ครีเอทีฟโซลูชั่นเพื่อผู้ที่มีความจำกัดทางการมองเห็น The Talkable Bus Shelter ป้ายรถเมล์พูดได้
FWD ประกันชีวิต นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีผ่านระบบเสียงอัจฉริยะกับแคมเปญ “Talkable Bus Shelter ป้ายรถเมล์พูดได้” โดยออกแบบมาเพื่อช่วยผู้ที่มีความจำกัดทางการมองเห็นได้ใช้ชีวิตประจำวันในการเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยติดตั้งระบบใน 10 ป้ายรถเมล์บริเวณสถานที่ที่ผู้ที่มีความจำกัดทางการมองเห็นใช้เป็นประจำ ครอบคลุมเส้นทางการเดินรถเมล์ 46 สาย เพื่อสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมอย่างยั่งยืน และทุกคนได้ใช้ชีวิตในแบบที่ชอบได้โดยไม่ต้องกังวล
ปวริศา ชุมวิกรานต์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (“FWD ประกันชีวิต”) กล่าวว่า FWD ประกันชีวิต ในฐานะองค์กรที่สนับสนุนให้เกิดความหลากหลาย และเท่าเทียม พร้อมเคารพทุกความแตกต่างในสังคม เราได้ทำงานต่อจากปีที่ผ่านมาในโครงการ “Insurance for all” ครั้งนี้เราได้ศึกษาข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ด้านคนพิการทางการมองเห็นในประเทศไทย โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566) ประเทศไทยมีผู้พิการทางการมองเห็น จำนวน 184,622 คน ที่มีการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน รวมกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) กับผู้ที่มีความจำกัดทางการมองเห็นภายใต้การดูแลของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ทำให้เราพบว่า ผู้ที่มีความจำกัดทางการมองเห็นส่วนใหญ่เลือกใช้การเดินทางประจำวันด้วยรถโดยสารประจำทาง แต่ปัญหาสำคัญคือ มักจะพลาดรถประจำทางสายที่ต้องการ เนื่องจากไม่สามารถรับรู้ถึงสายรถประจำทางที่ต้องการได้อย่างชัดเจน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ FWD ประกันชีวิต จัดทำโครงการ “The Talkable Bus Shelter” ที่นำเอาเทคโนโลยีผสานความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาป้ายรถเมล์พูดได้ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่มีความจำกัดทางมองเห็นสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น โดยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างสะดวก และสามารถเตรียมตัวเพื่อขึ้นรถโดยสารได้อย่างปลอดภัย และไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้อย่างปลอดภัย
“The Talkable Bus Shelter ป้ายรถเมล์พูดได้” เป็นการนำความคิดสร้างสรรค์ผนวกเข้ากับหลักการทำงานเรื่องคลื่นเสียง เพื่อสร้าง “ระบบเสียงอัจฉริยะ” ที่ทำงานโดยการนำเทคโนโลยี GPS ที่ติดตั้งบนรถประจำทางและป้ายรถประจำทางอัจฉริยะ เมื่อรถประจำทางกำลังเทียบท่าหรือกำลังออกจากป้ายรถเมล์ ระบบเสียงจะแจ้งหมายเลขรถโดยสารคันดังกล่าว โดยระบบเสียงนั้น ใช้หลักการคลื่นเสียงมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับความสามารถทางการได้ยินของผู้ที่มีความจำกัดทางการมองเห็น โดยมีความดังระหว่าง 70-80 เดซิเบล และคลื่นเสียงระหว่าง 1,000-4,000 เฮิร์ซ เพื่อเตือนให้ผู้มีความจำกัดทางการมองเห็นทราบถึงรถโดยสารที่กำลังจะมา และเตรียมตัวเดินทาง
