วานนี้ (9 พฤศจิกายน 2566) วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี) เปิดเผยว่า ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีดีอี ได้รับมอบหมายจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้เร่งดำเนินการเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ จากกรณีข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือแนวทางการการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์จากกรณีข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล โดยข้อสรุปของที่ประชุม คือ แบ่งมาตรการการดำเนินการเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.
ระยะสั้น
1.1 พฤติกรรมละเลย:
ดำเนินการโดยใช้เครื่องมือของศูนย์เผ้าระวังและติดตามสถานการณ์ตรวจสอบการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล
1.2 กรณีโจรกรรมข้อมูล
(hack)
ให้ สกมช. วิเคราะห์ว่า ความเสี่ยงมีที่จุดไหนบ้าง แจกแจงมาประมาณ 4 - 5 กรอบ และระบุมาตรการของแต่ความเสี่ยง พร้อมจัดให้มีคนเฝ้าระวัง
(monitor)
1.3 กรณีซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล:
ให้มีมาตรการจัดการเด็ดขาด ได้แก่ การปิดกั้น และจับกุม
2.
ระยะกลาง ได้แก่ การสร้างและพัฒนาระบบคลาวด์ที่น่าเชื่อถือสำหรับจัดเก็บข้อมูล
และ 3. ระยะยาว ได้แก่ การแก้กฎหมาย PDPA และ Cybercrime
“นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ จึงได้กำชับรัฐมนตรีดีอี ให้เร่งดำเนินการในเรื่องนี้โดยด่วน และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือ หาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพให้เด็ดขาดด้วย” โฆษกฯ ดีอี กล่าว