4 ธ.ค. 2566 343 0

ฟังเสียงสะท้อน วัฒนธรรมออนไลน์แบบไหนที่นิวเจนอยากได้? ในศึกโต้วาที Battle For Better ปี 2 โครงการ BMA x True Safe Internet

ฟังเสียงสะท้อน วัฒนธรรมออนไลน์แบบไหนที่นิวเจนอยากได้? ในศึกโต้วาที Battle For Better ปี 2 โครงการ BMA x True Safe Internet

เมื่อโลกออนไลน์เป็นพื้นที่ของความหลากหลาย เปรียบเสมือนชุมชนที่ไร้พรมแดน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งความคิดและพฤติกรรมของคนในสังคมที่อยากเห็นและต้องการให้เป็น เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์บนโลกออนไลน์…บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดย จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ (แถวหลัง ที่ 3 จากขวา) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร (รักษาการ) จับมือ กรุงเทพมหานคร โดย ภิมุข สิมะโรจน์ (แถวหลัง กลาง)  เลขานุการผู้ว่าราชการกทม. เปิดพื้นที่การแข่งขันโต้วาที Battle For Better ปีที่ 2 ส่วนหนึ่งของโครงการ BMA x True Safe Internet ณ ศาลาว่าการกทม.2  เพื่อเป็นเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงทัศนคติ แลกเปลี่ยน ไอเดียอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับโลกออนไลน์ พร้อมเปิดใจรับฟังผู้อื่นอย่างมีเหตุผล รู้แพ้ รู้ชนะ ภายใต้ประเด็น “New Online Culture for The New Gen วัฒนธรรมออนไลน์ที่คนรุ่นใหม่อยากเห็น” และได้ร่วมมอบรางวัลแก่ทีมชนะเลิศ โรงเรียนแก่นทองอุปถัมภ์ พร้อมทุนการศึกษาจำนวน 20,000 บาท  และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ พร้อมทุนการศึกษาจำนวน 10,000 บาท  กับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในญัตติที่ว่า “ปกปิดตัวตนดีกว่าแสดงตัวจริงบนโลกออนไลน์”


“เยาวรุ่น” กับวาทะและไอเดียสุดเจ๋ง ที่ทุกคนต้องเปิดใจ !


โฉมหน้านักโต้วาทีทีมชนะเลิศ (จากซ้ายไปขวา) ด.ญ. ณัชชา จินาวัน ด.ญ. พัชราภา เชียงพุดซา และด.ช. วิวัฒน์ เพ็นตี้ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนแก่นทองอุปถัมภ์ เขตประเวศกรุงเทพมหานคร  เผยความรู้สึกว่า “ดีใจมากๆ ที่ความทุ่มเทฝึกฝนมาโดยตลอดเห็นผลในวันนี้ มองว่ากิจกรรมนี้มีประโยชน์กับทุกๆคน เพราะในโลกออนไลน์มันกว้างใหญ่กว่าที่เราคิด และอินเทอร์เน็ตมีทั้งประโยชน์และโทษ วันนี้รอบชิงชนะเลิศได้เสนอความคิดเห็นในญัตติ “ปกปิดตัวตนดีกว่าแสดงตัวจริงบนโลกออนไลน์” โดยทีมเราเป็นฝ่ายค้านที่คิดว่าการแสดงตัวตนบนโลกออนไลน์ย่อมดีกว่าการปกปิด แนะนำถึงการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรอบคอบระมัดระวัง เพราะว่าวัฒนธรรมออนไลน์ก็เหมือนโลกในชีวิตจริง บางทีเราอาจจะปกปิด ไม่ได้เปิดเผยตัวตน แต่อีกมุมนึงก็สามารถสร้างผลเสียให้กับเราได้” คิดว่าโลกออนไลน์มีประโยชน์หลายทิศทาง เช่น ด้านการศึกษา สามารถหาข้อมูลทำการบ้าน เปิดโอกาสสร้างการเรียนรู้ทั่วโลก และในด้านสังคม มองว่าความรวดเร็วของโลกโซเชียล นำความสะดวกสบายมาให้เราได้มาก รับรู้ข่าวสารอย่างทันท่วงที รวมถึงการสร้างประโยชน์ทางด้านกิจกรรมต่างๆ ที่โลกออนไลน์จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงเป้าหมายได้อย่างดี แต่ท้ายสุด ถ้าเราใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไม่ระมัดระวังไม่รอบคอบ ก็จะเกิดโทษได้มากกว่า เพราะฉะนั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์มากที่สุด การรู้เท่าทันภัยในโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ซึ่งมองว่าจะนำข้อมูลไปต่อยอดและประชาสัมพันธ์กับพี่ๆ น้องๆ ในโรงเรียน รวมถึงคนในครอบครัวอีกด้วย”


ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น เทเลคอม-เทคคอมปานี จะยังคงเดินหน้าสานต่อกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ ด้วยต้องการร่วมยกระดับการศึกษายุคดิจิทัล ขับเคลื่อนสังคมแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และบริการโทรคมนาคมอย่างปลอดภัย สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนองค์กรในการสร้างสังคมดิจิทัลสำหรับทุกคน หรือ digital inclusion ให้บรรลุ 36 ล้านคนภายในปี 2573 โดยมุ่งเน้นกลุ่มเยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพในทุกมิติ


รับชมผ่าน True Blog https://true.th/blog/battle-for-better-ปีที่-2/