15 พ.ย. 2566 387 0

ETDA เผย แพลตฟอร์มดิจิทัล แจ้งข้อมูลแล้ว 441 แพลตฟอร์ม รายใหญ่-ต่างชาติ ทยอยแจ้งต่อเนื่อง

ETDA เผย แพลตฟอร์มดิจิทัล แจ้งข้อมูลแล้ว 441 แพลตฟอร์ม รายใหญ่-ต่างชาติ ทยอยแจ้งต่อเนื่อง

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เผยยอดการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้กฎหมาย DPS ล่าสุด มีแพลตฟอร์มแจ้งแล้ว               จำนวน 441 แพลตฟอร์ม ผู้ให้บริการรายใหญ่ และต่างชาติเข้ามาแจ้งต่อเนื่อง ย้ำธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ต้องดำเนินการแจ้งให้ทัน ภายใน 18 พฤศจิกายนนี้ 


ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า ตามที่กฎหมาย DPS หรือ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดให้ “ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เป็นบริการสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดการเชื่อมต่อเกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะคิดค่าบริการหรือไม่ก็ตาม ต้องมาแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจให้ ETDA ทราบ” ซึ่งในระยะแรกนี้ ตามกฎหมายได้ระบุให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ที่จะต้องดำเนินการแจ้งข้อมูลให้ทันภายใน วันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ โดยตั้งแต่เปิดระบบรับแจ้ง ถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 มีแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้าข่าย มาดำเนินการแจ้งข้อมูลแล้วจำนวน 441 แพลตฟอร์ม ครอบคลุมแพลตฟอร์มทั้ง 15 ประเภท ทั้ง สัญชาติไทยและต่างชาติ 


โดย แพลตฟอร์มที่เข้ามาแจ้งมากที่สุด คือ บริการตลาดออนไลน์ (Online Marketplace) ทั้งตลาดสินค้าและบริการ อาทิ Lazada, Foodpanda, Robinhood, Traveloka, Grab, www.nocnoc.com, LINE SHOPPING, SCGHome, Website GWM เป็นต้น รองลงมาคือ บริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร (News Aggregator) อาทิ LINE TODAY, Dek-D.COM, คิดเรื่องอยู่ (Think of Living), WISESIGHT TREND เป็นต้น บริการสื่อสารออนไลน์ (Online Communication) อาทิ AIS eBusiness Portal, LINE Official Account, ออมสินหนุนทุน ลาซาด้าหนุนโปร, บริการเสนอขาย ประกันภัยผ่านเว็บไซต์ของธนาคาร เป็นต้น บริการ Sharing Economy Platform ทั้งบริการแบ่งปันแรงงาน แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันความรู้/การศึกษา บริการรถยนต์/รถจักรยานยนต์รับจ้างโดยสารสาธารณะ อาทิ Robinhood, FreelanceBay.com, Jobs prompt, บิทคับ อะคาเดมี, YourNextU, OpenDurian เป็นต้น และ บริการคลาวด์ (Cloud service) อาทิ INET Cloud, True IDC Cloud, samart safe cloud, OLS Cloud Service เป็นต้น 

นอกจากนี้ ช่วงที่ผ่านมามีแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติ ได้ติดต่อสอบถามข้อมูลและอยู่ระหว่างการดำเนินการแจ้งข้อมูลกับทางทีมกำกับดูแลกฎหมาย DPS อย่างต่อเนื่อง  ขณะนี้                มีแพลตฟอร์มดิจิทัลทยอยแจ้งข้อมูลเข้ามาในระบบ เฉลี่ยเกือบ 40-50 แพลตฟอร์มต่อวัน ซึ่งทุกคนสามารถตรวจสอบรายชื่อแพลตฟอร์ม ที่ดำเนินการแจ้งข้อมูลกับ ETDA เรียบร้อยแล้ว ได้ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ ETDA ที่ลิงก์ https://eservice.etda.or.th/dps/th/opendata/section14


สำหรับ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะต้องเร่งแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจกับ ETDA ให้ทันภายในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ คือ ธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ที่มีลักษณะเข้าข่าย ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือ มีรายได้เกิน 50 ล้านบาท (กรณีนิติบุคคล) หรือ มีผู้ใช้งานเกิน 5,000 คนต่อเดือน (โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด) ซึ่งเหลือเวลาอยู่เพียง 3 วันเท่านั้นก็จะหมดเขตแจ้ง ดังนั้น ETDA จึงอยากเน้นย้ำผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติ ที่ยังไม่แจ้งหรืออยู่ระหว่างการเตรียมเอกสาร ข้อมูล จะต้องรีบดำเนินการแจ้งข้อมูลให้แล้วเสร็จตามที่กฎหมายกำหนด โดยสามารถศึกษารายละเอียดการแจ้งและการใช้งานระบบการแจ้งได้ผ่านคู่มือ โดยแพลตฟอร์มเอกชน เข้าไปดูข้อมูลได้ที่ลิงก์ https://bit.ly/3swNRtE สำหรับแพลตฟอร์มหน่วยงานรัฐ เข้าได้ที่ลิงก์ https://bit.ly/3sA8sgU หรือติดต่อสอบถามขอคำแนะนำเพิ่มเติม ได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-123-1234 (ติดต่อทีมกำกับดูแลกฎหมาย DPS) ในวันและเวลาราชการ (9.00-17.00 น.) และติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ DPS อย่างใกล้ชิด ได้ที่เพจ ETDA Thailand 

#ETDAThailand #ETDA #กฎหมายDPS #DigitalPlatformService #แพลตฟอร์มดิจิทัล

#ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล