ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) กล่าวว่า ซิมม้า หรือ ซิมที่คนร้าย หรือแก๊งคอลเซนเตอร์ใช้ในหลอกลวงออนไลน์ สร้างปัญหากับพี่น้องประชาชนมาก บางครั้ง ซิมเบอร์เดียว โทรออก 500 ครั้งต่อวัน ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ไม่มีการป้องกันที่ดีพอ หรือ แม้กระทั่ง พบว่า มีคนที่มีซิม เป็นร้อยๆ ซิม ไม่ได้ยืนยันตัวตนให้ถูกต้อง เป็นช่องทางของโจร ในการใช้ซิมม้า
ในวันที่ 30 พย. จึงได้จัดประชุมหารือ กับทาง กสทช. กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) รวมไปถึงภาคเอกชน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ อาทิ AIS และ True และหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือถึงมาตรการแก้ไขปัญหาซิมม้า และได้สรุป 6 มาตรการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปราม การใช้ซิมม้า สรุปได้ดังนี้
1. กำหนดให้ผู้ใช้บริการมีการถือครองซิมเกิน 5 ซิม ต่อผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ จะต้องมีการมายืนยันตัวตนภายใน 30 วัน ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการนำซิมการ์ดไปใช้ก่ออาชญากรรมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งต้องมีการออกประกาศ โดยการออกประกาศอยู่ระหว่างการดำเนินการของ คณะกรรมการ กสทช. โดยควรดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วน และให้มีผลให้ต้องลงทะเบียน ไม่เกิน 30 วันนับแต่การออกประกาศสำหรับข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีผู้ครอบครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือหรือซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมาย จำนวนมากถึง 286,148 ราย และมีผู้ครอบครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือหรือซิมการ์ดตั้งแต่ 101 เลขหมายขึ้นไปถึง 7,664 ราย
2. กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ให้ดำเนินการตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์ที่ผิดปกติ โดยเฉพาะ ซิมบุคคลธรรมดา ที่มีการโทรออกตั้งแต่ 100 สายในระยะเวลาสั้นๆ หรือ 100 สายต่อวัน โดยให้ตรวจสอบทั้งการโทรออกจากช่องทางปกติ และการโทรออกจากระบบอินเทอร์เน็ต หากพบ ต้องเร่งดำเนินการ สั่งการอายัดเบอร์ ส่งข้อมูลของซิม ชื่อเจ้าของซิม และพฤติกรรมที่ต้องสงสัยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนสอบสวน จับกุมขยายผลโดยเร็ว
3. เร่งระงับเบอร์ และขยายผล สืบสวนสอบสวน ดำเนินคดี จากเบอร์ และชื่อเจ้าของเบอร์ ที่ได้จาก
(1) การแจ้งความออนไลน์ (Thaipoliceonline.com) ว่าเป็นเบอร์คนร้ายที่ใช้ในการหลอกลวง (2) เบอร์ที่รับแจ้งกับ AOC
1441 ว่าเป็นหมายเลขคนร้าย (3) เบอร์ที่ผู้ให้บริการสื่อสาร
ตรวจพบเอง จากระบบ fraud detection และ สนง กสทช. แจ้ง
ว่าเป็นเบอร์ที่ใช้โดยคนร้าย และ (4) เบอร์ที่ต้องสงสัย อาทิ
เบอร์ที่ใช้กับอุปกรณ์ ซิมบ็อกซ์ (SIM BOX)
หรืออุปกรณ์อื่นที่ใช้กระทำผิด เป็นต้น
ทั้งนี้ ต้องมีการดำเนินคดีโดยเคร่งครัดกับ นายหน้าซิมม้า ผู้จัดหาซิมม้า ผู้ขายซิมม้า รวมทั้ง ผู้ยินยอมให้คนร้ายใช้ซิมตนเองหรือซิมม้า ซึ่งมีโทษสูงสุด จำคุก 5ปี สำหรับนายหน้า ผู้จัดหาซิมม้า และจำคุก 3 ปี สำหรับเจ้าของซิมม้า หรือผู้ยินยอนให้ผู้อื่นใช้ซิมไปใช้ทำผิดกฎหมาย
4. ให้แจ้งข้อมูลการโทรที่ผิดปกติ ดังกล่าวข้างต้น ต่อ ศูนย์ AOC 1441 และ ระบบ Audit numbering ของ สนง.กสทช เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรวมรวมข้อมูล ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องทุกหน่วย ร่วมเร่งตรวจสอบขยายผล แบบบูรณาการ วิเคราะห์อาชญากรรม สืบสวนสวน สอบสวนนำตัวผู้กระทำความผิด และเครือข่ายมาลงโทษโดยเร็ว
5. ดำเนินการตรวจสอบ หมายเลขโทรศัพท์/เสาสัญญาณ และการตั้งสถานีแพร่กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต หากพบให้ดำเนินการระงับสัญญาณทันที
6. ดำเนินการกำกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการให้บริการนอกราชอาณาจักรไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากตรวจสอบพบก็จะให้มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนทิศทางการแพร่สัญญาณ
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการใช้บัตรประจำตัวชาวต่างด้าวมาลงทะเบียนซิมคาร์ดเปิดใช้งานและขายแก่บุคคลทั่วไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นช่องทางเป็นช่องทางให้โจรใช้ในการหลอกลวงประชาชน ซึ่งได้มีการจับกุม ครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ อาทิ ที่ แม่สอด จังหวัดตาก พร้อมของกลางซิมพร้อมใช้งาน 4,379 หมายเลข และ ที่ชุมพร พบของกลางกว่า 10,000 หมายเลข
รัฐมนตรี ดีอี กล่าวในตอนท้ายว่า “ ดีอี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ให้บริการมือถือ มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ให้ความสำคัญกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการใช้ซิมม้า ทั้งนี้ ฝากเตือนถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับซิมม้าหรือผู้ที่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ซิมไปกระทำผิดกฎหมาย ต้องรีบไปยกเลิกหมายเลขทันที เนื่องจาก เรา เอาจริง โทษหนัก อาจถูกจำคุกถึง 5 ปี” ประเสริฐ กล่าว