11 พ.ย. 2566 419 0

เอ็นไอเอ ปลื้มความสำเร็จ 18 เครือข่ายสถานศึกษา สร้างโค้ชใหม่ได้กว่า 500 ราย เด็กรุ่นใหม่รู้นวัตกรรมเพิ่มกว่า 10,000 คน

เอ็นไอเอ ปลื้มความสำเร็จ 18 เครือข่ายสถานศึกษา สร้างโค้ชใหม่ได้กว่า 500 ราย เด็กรุ่นใหม่รู้นวัตกรรมเพิ่มกว่า 10,000 คน

เอ็นไอเอชวนสถานศึกษาทั่วไทยเปิด “ห้องเรียนนวัตกรรม” พร้อมปลื้มความสำเร็จ 18 เครือข่ายสถานศึกษากับการสร้าง STEAM4INNOVATOR CENTER สร้างโค้ชใหม่ได้กว่า 500 ราย เด็กรุ่นใหม่รู้นวัตกรรมเพิ่มกว่า 10,000 คน


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยความสำเร็จโครงการ “ศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่-STEAM4INNOVATOR CENTER” พื้นที่สร้างเยาวชนในรั้วสถานศึกษาให้มีทักษะการสร้างนวัตกรรม โดยมีอาจารย์หรือครูทำหน้าที่เป็นโค้ชผู้สร้างนวัตกรนำองค์ความรู้และกระบวนการ STEAM4INNOVATOR ที่กระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมบนฐาน STEAM อันได้แก่ วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์, ศิลปะศาสตร์ และคณิตศาสตร์ พร้อมด้วยแนวคิดทางด้านธุรกิจที่เป็นระบบไปถ่ายทอดต่อให้เยาวชนได้พัฒนาฝึกฝนทักษะ ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ - STEAM4INNOVATOR CENTER รวม 18 ศูนย์ สร้างโค้ชผู้สร้างนวัตกรกว่า 500 คน และเข้าถึงนักเรียน/นักศึกษากว่า 10,000 คน


ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อํานวยการสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า กลุ่มเยาวชนถือเป็นขุมกำลังสำคัญที่จะตอบโจทย์การสร้างประเทศนวัตกรรมในอนาคต ซึ่งแต่ละปี NIA ได้มีการร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียนนำเครื่องมือช่วยสร้างนวัตกร ด้วยหลักสูตร STEAM4INNOVATOR เข้าไปถ่ายทอดให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่กว่า 10,000 ราย ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมบนฐาน สะตีม: STEAM โครงการ “ศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ - STEAM4INNOVATOR CENTER” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการเข้าถึงเยาวชนที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากสามารถกระจายการดำเนินงานได้อย่างกว้างขวางทั้งในระบบมหาวิทยาลัยและโรงเรียน ซึ่งนอกจากการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน/นักศึกษาแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการฝึกสอนครู/อาจารย์ให้เป็น “ผู้สร้างนวัตกร” ที่สามารถสร้างนวัตกรรุ่นเยาว์ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น


ทั้งนี้ โครงการศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่-STEAM4INNOVATOR CENTER เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2565 ด้วยความร่วมมือจาก 5 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และในปี 2566 นี้ มีเพิ่มเติมอีก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และขยายผลสู่ระดับมัธยมศึกษา 10 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนป่าพะยอมพิทยาคม โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยทักษิณ, โรงเรียนชลประทานวิทยา, โรงเรียนตะกั่วป่า “เสนานุกูล”, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ปทุมธานี, โรงเรียนศึกษานารี, โรงเรียนแสงทองวิทยา และโรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี ในการทดลองสร้างห้องเรียนนวัตกรรมภายใต้โครงการ “สนามการเรียนรู้นวัตกรรมสำหรับเยาวชน”


ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางความร่วมมือการสร้างความเข้มแข็งของศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่ STEAM4INNOVATOR CENTER เริ่มจากสถาบันการศึกษาตั้งเป้าหมายร่วมกับ NIA ในการสร้างศูนย์นวัตกรรุ่นใหม่ โดยสามารถจัดห้องเรียนนวัตกรรมที่สอนแทรกหลักสูตร STEAM4INNOVATOR ในรายวิชาหลักตาม 8 รายวิชาพื้นฐานรายวิชาเพิ่มเติม หรือกิจกรรมพิเศษเพื่อพัฒนาผู้เรียน จากนั้นอาจารย์หรือคุณครูจะได้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างเข้มข้น เพื่อเรียนรู้เนื้อหาและทักษะการโค้ชผ่านหลักสูตร STEAM4INNOVATOR เป็นระยะเวลา 4 วัน 3 คืน ซึ่งเป็นการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง หลังจบหลักสูตรอาจารย์หรือคุณครูจะนำหลักสูตร STEAM4INNOVATOR เข้าไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียนนวัตกรรมของตนเอง โดยมีทีมงานจาก NIA คอยช่วยสนับสนุนและติดตามผลการดำเนินงาน


“สำหรับกิจกรรมในปีนี้ หลังจากที่ครู อาจารย์ และโค้ช “ผู้สร้างนวัตกร” ในโรงเรียนได้จัด “สนามการเรียนรู้นวัตกรรมสําหรับเยาวชน” ให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะตลอดภาคการศึกษาแล้ว ทาง NIA จึงได้จัดงาน“STEAM4INNOVATOR’S DAY ปล่อยของ 9.9” เพื่อเปิดพื้นที่ให้ครู อาจารย์ นักศึกษา และนักเรียนในเครือข่าย 18 ศูนย์ ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างห้องเรียนนวัตกรรม ซึ่งจุดเด่นของงานนี้คือ การจัดแสดงเครื่องมือใหม่ ๆ ของโค้ช เพื่อส่งเสริมการสอนทักษะนวัตกรตามขั้นตอนของหลักสูตร STEAM4INNOVATOR และการมอบป้ายเพื่อรับรอง 3 มหาวิทยาลัย และ 10 โรงเรียนเป็น “ศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่- STEAM4INNOVATOR CENTER” แห่งใหม่ ลำดับที่ 6-18 นอกจากนี้ ยังเปิดพื้นที่นำเสนอผลงานของเยาวชนในโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมสำหรับเยาวชน ทั้ง 10 โรงเรียน บนโจทย์การสร้างธุรกิจนวัตกรรมในกลุ่ม BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งจะช่วยสร้างทักษะนวัตกรและแนวคิดในการเป็นผู้ประกอบการให้กับน้องเยาวชนในอนาคต


ทั้งนี้ ศูนย์สร้างนวัตกรรุ่นใหม่-STEAM4INNOVATOR CENTER มีมาตรฐานการทำงานบนแกนหลัก 4C อย่างเข้มข้น คือ 1) Content คุณครูสามารถใช้กระบวนการและเครื่องมือจาก STEAM4INNOVATOR ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเข้มข้น 2) Coaching คุณครูสามารถเป็นโค้ชให้กับนักเรียนได้ 3) Connection คุณครูสามารถหาเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาผลงานนวัตกรรมของนักเรียน และ 4) Cluster โรงเรียนจัดพื้นที่ในการสร้างเครือข่ายให้นวัตกรเยาวชน เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดและแรงบันดาลใจร่วมกัน


โดยมีเป้าหมายสำคัญ 5 ระดับ คือ 1) Ignition สร้างแรงบันดาลใจในการคิดและสร้างนวัตกรรมในกลุ่มเยาวชน 2) Capability สร้างความรู้ความเข้าใจและความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับนักเรียนไทย 3) Connectivity สร้างสังคมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และลงมือปฏิบัติรูปแบบใหม่ที่สนุกและวัดผลสำเร็จด้านการศึกษาและการต่อยอดผลงานเพื่อการเป็นผู้ประกอบการได้ 4) STEAM4INNOVATOR CENTER สร้างโรงเรียนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเยาวชนบนมาตรฐานและการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องยั่งยืนร่วมกับ NIA และ 5) New Platform สร้างระบบการเชื่อมโยงงานข้ามกระทรวงฯ เพื่อเสริมจุดแข็งด้านนวัตกรรม” ดร. กริชผกา กล่าวสรุป


สำหรับสถาบันการศึกษาที่สนใจร่วมเป็นหนึ่งในการเปิดห้องเรียนนวัตกรรม เพื่อสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีทักษะนวัตกร พร้อมขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไปสู่ชาติแห่งนวัตกรรม สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)  ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม กลุ่มเยาวชน โทร: 02 017 5555 อีเมล: steam4innovator@nia.or.th เว็บไซต์: https://steam4i.nia.or.th และติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook page : STEAM4INNOVATOR