เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 น. ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ครั้งที่ 4/2566 พร้อมด้วย ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมการฯ เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการการประชุม กล่าวถึงการประชุมในวันนี้ว่า “ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กมช. 3 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวกับมาตรฐานการกำหนดคุณลักษณะความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่ข้อมูลหรือระบบสารสนเทศ มาตรฐานขั้นต่ำของขอมูลหรือระบบสารสนเทศ และมาตรฐานและแนวทางส่งเสริมพัฒนาระบบการให้บริการเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นชอบในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยร่วมมือระหว่าง สกมช. กับหน่วยงานรัฐและเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ และยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมทั้งรับทราบรายงานผลการปฏิบัติของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติและรายงานเหตุการณ์ภัยคุกคามและผลการดำเนินการเหตุการณ์ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในห้วง 1 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งทราบผลการปฏิบัติรวมถึงแนวทางการพัฒนามาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์”
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า “ตนได้รับมอบหมายแต่งตั้งจาก เศรษฐา ทวีสิน ให้นั่งประธานคณะกรรมการฯ ชุดนี้แทนท่านนายกรัฐมนตรี โดยถือได้ว่าเป็นการผลักดันและติดตามความคืบหน้าในการขับเคลื่อนกลไกการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ ซึ่งประกาศ กมช. ทั้ง 3 ฉบับ ที่ได้เห็นชอบในวันนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ การบูรณาการความร่วมมือทางด้านไซเบอร์กับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่หากต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกัน ก็ขอให้ดำเนินการ รวมทั้ง สกมช. ต้องบังคับใช้ให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการตามพระราชบัญญัติ และกฎหมายฉบับรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศมีหน้าที่ป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ตามประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และในกรณีเกิดเหตุ หรือคาดว่าจะเกิดเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ ให้ดำเนินการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และแจ้งไปยัง สกมช. และหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลของตนโดยเร็ว เพื่อป้องกันและแก้ไขการแฮกข้อมูล อันจะทำให้ข้อมูลประชาชนรั่วไหลไปยังมิจฉาชีพด้วย”