3 ธ.ค. 2566 26,462 13

รมว.ดีอี ชูผลสำเร็จยกระดับชุมชนด้วยโดรนเพื่อการเกษตร ประยุกต์ใช้ดิจิทัลพัฒนาคุณภาพชีวิต

รมว.ดีอี ชูผลสำเร็จยกระดับชุมชนด้วยโดรนเพื่อการเกษตร ประยุกต์ใช้ดิจิทัลพัฒนาคุณภาพชีวิต

รมว.ดีอี ชูผลสำเร็จการยกระดับชุมชนด้วยโดรนเพื่อการเกษตร ขยายผลชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาคุณภาพชีวิต ติดเทอร์โบเครื่องยนต์เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ


รมว.ดีอี ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลสำเร็จการยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร พร้อมเชื่อมโยงสู่การขยายผลโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ที่ดำเนินการโดย ดีป้า เพื่อส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล ยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร โดยตั้งเป้าปั้นศูนย์บริการซ่อมบำรุง ฉีดพ่น จัดจำหน่ายโดรนการเกษตรในพื้นที่ภาคอีสานจำนวน 16 ศูนย์จาก 50 ศูนย์ทั่วประเทศ ชุมชนในพื้นที่ภาคอีสานมีการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 160 ชุมชน ระบุโครงการดังกล่าวถือเป็นการสร้างสังคมดิจิทัลบนฐานความรู้ ทั่วถึง รู้ประยุกต์ใช้เป็น สนองตอบเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ ภายใต้เครื่องยนต์แรกของนโยบาย The Growth Engine of Thailand


ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) เยี่ยมชมผลสำเร็จการยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรครบวงจรบ้านดงนาคำ ตำบลหนองนาง อำเภอท่าบ่อ ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจราชการและร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 ณ จังหวัดหนองบัวลำภู และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) โดยมี นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี นายปราโมทย์ มุขพรหม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองนาง ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ นางสาวกรรวี  สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า พรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานกิจการสาขา ทีมงาน ดีป้า สาขาภาคอีสานตอนกลาง วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจาก ดีป้า ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรครบวงจรบ้านดงนาคำ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกพืชปลอดภัยบ้านเทวี ตำบลบ้านเดื่อ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรปลอดภัยบ้านไร่ชมภู อำเภอโพนพิสัย ผู้ให้บริการดิจิทัล และกลุ่มเกษตรกรร่วมให้การต้อนรับ


จากนั้น ประเสริฐ ได้ร่วมรับฟังการบรรยายผลการดำเนินโครงการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อยกระดับชุมชนจากผู้แทนวิสาหกิจชุมชน และร่วมพูดคุยถึงปัญหา อุปสรรค และข้อเรียกร้องจากกลุ่มเกษตรกร ก่อนเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ชุมชน โดรนเพื่อการเกษตร และเทคโนโลยีดิจิทัลด้านเกษตรอัจฉริยะจากผู้ให้บริการดิจิทัล และรับชมการสาธิตการใช้งานโดรนเพื่อการเกษตร


ประเสริฐ เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี มุ่งส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้และก้าวทันความเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งหนึ่งในกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงมาจากการขยายผลการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชมในชนบทสามารถเข้าถึงและเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลคือ โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ที่ดำเนินการโดย ดีป้า โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลเพื่อการยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรผ่านการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบินและการซ่อมบำรุงโดรนแก่กลุ่มเกษตรกรและชุมชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศโดยคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญ พร้อมผลักดันให้เกิดนักบินโดรนเพื่อการเกษตรที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านธุรกิจแบบดั้งเดิมไปสู่ศูนย์บริการซ่อมบำรุง ฉีดพ่น จัดจำหน่ายโดรนการเกษตรที่ได้รับการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand: MiT) จาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมาตรฐาน dSURE จาก ดีป้า

นอกจากนี้ ดีป้า และพันธมิตรจะเปิดอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากระยะไกล และหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร ซึ่งเนื้อหาของทั้งสองหลักสูตรได้รับการออกแบบโดย ดีป้า และผ่านการรับรองจากสถาบันการบินพลเรือน โดยตั้งเป้าผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ 1,000 คน และหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร 100 คน

“กระทรวงดีอี โดย ดีป้า ประเมินว่า ภายใน 1 ปีของการดำเนินโครงการจะเกิดศูนย์บริการฯ ทั่วประเทศ จำนวน 50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 500 ชุมชน โดยในพื้นที่ภาคอีสานตั้งเป้าเกิดศูนย์บริการฯ จำนวน 16 ศูนย์ ชุมชนมีการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 160 ชุมชน ซึ่งโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ถือเป็นการสร้างสังคมดิจิทัลบนฐานความรู้ ทั่วถึง รู้ประยุกต์ใช้เป็น สนองตอบเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) เครื่องยนต์เครื่องที่หนึ่งของนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของกระทรวง หรือ The Growth Engine of Thailand” รมว.ดีอี กล่าว


ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ดีป้า มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัล การพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล และการส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัลให้กับประเทศ โดยหนึ่งในการดำเนินงานสำคัญคือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชมในชนบทสามารถเข้าถึงและเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของตนเองในรูปแบบรัฐร่วมลงทุน ชุมชนร่วมสมทบ (Matching Fund) เพื่อนำไปสู่การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาขีดความสามารถกระบวนการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการโดรนเกษตรวิถีใหม่ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรครบวงจร บ้านดงนาคำ คือโครงการที่ได้รับการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจาก ดีป้า ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท โดยชุมชนได้นำเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรมาประยุกต์ใช้บริหารจัดการกระบวนการผลิตข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ลดต้นทุน ประหยัดเวลา สามารถฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ได้อย่างแม่นยำ และเกิดการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ พยากรณ์ และต่อยอดในมิติต่าง ๆ นอกจากนี้ สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนยังได้รับถ่ายทอดทักษะความรู้ และสอบใบอนุญาตบินโดรนอย่างถูกต้อง

“หลังจากนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ วิสาหกิจชุมชนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก และมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% หรือ 216,000 บาท/ปี สามารถลดต้นทุนการผลิต อาทิ ค่าแรง ค่าปุ๋ย และสารชีวภัณฑ์ 20% หรือ115,200 บาท/ปี ขณะที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกพืชปลอดภัยบ้านเทวี และกลุ่มเกษตรปลอดภัยบ้านไร่ชมภู มีการนำเทคโนโลยี IoT: Smart Farm พร้อมโรงเรือนมาใช้ปลูกพืชปลอดสาร โดยเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยโดยอัตโนมัติ ทำให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกพืชปลอดภัยบ้านเทวีมีรายได้จากการจำหน่ายผักปลอดสารเพิ่มขึ้น 30% หรือ 86,400 บาท/ปี ต้นทุนลดลง 20% หรือ 31,800 บาท/ปี ส่วนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรปลอดภัยบ้านไร่ชมภู

มีรายได้จากการจำหน่ายผักปลอดสารเพิ่มขึ้น 30% หรือ 43,200 บาท/ปี ต้นทุนลดลง 30% หรือ 6,000 บาท/ปี โดยการดำเนินงานดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพแก่ภาคเกษตรกรรมไทย และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการค้าขายของชุมชนอีกทางหนึ่ง” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว


นอกจากนี้ รมว.ดีอี ยังได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลโพธิ์ตาก และพบปะคณะผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเพื่อประชุมหารือข้อราชการ จากนั้นจึงเดินทางเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี ณ จังหวัดหนองบัวลำภูในวันที่ 4 ธันวาคม 2566