รมว.กระทรวงดีอีเอส เปิดวิสัยทัศน์หลังผลักดัน GDCC เป็นโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาลดิจิทัลที่แข็งแกร่ง เตรียมเดินหน้าพัฒนาศักยภาพคลาวด์กลางต่อเนื่อง เล็งดัน สดช.และ เอ็นที ร่วมมือผู้ให้บริการเอกชนพัฒนา Cloud First เต็มรูปแบบ รองรับนวัตกรรม AI ความปลอดภัยข้อมูลภาครัฐ มุ่งเป้ายกระดับโครงสร้างคลาวด์กลางรองรับรัฐบาลดิจิทัล
วันนี้ (14 ธันวาคม 2566) ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา GOV Cloud 2023 : Government Innovation with Cloud นำเสนอความสำเร็จของโครงการคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC และทิศทางความพร้อมก้าวสู่ Cloud First ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ณ ห้องออดิทอเรียม อาคารสำนักงานใหญ่ เอ็นที
ประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอสให้ความสำคัญการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยให้สามารถรับมือความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีหลากหลายที่ปฏิวัติทุกมิติของสังคมและเศรษฐกิจซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยการเดินหน้าวางรากฐานรัฐบาลดิจิทัลที่มั่นคงและต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมากระทรวงดีอีเอสฯ ได้ผลักดันการใช้งานระบบคลาวด์กลางเป็นโครงสร้างดิจิทัลพื้นฐานหลักของภาครัฐ ผ่านโครงการระบบคลาวด์กลาง GDCC ซึ่งปัจจุบันรองรับหน่วยงานใช้บริการมากกว่า 800 หน่วยงาน และมีระบบงานหลักๆ ของรัฐที่โอนย้ายมายังระบบคลาวด์กลางแล้วกว่า 3,000 ระบบงาน
นอกจากคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC กระทรวงดีอีเอสยังมีนโยบาย Cloud First Policy ยกระดับความสามารถของบริการคลาวด์กลางภาครัฐก้าวไปอีกขั้นเพื่อตอบสนองแนวโน้มการใช้งานด้านข้อมูลและการพัฒนานวัตกรรมของภาครัฐที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ด้วยแนวคิดการพัฒนา Cloud First ที่ผสมผสาน private cloud และ public cloud ที่มีมาตรฐานในการดูแลข้อมูลของภาครัฐที่มีปริมาณจำนวนมาก มีบริการด้านซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์มที่หลากหลาย รองรับภาครัฐที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมบริการต่างๆ ให้เข้าถึงประชาชนอย่างสะดวกรวดเร็ว รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และส่งเสริมการใช้ AI อย่างปลอดภัย ซึ่งเชื่อว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบริการของภาครัฐและเพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น ทั้งนี้ Cloud First สามารถยกระดับความสามารถของคลาวด์กลางภาครัฐที่ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยเชื่อมโยงสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการคลาวด์ภาครัฐและ ผู้ให้บริการคลาวด์ภาคเอกชน ตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาระบบดิจิทัลเป็นรากฐานสำคัญรองรับการขยายศักยภาพของประเทศในอนาคต
ประเสริฐ กล่าวต่อไปถึงความเชื่อมั่นว่า สดช. และ NT ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้ดำเนินงานให้บริการโครงการคลาวด์กลาง GDCC มีความพร้อมด้วยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และศักยภาพที่จะเป็นแกนกลางให้กับโครงการ Cloud First ของภาครัฐ ในการเป็นศูนย์กลางโครงสร้างดิจิทัลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นเอกภาพ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ให้ก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง สามารถแข่งขันในตลาดโลกที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพิ่มโอกาสในการสร้างงานที่มีมูลค่าสูง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึง การพัฒนา GDCC อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน GDCC ยกระดับเป็นโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ภาครัฐที่ให้บริการครบถ้วน สามารถส่งเสริมการทำงานของรัฐบาลดิจิทัลที่เต็มรูปแบบ ครอบคลุมทั้งในด้านบริการโครงสร้างพื้นฐาน (IaaS) บริการแพลตฟอร์ม (PaaS) และ บริการซอฟต์แวร์ (SaaS) โดยเฉพาะล่าสุดการเปิดบริการ Market place แหล่งรวมบริการซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน และแฟลตฟอร์มที่หลากหลายสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งช่วยให้การทำงานสะดวกรวดเร็ว ตลอดจนพัฒนาบริการและแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้พัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลภาครัฐแล้วกว่า 3,000 คน
ที่ผ่านมาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ได้ทำหน้าที่เป็นเบื้องหลังการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สร้างความสำเร็จให้กับโครงการภาครัฐภาคเกษตร การขนส่ง การท่องเที่ยว การศึกษา อาหารและยา สาธารณสุข และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ในอนาคต สดช. ยังมีแนวทางและเป้าหมายพัฒนาบริการคลาวด์กลาง GDCC ที่มากกว่าการเป็นเพียงแค่พื้นที่ในการเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูล แต่มุ่งพัฒนาคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC เป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในโลกดิจิทัล โดยเน้นไปที่การสร้างคุณค่าและประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ภาคประชาชน รวมถึงต่อยอดการทำงานที่เพิ่มประสิทธิภาพสอดคล้องกับ Cloud First เพื่อให้เป็นคลาวด์กลางภาครัฐที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวว่า NT ในฐานะหน่วยงานด้านโทรคมนาคมดิจิทัลภาครัฐ มีความพร้อมในการรองรับการขับเคลื่อนยกระดับโครงสร้างระบบคลาวด์กลางภาครัฐตามนโยบายของกระทรวงดีอีเอส และ สดช. โดยมุ่งนำจุดแข็งคือการบูรณาการศักยภาพโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศทั่วโลก และดาต้าเซ็นเตอร์ 13 แห่งทั่วประเทศ บวกกับความเชี่ยวชาญของบุคลากรด้านคลาวด์ในบริการคลาวด์กลางภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากประสบการณ์ให้บริการระบบคลาวด์ในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี รวมถึงการดำเนินงานระบบคลาวด์กลางให้กับโครงการ GDCC ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อทำหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถหน่วยงานภาครัฐได้ครบถ้วน ตอบโจทย์ความต้องการภาครัฐในระยะยาวและเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในมิติต่างๆ