นอกจากนี้ การใช้ระดับเสียงที่สม่ำเสมอสำหรับสัญญาณเสียง และการเตือน สามารถช่วยให้ผู้ที่มีความจำกัดทางการมองเห็น ระบุ และแยกแยะระหว่างเสียงต่างๆ ได้ง่ายขึ้น FWD ประกันชีวิต จึงได้ออกแบบเสียงประกาศพิเศษ โดยออกเเบบให้แตกต่างทั้ง 46 เส้นทางรถ* เพื่อประสิทธิภาพในการจดจำหมายเลขรถประจำทางได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยใน “The Talkable Bus Shelter ป้ายรถเมล์พูดได้” จะได้รับการติดตั้งและให้บริการใน 10 ป้ายรถเมล์ตามสถานที่ต่างๆ ที่เป็นจุดที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก ได้แก่ บริเวณหน้าโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ตรงข้ามวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก โรงพยาบาลรามาธิบดี องค์การเภสัชกรรม สวนจตุจักร ตรงข้ามสวนจตุจักร ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ (ฝั่งหน้าพระตรีมูรติ และฝั่งหน้า Apple Store) บิ๊กซี ราชดำริ ฟอร์จูนทาวน์ และซอยศูนย์วิจัย (เพชรบุรี) โดยเปิดให้บริการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
“ความตั้งใจของแคมเปญนี้คือ การสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะผู้มีความจำกัดทางการมองเห็น เราหวังว่าประสิทธิภาพของ The Talkable Bus Shelter ป้ายรถเมล์พูดได้” จะตอบโจทย์ของผู้มีความจำกัดทางการมองเห็นในการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ เพื่อที่จะได้ออกไปใช้ชีวิตในแบบที่ชอบได้โดยไม่ต้องกังวล” ปวริศา กล่าวทิ้งท้าย
*รถประจำทาง 46 เส้นทางที่เข้าร่วมโครงการ Talkable Bus Shelter ป้ายรถเมล์พูดได้
1. สาย 2 สำโรง – ปากคลองตลาด
2. สาย 3 อู่กำแพงเพชร – คลองสาน
3. สาย 11 เมกา บางนา / ประเวศ - เอ็มบีเค เซ็นเตอร์
4. สาย 12 ห้วยขวาง - ปากคลองตลาด
5. สาย 13 คลองเตย - ห้วยขวาง
6. สาย 18 ตลาดท่าอิฐ – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
7. สาย 23 สำโรง / เมกา บางนา – เทเวศร์
8. สาย 26 มีนบุรี – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
9. สาย 34 รังสิต - หัวลำโพง
10. สาย 39 ตลาดไท – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
11. สาย 54 (วงกลม) อู่พระราม 9 – ห้วยขวาง - ดินแดง
12. สาย 59 รังสิต - สนามหลวง
13. สาย 60 สวนสยาม - ปากคลองตลาด
14. สาย 63 MRT พระนั่งเกล้า - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
15. สาย 67 วัดเสมียนนารี / สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - เซ็นทรัล พระราม 3
16. สาย 72 คลองเตย – เทเวศร์
17. สาย 73 สวนสยาม - สะพานพุทธ
18. สาย 76 แสมดำ - ประตูน้ำ
19. สาย 77 เซ็นทรัลพระราม 3 - หมอชิต 2
20. สาย 79 อู่บรมราชชนนี - ราชประสงค์
21. สาย 93 หมู่บ้านนักกีฬา – สี่พระยา
22. สาย 96 มีนบุรี - หมอชิต 2
23. สาย 97 กระทรวงสาธารณสุข - รพ.สงฆ์
24. สาย 134 บัวทองเคหะ - หมอชิต 2
25. สาย 136 คลองเตย – หมอชิต 2
26. สาย 137 (วงกลม) รัชดาภิเษก - รามคำแหง
27. สาย 138 อู่ราชประชา / ท่าน้ำพระประแดง - หมอชิต 2
28. สาย 145 ปากน้ำ / เมกา บางนา - หมอชิต 2
29. สาย 179 อู่พระราม 9 - พระราม 7
30. สาย 185 รังสิต - คลองเตย
31. สาย 204 ห้วยขวาง - ท่าน้ำราชวงศ์
32. สาย 206 เมกา บางนา – มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
33. สาย 502 มีนบุรี - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
