ง เพื่อมาร่วมแสดงความคิดเห็น ตลอดจนหารือเกี่ยวกับผลการศึกษาดังกล่าว ทำให้ ETDA ได้เห็นแง่มุมของประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การปรับปรุงผลการศึกษาได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
สำหรับประเด็นเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากผู้แทนจากแพลตฟอร์ม Food Delivery จะเป็นทั้งในด้านการกำหนดมาตรฐานเทคโนโลยีการให้บริการ ตลอดจนการนำประเด็นจากช่องการรับเรื่องร้องเรียนนำมาปรับปรุงการดำเนินงานให้ดีขึ้น ซึ่งทางแพลตฟอร์มก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการพัฒนากระบวนการให้บริการผู้บริโภค รวมไปถึงการดูแลไรเดอร์ การรักษา SLA (Service Level Agreement หรือ ข้อตกลงระดับบริการ) ในการดำเนินงานที่ปัจจุบันมีอยู่แล้ว รวมถึงมีความคาดหวังให้มีหน่วยงานกลางเพื่อช่วยเชื่อมโยงประเด็นการทำงานสำหรับพัฒนาแนวทางการดำเนินงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสิ่งนี้ที่ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของแพลตฟอร์มในทำให้เกิดจุดสมดุลของการดำเนินงานในระยะยาว
จากประเด็นข้างต้น ถือเป็นอีกมุมมองจากแพลตฟอร์มสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการดำเนินงานภายใต้กฎหมาย DPS ที่ทาง ETDA จะต้องคำนึงถึง และรวบรวมเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาผลการศึกษาฉบับดังกล่าวสำหรับเป็นข้อมูลตั้งต้นในการกำหนดทิศทางในเชิงนโยบายที่จะต้องร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ เพื่อยกระดับการให้บริการสำหรับธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต่อไป