กลุ่มบีซีจี เบญจจินดา โดยบริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย ความร่วมมือวิจัยและพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ กับ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ยกระดับมาตรฐานไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ในไทยสู่สากล โดยมี พลเอก พอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นประธานในพิธี วิชัย เบญจรงคกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานบริหาร กลุ่มบีซีจี เบญจจินดา พลเอก ชูชาติ บัวขาว ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ร่วมลงนาม
ดร. ศุภกร กังพิศดาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด ในกลุ่มบีซีจี เบญจจินดา กล่าวว่า ไซเบอร์ อีลีท ได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือกับ สทป. ในการลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือวิจัยและพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ (MOU) โดยมีเป้าหมายเพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านไซเบอร์ การให้บริการ และการฝึกอบรมด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ผ่านการหลอมรวมจุดแข็งของสององค์กร ที่จะผลักดันการสร้างเทคโนโลยีด้านไซเบอร์ของคนไทย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ และยกระดับการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ ของไทย รวมถึงสร้างบุคลากรด้านไซเบอร์ที่มีมาตรฐานระดับสูง ลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านไซเบอร์ของประเทศอีกด้วย
“สิ่งที่ ไซเบอร์ อีลีท จะได้รับ จากความร่วมมือในครั้งนี้คือการเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์กับหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศกับ สทป. ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่มีองค์ความรู้และขีดความสามารถระดับประเทศในผลงานวิจัยไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ และมีหน้าที่ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” ดร.ศุภกร กล่าว
นอกจากนี้ผลดีที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ ต่ออุตสาหกรรมตลอดจนส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการสำหรับร่วมมือกันในครั้งนี้ คือ การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันในเทคโนโลยีไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของไทย ให้เกิดเป็น Ecosystem ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่ครบสมบูรณ์
พลเอก ชูชาติ บัวขาว ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สทป. และ ไซเบอร์ อีลีท จะส่งผลดีต่อการส่งเสริม สนับสนุนไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในประเทศไทย เนื่องจากจะมีประสานความร่วมมือด้านวิชาการ การให้บริการและการฝึกอบรมด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สู่การถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ หรือเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระหว่างบุคลากรของหน่วยงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ โดยขอบเขตความร่วมมือกับ ไซเบอร์ อีลีท ในครั้งนี้ เน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางไซเบอร์เพื่อความมั่นคง ร่วมกันพัฒนาบริการด้านไซเบอร์ให้แก่หน่วยงานภายในประเทศ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรทางด้านไซเบอร์ภายในประเทศ