13 พ.ย. 2566 28,859 2

ดีอี – ดีป้า จุดพลุโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) มุ่งยกระดับชุมชนเกษตรไทยด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร

ดีอี – ดีป้า จุดพลุโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) มุ่งยกระดับชุมชนเกษตรไทยด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร

ดีอี - ดีป้า เปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) มุ่งพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้และซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรแก่ชุมชนและเกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านธุรกิจดั้งเดิมสู่ ศูนย์บริการซ่อมบำรุง ฉีดพ่น และจำหน่ายโดรนเพื่อการเกษตร คาดภายใน 1 ปีของการดำเนินโครงการจะเกิดศูนย์บริการฯ ทั่วประเทศ 50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร 500 ชุมชน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท ตอบสนองเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ ภายใต้แผนงานเครื่องยนต์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล



ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า พร้อมด้วย ดร.ปรีสาร รักวาทิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และคณะผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมในพิธีโดยพร้อมเพรียง ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอี พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลผ่านเครื่องยนต์ใหม่ของประเทศไทย (The Growth Engine of Thailand) ซึ่งถือเป็นแผนการดำเนินงานสำคัญที่มุ่งเน้นเป้าหมายด้านการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านดิจิทัล (Human Capital)


“สำหรับ โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ที่ดำเนินการโดย กระทรวงดีอี และ ดีป้า จะช่วยส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้และก้าวทันความเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นการสร้างสังคมดิจิทัลบนฐานความรู้ ทั่วถึง รู้ประยุกต์ใช้เป็น สนองตอบเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศตามแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลไทย” รัฐมนตรีดีอี กล่าว


นอกจากนี้ รมว.ดีอี ยังเป็นสักขีพยานในพิธีประกาศความร่วมมือภายใต้โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ใน 6 ด้าน ประกอบด้วย ความร่วมมือด้านการพัฒนาหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากระยะไกล ความร่วมมือด้านการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลกับกลุ่มชุมชนในห่วงโซ่การผลิต ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับ 


ความร่วมมือด้านการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร และความร่วมมือด้านการพัฒนาหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร ระหว่าง ดีป้า และเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สถาบันการบินพลเรือน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมวิชาการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุรนารี และผู้ประกอบการโดรนในประเทศ


ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) เป็นการบูรณาการ การทำงานระหว่าง ดีป้า และเครือข่ายพันธมิตร โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลเพื่อการยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรผ่านการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบินและการซ่อมบำรุงโดรนแก่กลุ่มเกษตรกรและชุมชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศโดยคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านธุรกิจแบบดั้งเดิมไปสู่ ศูนย์บริการซ่อมบำรุง ฉีดพ่น จัดจำหน่ายโดรนการเกษตรที่ได้รับการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand: MiT) จาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมาตรฐาน dSURE จาก ดีป้า


ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ภายใน 1 ปีของการดำเนินโครงการจะเกิดศูนย์บริการฯ ทั่วประเทศจำนวน 50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 500 ชุมชน คิดเป็นพื้นที่ทางการเกษตรรวมไม่น้อยกว่า 4 ล้านไร่ นอกจากนี้ ดีป้า และพันธมิตรจะเปิดอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากระยะไกล และหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร ซึ่งเนื้อหาของทั้งสองหลักสูตรได้รับการออกแบบโดย ดีป้า และผ่านการรับรองจากสถาบันการบินพลเรือน พร้อมตั้งเป้าผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ 1,000 คน และหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร 100 คน


“ดีป้า ประเมินว่า โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ลดการจ้างงานและระยะเวลาการทำงาน ลดอัตราการเจ็บป่วยจากการสูดดมและสัมผัสกับสารเคมี ขณะเดียวกันจะช่วยสร้างเกษตรกรและช่างในชุมชนที่มีความรู้ความเข้าใจในทักษะรอบด้านเกี่ยวกับโดรนการเกษตร สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและสมาชิกในชุมชน โดยโครงการดังกล่าวถือเป็นแนวทางการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้ ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นการเร่งสร้างสังคมดิจิทัลบนฐานความรู้ ทั่วถึง รู้ประยุกต์ใช้เป็น ตอบสนองเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศตามแผนงาน The Growth Engine of Thailand ของ รมว.ดีอี และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว


เกษตรกรและชุมชนที่สนใจ รวมถึงประชาชนทั่วไปสามารถร่วมอบรมผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ และหลักสูตรทักษะการซ่อมบำรุงและดูแลรักษาโดรนเพื่อการเกษตรผ่านระบบ Online และ Onsite หรือร่วมกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรใน 5 ภูมิภาค รวมถึงการแข่งขันบินและซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรระดับภูมิภาคและชิงแชมป์ประเทศไทย โดยสามารถติดตามข่าวสารและศึกษารายละเอียดโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ได้ที่ Facebook Page: depa Thailand หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 08 5125 1340 และ 08 2516 6224