1 พ.ย. 2566 446 0

รัฐบาลดิจิทัลเพื่อประชาชน เพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของภาครัฐ

รัฐบาลดิจิทัลเพื่อประชาชน เพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของภาครัฐ

DGA ร่วมยินดี สตง. จับมือ หน่วยรับตรวจ 16 หน่วยงาน นำร่อง e-Audit ปลดล็อกให้ สตง. ตรวจสอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

DGA หรือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ร่วมแสดงความยินดีในการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการตรวจสอบด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กับ หน่วยรับตรวจ 16 หน่วยงาน นำร่อง “แนวปฏิบัติในการตรวจสอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Audit)” ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ) และหน่วยงานในสังกัด รวม 10 หน่วยงาน พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) สำนักงบประมาณ (สงป.)สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สนย.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยมี นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานในพิธี พร้อมให้การต้อนรับ ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน


ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ กล่าวว่า หน่วยงานราชการในยุคหลัง โควิด-19 มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติราชการไปสู่กระบวนงานดิจิทัลอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมี พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ส่งผลให้เอกสารราชการต่างๆ เป็นรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่ง DGA ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรวมถึงทราบปัญหาและความต้องการของ สตง. ในฐานะองค์กรตรวจสอบที่ต้องการปรับเปลี่ยนให้สามารถตรวจสอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพื่อลดปัญหาของหน่วยงานรัฐที่ต้องเก็บเอกสารเพื่อการตรวจสอบหลากหลายรูปแบบทั้งแบบกระดาษ และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมีความกังวลในการจัดเก็บและทำลายเอกสารกระดาษ ซึ่งมีการเก็บเอกสารซ้ำซ้อนกันเป็นภาระงบประมาณของหน่วยงานรัฐเป็นอย่างมาก        

DGA จึงได้ดำเนินการสนับสนุนนโยบาย สตง. ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการตรวจสอบรูปแบบเดิมให้รองรับระบบดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐที่มีความพร้อม โดยให้ผู้ตรวจและหน่วยรับตรวจถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อลดภาระ และสร้างความเชื่อมั่นให้หน่วยงานรัฐผู้รับตรวจ ในการเตรียมเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบของ สตง. สอดคล้องตาม พ.ร.บ.บริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 (https://dg.th/1zrpoketx4) ตลอดจนได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่อง กรอบแนวปฏิบัติในการตรวจสอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Audit) ของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา (https://dg.th/hugjm53fy7)


สำหรับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ DGA ขอแสดงความยินดีกับ 16 หน่วยงานที่มีความพร้อมในการก้าวออกจาก Analog สู่ Digital ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการมีส่วนร่วมและการแสดงความมุ่งหมายเดียวกันตามนโยบายของรัฐบาล ในการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ สร้างความโปร่งใส และธรรมาภิบาลภาครัฐ โดย DGA ยินดีสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐมีความพร้อม และดำเนินการในการเตรียมเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และกระบวนงานดิจิทัลต่างๆ เพื่อรองรับการตรวจสอบตามวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้นำไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต