สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตร ทั้งย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ สถาบันนวัตกรรมเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์ หรือ SynBio Consortium เปิดเวทีเป็นครั้งแรกให้ 10 สตาร์ทอัพสายเกษตรที่ผ่านการบ่มเพาะและพัฒนาศักภาพอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลา 4 เดือน ภายใต้โครงการ AgBioTech Incubation 2023 ซึ่งเป็นโปรแกรมการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติที่เฉพาะเจาะจงสำหรับสตาร์ทอัพสายเกษตร ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ผนวกความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรชั้นนำและที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ด้วยการลงมือปฏิบัติทดสอบแนวคิดและสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อแก้โจทย์ปัญหาในภาคการเกษตรของประเทศ สร้างให้เกิดสตาร์ทอัพสายเกษตรรายใหม่ในระบบนิเวศ ก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า“ภาคเกษตร” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของ NIA เนื่องจากมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยที่ผ่านมา NIA มุ่งเร่งสร้างและพัฒนาให้เกิดสตาร์ทอัพด้านเกษตรที่จะเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่เกษตรกรให้สามารถนำไปใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผ่านเครือข่ายความร่วมมือภายใต้การดำเนินงาน Accelerator Program และ Incubator Program เพื่อเร่งการเติบโตของธุรกิจและช่วยบ่มเพาะธุรกิจด้านการเกษตรให้มีโอกาสขยายตลาดให้เติบโตมากขึ้น ตลอดจนได้รับการร่วมลงทุน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนานาชาติมีการนำเทคโนโลยีเชิงลึกมาใช้ในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น โดยมีการประยุกต์ใช้ทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ และบล็อกเชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมคุณภาพการผลิตภาคเกษตรได้ดีขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยยังมีไม่ถึง 15 ราย
ดังนั้น จึงได้ริเริ่มโครงการ “AgBioTech Incubation 2023” ขึ้น โดยมุ่งสร้างสตาร์ทอัพสายเกษตรรายใหม่ที่ใช้ทั้งเทคโนโลยีเชิงลึกและเทคโนโลยีชีวภาพเข้าสู่ระบบนิเวศให้มากขึ้น เพื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ให้เกิดแนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก (อันดับ 3 ของอาเซียน) มีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มากกว่า 900 ท่าน และมีผลงานวิจัยและพัฒนาในระยะ 5 ปี มากกว่า 2,500 ผลงาน
“จากข้อมูลของ AgFunder ในปี พ.ศ. 2565 พบว่า สตาร์ทอัพสายเกษตรด้านเทคโนโลยีชีวภาพเป็นสาขาที่มีมูลค่าการระดมทุนของทั่วโลกสูงถึง 79 พันล้านบาท แต่ในประเทศไทยยังมีมูลค่าเพียง 90 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.10 ของการลงทุนระดับโลกเท่านั้น ทำให้ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ดังนั้น NIA จึงเร่งส่งเสริม และสร้างให้เกิดสตาร์ทอัพสายเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพรายใหม่เข้าสู่ระบบนิเวศนวัตกรรมเทคโนโลยีเชิงลึกให้เพิ่มมากขึ้นผ่านโครงการนี้”
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับการสนับสนุนจาก NIA และความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเทศบาลท้องถิ่นในการผลักดันและพัฒนา “ย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้” ให้กลายเป็น “ซิลิคอนวัลเลย์ด้านนวัตกรรมการเกษตรของไทย” และในปีนี้ได้ร่วมดำเนิน “โครงการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในระยะเริ่มต้นธุรกิจ” หรือ “AgBioTech Incubation” ซึ่งประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) กิจกรรมพัฒนาที่ปรึกษาเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ด้วยการพัฒนาศักยภาพอาจารย์ นักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสร้างแนวคิดและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และเข้าใจ การพัฒนาบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรให้กับอาจารย์ 42 ท่าน จาก 15 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 2) กิจกรรมพัฒนาสตาร์ทอัพสายเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ โดยมุ่งเน้นการบ่มเพาะผ่านกิจกรรมฝึกอบรม ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การให้คำปรึกษาเชิงลึก และการเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักศึกษา นักวิจัยภาครัฐ หรือศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยมี 10 ทีมสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกมานำเสนอรูปแบบธุรกิจของผลิตภัณฑ์ และบริการ ได้แก่ So Mush: การผลิตเชื้อเห็ดบริสุทธิ์แบบน้ำMYCO GARDEN HOME: สารเสริมการเติบโตในพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงและไม้ดอกไม้ประดับจากอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซ่า MaxBoost: สารป้องกันเชื้อวิบริโอและเชื้อไวรัสหัวเหลืองจากกลุ่มแอนไทเซนส์เสถียร Pure Plus: หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยลำแสงไอออนพลังงานต่ำ
เพื่อยับยั้งและป้องกันเชื้อโรคเหี่ยวเน่าในพืชเศรษฐกิจ Sentech Plus: สารชีวภัณฑ์ป้องกันการติดเชื้อแบบองค์รวมในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจาก Bacteriophages Bio Solution: ควบคุมศัตรูพืชด้วยศัตรูธรรมชาติ Gen- A-Tech: ระบบตรวจสอบเพศของพืชและลักษณะพิเศษด้านการเกษตรด้วย DNA Maker PLANTBIO: การผลิตสาระสำคัญเชิงหน้าที่เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์พืช EverFresh: ผลิตภัณฑ์ไบโอโมเลกุลเปปไทด์สำหรับยืดอายุการเก็บรักษาสินค้าเกษตร และ Happy Plant: ไมคอร์ไรซ่าที่มีความบริสุทธิ์สูงจากระบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเพิ่มอัตราการรอดเมื่อปลูกลงดิน และ 3) กิจกรรมสร้างให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ผ่านการประสานงานและเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาและนักลงทุน ในการร่วมทำงานกับสตาร์ทอัพ
ธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร กล่าวสนับสนุนว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพระดับแนวหน้าในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 13 ของโลก มีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ เพื่อลดการสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น สตาร์ทอัพสายเกษตรจึงมีความสำคัญกับประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกมาแก้ปัญหาที่ซับซ้อนในภาคเกษตร ทั้งในประเทศและขยายการใช้งานไปต่างประเทศ เพื่อรองรับความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยโครงการนี้ได้สนับสนุนการเชื่อมต่อกับองค์กรที่มีเครือข่ายครอบคลุมอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย เช่น อ้อย มะม่วง การเพาะเลี้ยงกุ้ง ทำให้สตาร์ทอัพเกิดการความเข้าใจที่แท้จริงในการประยุกต์นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้แก้ปัญหาทางการเกษตร และเกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งจะทำให้สตาร์ทอัพสามารถขยายตลาดและเติบโตได้อย่างรวดเร็วขึ้น
“AgBioTech Incubation 2023 เป็นการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเกษตรรายใหม่ ด้วยกระบวนการบ่มเพาะแบบเข้มข้น ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งทั้ง 10 ทีม มีเทคโนโลยี นวัตกรรม โซลูชันที่โดดเด่น และสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาให้กับภาคการเกษตรได้อย่างแท้จริงซึ่งเป็นความหวังของภาคการเกษตรไทยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าและเป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตรของประเทศให้เติบโตต่อไป ทั้งนี้ในงาน Demo Day ทีม MaxBoost เป็นสตาร์ทอัพผู้ชนะได้รับรางวัล The Best Performance Award (ตัดสินจากคณะกรรมการ) และทีม SoMush ได้รับรางวัล The Popular Vote Award (ตัดสินจากผลการโหวตของผู้เข้าร่วมงาน) และรางวัล The Best Engagement Award (ตัดสินจากทีมสตาร์ทอัพในโครงการ ทีม Facilitator และ ทีม Mentor จาก NIA”