34. สาย 503 รังสิต - สนามหลวง
35. สาย 505 ปากเกร็ด - สวนลุมพินี
36. สาย 509 อู่บรมราชนนี – หมอชิต 2
37. สาย 510 มธ.ศูนย์รังสิต – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
38. สาย 511 ปากน้ำ – สายใต้ใหม่ (ตลิ่งชัน)
39. สาย 514 มีนบุรี - สีลม
40. สาย 515 ศาลายา – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
41. สาย 536 ปากน้ำ - หมอชิต 2
42. สาย 3-26E สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ – รพ.รามาธิบดี
43. สาย 4-70E ศาลายา – หมอชิต
44. สาย A1 สนามบินดอนเมือง - หมอชิต
45. สาย A2 สนามบินดอนเมือง - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
46. สาย A3 สนามบินดอนเมือง – สวนลุมพินี
ข้อจำกัดระบบการทำงานของ GPS และป้ายรถประจำทาง
1. รถโดยสารประจำทางที่ไม่ได้ติดตั้งระบบ GPS ที่เชื่อมต่อกับ 10 สถานที่บริเวณป้ายรถประจำทางจะไม่มีเสียงประกาศ คือ รถร่วม ขสมก. และรถโดยสารประจำทางสายที่มี (TSB) ที่เดินรถในเส้นทางเดียวกัน ได้แก่ 2 (TSB), 14, 17, 74, 77 (TSB), 504, 3-53, 3-54, 2-34, 8, 12 (TSB), 18 (TSB), 28, 97 (TSB), 108, 515 (TSB), 538, 539, 3-55, 29, 44, 2-34, 97 (TSB), 529E, 11 (TSB), 69 ,69E, 113, 3-44, 34 (TSB), 39 (TSB), 52, 90, 104, 122, 524, 2-17, 2-34 ** TSB ไทยสมายล์บัส: รถปรับอากาศสีน้ำเงินเข้ม
2. กรณีรถโดยสารประจำทางมีการเปลี่ยนเส้นทางกะทันหัน ระบบจะทำการปรับเส้นทางให้ถูกต้องตามเส้นทางการเดินรถด้วยระบบ AI ที่ตรวจจับลักษณะเส้นทางการเดินรถอัตโนมัติ หากระบบไม่สามารถจับเส้นทางได้ ระบบจะตัดรถคันนั้นออกจากเส้นทาง และไม่ประกาศเสียงรถคันนั้น
3. สัญญาน GPS สามารถดีเลย์ได้ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยี GPS โดยสัญญานของ GPS อาจมีการดีเลย์จากความเป็นจริง ซึ่งส่งผลกับการประกาศเสียงที่ผิดพลาด เช่น ไม่มีการประกาศ หรือเสียงถูกตัดเนื่องจากรถผ่านศาลาโดยสารไปแล้ว กรณีความแม่นยำของตำแหน่ง GPS ผิดจากความเป็นจริง เช่น ตำแหน่งรถเข้าห้าง ออกนอกถนน หากความแม่นยำไม่เพียงพอระบบจะตัดรถคันนั้นออกจากระบบประกาศเสียง
เทคโนโลยีที่ส่งผลให้ระบบเสียงอัจฉริยะมีความแม่นยำ
สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้ในระบบการจราจร มีการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยในการระบุสภาพการจราจรบนท้องถนนที่รถโดยสารวิ่ง ซึ่งใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ร่วมกับข้อมูลสถิติการจราจรกว่า 4 ปี ผนวกกับข้อมูล Real-time จากข้อมูลพิกัดตำแหน่งรถยนต์สาธารณะต่างๆ ที่วิ่งบนท้องถนน ทำให้สามารถระบุการจราจรได้แบบ Real-time การระบุความหนาแน่นของจราจรมีตั้งแต่ ดำ แดงเข้ม แดง ส้ม เหลือง เขียว และเขียวอ่อน เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้การประกาศเสียง สามารถประกาศได้ต่อเนื่องตามความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน เช่น หากรถติดมากเสียงจะประกาศเมื่อรถใกล้มาถึงศาลาโดยสารมากๆ หากมีการจราจรติดขัดปานกลางเสียงจะประกาศในระยะหนึ่งก่อนที่รถจะเข้าจอดที่ศาลาโดยสาร เป็นต้น ในกรณีที่เกิดเหตุผิดปกติหรือรถติดมากและรถยังคงกำลังเข้าศาลาโดยสาร สัญญาณเสียงจะมีการประกาศทุกๆ 3 นาที เพื่อเป็นการบอกผู้โดยสารว่ารถยังคงกำลังเข้าศาลาโดยสารนั้นๆ