บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โชว์ศักยภาพไปรษณีย์ไทย ในจังหวัดสกลนคร พบปีนี้มีการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั้งจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรม อาหาร สินค้าแปรรูปเพิ่มขึ้น และเป็นอานิสงส์ให้เกิดการแข่งขันของธุรกิจขนส่งในสกลนครและภาคอีสานตอนบนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามยังพบว่า ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ยังคงเลือกใช้ไปรษณีย์ไทยเป็นอันดับ 1 เนื่องด้วยความครบครันในด้านเครือข่าย การออกแบบบริการต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการ นอกจากนี้ ยังมุ่งเดินหน้าเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดสกลนคร และพื้นที่อีสานตอนบน ซึ่งจะให้ความสำคัญกับทั้งการสนับสนุนสินค้าสร้างสรรค์ให้เป็นที่รู้จักการผลักดันการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่มีความได้เปรียบ ตลอดจนใช้เครือข่ายสนับสนุนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นต้น
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า สกลนครเป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบนร่วมกับจังหวัดนครพนม และจังหวัดหนองคาย ซึ่งพื้นที่นี้เป็นอีกพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญจากความโดดเด่นในเชิงภูมิศาสตร์และมีระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ จากการดำเนินงานพบว่าปีนี้จังหวัดสกลนครมีการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ ที่ผันตัวมาจากกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ผลิตสินค้าหัตถกรรม กลุ่มผู้ประกอบการอาหาร สินค้าแปรรูปเพิ่มต่อเนื่องทุกปี และจากการเข้าไปช่วยเหลือ - สำรวจความต้องการจาก “ทีมขาย ทีมขน และทีมแคร์” พบว่าธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงเลือกใช้ไปรษณีย์ไทยเป็นอันดับ 1 เนื่องด้วยการมีโซลูชันเก็บ แพ็ค ส่ง การแก้ปัญหาหลังการขายที่เป็นระบบ สามารถดำเนินได้อย่างรวดเร็ว การมีเครือข่ายที่เข้าถึงทุกพื้นที่ บริการที่เป็นมิตร รวมทั้งการออกแบบบริการต่างๆ ที่ตรงและเข้าใจผู้ดำเนินธุรกิจ
“สำหรับภาพรวมการแข่งขันธุรกิจขนส่งในสกลนคร และภาคอีสานตอนบน ถือว่ามีการแข่งขันที่สูง เนื่องด้วยปัจจัยการค้าขายบนช่องทางอีคอมเมิร์ซที่เติบโต เส้นทางคมนาคมที่มีการพัฒนา – เดินทางสะดวก ซึ่งจะพบว่ามีการแข่งขันทั้งจากผู้ให้บริการธุรกิจขนส่งโดยตรง และการขนส่งที่ดำเนินโดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการแข่งขันและจำนวนผู้ให้บริการที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ของไปรษณีย์ไทยในพื้นที่ภาคอีสานยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา (มกราคม – ตุลาคม) รายได้ 1,500 ล้านบาท ส่วนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คาดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่มีการส่งของสูงที่สุดในรอบปี โดยคาดว่าจะมีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท ซึ่งไปรษณีย์ไทยได้เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นด้วยบริการที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น เช่น บริการรับฝากนอกที่ทำการ หรือ Pick-Up Service บริการขนส่งสิ่งของด้วยรถยนต์ควบคุณอุณหภูมิเพื่อขนส่งอาหาร ผลผลิตทางการเกษตร ของสด บริการเก็บ แพ็ค ส่งที่ออกแบบมาเพื่อแต่ละธุรกิจโดยเฉพาะ”
ภาพ : ที่ทำการไปรษณีย์ ปจ.สกลนคร โดดเด่นด้วยตู้ไปรษณีย์ใหญ่ยักษ์ ไม่เหมือนที่อื่น
ดร.ดนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการทำหน้าที่เชื่อมต่อการสื่อสารและขนส่งในประเทศแล้ว ไปรษณีย์ในพื้นที่สกลนครยังมีบทบาทอย่างสูงต่อการเชื่อมโยงสินค้าไทยไปต่างประเทศ ผ่านจังหวัดหนองคายที่มีเส้นทางการขนส่งสำคัญคือสะพานมิตรภาพไทย – ลาว 1 (หนองคาย–เวียงจันทน์) นครพนมที่มีสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม - คำม่วน) และมุกดาหาร อีกทั้งยังมีจุดให้บริการที่ช่วยอำนวย ความสะดวกต่อการส่งสิ่งของไปต่างประเทศอย่างโซนยุโรปและเอเชีย ซึ่งในปีนี้พบว่าผู้ประกอบการ – ผู้ใช้บริการได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายฝากส่งสิ่งของไปยังพื้นที่ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผ้าย้อมครามที่เป็นที่นิยมในตลาดยุโรป สินค้าหัตถกรรม เช่น ตะกร้าสาน ตุ๊กตาไก่ชน วัตถุดิบ อาหารอีสานที่ส่งไปยังธุรกิจอาหารไทยในต่างประเทศ
ภาพ : ขนส่งไปรษณีย์ทุกสาขาและจ.สกลนคร ไม่มีพัสดุตกค้าง จำหน่ายออกทุกวัน
“สำหรับการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดสกลนคร และพื้นที่อีสานตอนบน ไปรษณีย์ไทยได้ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์เชิงรุก และเน้นจุดแข็งที่มีความสำคัญต่อพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนสินค้าสร้างสรรค์ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ อาทิ ผ้าย้อมคราม ตะกร้าหวาย สินค้าประเภทอาหารและสินค้าทางการเกษตรที่ได้รับมาตรฐาน GI และมีมูลค่าสูง เช่น ข้าวฮางทิพย์ หมูยอ ลิ้นจี่ สัปปะรด แคนตาลูป ฯลฯ การผลักดันให้ทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่มีความได้เปรียบไม่ว่าจะเป็นการมีเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุด ความน่าเชื่อถือของมาตรฐานส่งด่วน EMS แพลตฟอร์มการช่วยจำหน่ายสินค้าออนไลน์ที่รองรับผู้ประกอบการได้ทั่วประเทศ Postman Network ที่สามารถนำข้อมูลและความรู้ ความเข้าใจในทุกพื้นที่มาต่อยอดนำเสนอบริการที่ตรงใจ ตลอดจนอนาคตของความเป็นดิจิทัล เช่น การรับส่งเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัลโพสต์ไอดีเพื่อยกระดับให้พื้นที่นี้มีความทันสมัยตามบริบทไลฟ์สไตล์และการทำธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง”