15 ธ.ค. 2566 25,744 42

ทรู คอร์ปอเรชั่น แจง 6 ข้อเท็จจริง ที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับทรู-ดีแทค

ทรู คอร์ปอเรชั่น แจง 6 ข้อเท็จจริง ที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับทรู-ดีแทค
เนื่องจาก ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีหลายฝ่าย อาจมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง แล้วมีการสื่อสารจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการให้บริการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่ง บริษัทฯ ได้ยึดถือปฏิบัติตามกฎหมายรวมทั้งเงื่อนไขภายหลังการควบรวมของ กสทช. มาโดยตลอด

ทั้งนี้ การสื่อสารออกไปยังสาธารณะโดยมีความเข้าใจไม่ถูกต้องนั้น ก่อให้เกิดความสับสนและความเข้าใจผิดของผู้ได้รับข้อมูล รวมทั้งส่งผลเสียหายต่อ บริษัทฯ ซึ่งหากมีประเด็นที่สงสัยหรือต้องการความชัดเจน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง  สามารถติดต่อสอบถามตรงมายัง บริษัทฯ ได้ เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนจากการชี้แจงของ บริษัทฯ และยังช่วยไม่ให้เกิดการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนออกไป


1. คุณภาพสัญญาณแย่ลงหลังควบรวม?

ข้อเท็จจริง:  คุณภาพสัญญาณไม่ได้แย่ลงหลังควบรวมโดยในทางกลับกันภายหลังการควบรวมนั้น สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5G และ 4G ของลูกค้าทรูและดีแทค ดีขึ้นทันที จากการโรมมิ่งสัญญาณคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz โดยทรูมุ่งมั่นการให้บริการโดยมีคุณภาพที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้บริการอยู่ตลอดเวลา และไม่มีเหตุผลใดๆที่ทรูจะดำเนินการใดๆ เพื่อให้คุณภาพสัญญาณแย่ลง

นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยจัดการโครงข่ายด้วย “Single Grid” ทำให้สัญญาณใช้งานดียิ่งขึ้น ลดการรบกวนของสัญญาณ และเพิ่มพื้นที่ใช้งานครอบคลุมทั่วไทยมากขึ้น คาดแล้วเสร็จภายในปี 2568

2. มีการลดเสาสัญญาณทำให้คุณภาพสัญญาณแย่ลง

ข้อเท็จจริง: ไมมีการลดอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (Cell  Site) แต่อย่างใด แต่มีผู้เข้าใจผิดว่า เสาโครงเหล็กคืออุปกรณ์ส่งสัญญาณ  (Cell  Site) แต่ความเป็นจริงเสาสัญญาณจะต้องประกอบด้วย เสาโครงเหล็ก (Tower) และ สถานีฐานระบบสื่อสัญญาณ  (Cell Site ) ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับเสา (Tower) บางแห่งที่อยู่ในจุดซ้ำซ้อน เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวน  นอกจากจะไม่มีการปรับลดระบบสื่อสัญญาณ  (Cell Site ) แล้ว ในทางกลับกัน ยังมีการติดตั้ง cell sites เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอีก 5,000 สถานีฐาน เพื่อขยายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และทำให้ 5G ครอบคลุมพื้นที่และจำนวนประชากรได้ทั่วประเทศยิ่งขึ้น

3. ปัจจุบันมีการขยายเครือข่าย 5 G ครอบคลุมแล้วหรือไม่ ลูกค้าแพ็กเกจไหนถึงมีสิทธิ์ใช้ 5G

ข้อเท็จจริง : ปัจจุบันโครงข่าย 5G ของทรู-ดีแทคครอบคลุม 90% และตั้งเป้าขยายให้ครอบคลุมประชากรถึง 97% ภายในปี 2568 ขณะที่โครงข่าย 4G ของทรู-ดีแทค ครอบคลุมประชากร 99% ซึ่งปัจจุบันหลังควบรวม ทุกแพ็กเกจสามารถใช้งาน 5G ได้ หากเครื่องมือถือที่ใช้งานรองรับ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแพ็กเกจ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการแพ็กเกจราคาประหยัดก็สามารถเข้าถึงบริการ 5G ได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนมาใช้แพ็กเกจใหม่

4. ไม่สามารถใช้แพ็กเกจเดิมได้ต่อไป มีการบังคับให้ต้องเปลี่ยนเป็นแพ็กเกจราคาสูงขึ้น

ข้อเท็จจริง : ในการให้บริการตามปกติทุกแพ็กเกจมีกำหนดอายุการใช้งานตามสัญญา  ดังนั้น เมื่อจะครบกำหนดก่อนที่ปรับเปลี่ยนแพ็กเกจ บริษัทฯ จะมีการส่ง SMS แจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้า 30 วัน โดยพิจารณานำเสนอแพ็กเกจที่น่าจะเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ลูกค้า และเพื่อให้การใช้บริการของลูกค้าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากลูกค้าไม่ต้องการเปลี่ยนแพ็กเกจตามที่เสนอ ลูกค้ารายเดือนสามารถเลือกใช้งานแพ็กเกจเดิม หรือสมัครแพ็กเกจอื่นๆ ได้ตามปกติ และลูกค้าเติมเงินสามารถเลือกแพ็กเกจอื่นๆ ได้เช่นกัน

5. แพ็กเกจราคาแพงขึ้น

ข้อเท็จจริง: มีการเสนอแพ็กเกจโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากและหลากหลายโดยแต่ละแพ็กเกจมีเงื่อนไขการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปเพื่อให้ผู้ใช้บริการเลือกแพ็กเกจที่ตรงกับความต้องการของตนมากที่สุด โดยเริ่มต้นตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป ลูกค้าสามารถเลือกได้ทั้งแบบเติมเงินและรายเดือน

ขณะที่สิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าได้รับมีการเพิ่มคุณค่าที่หลากหลายที่นอกเหนือการบริการโทรคมนาคม (Non-Telco benefits) เพื่อเพิ่มการตอบโจทย์ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ลูกค้าในยุคปัจจุบัน    อาทิ คูปองเงินสด, TrueID, TrueX, ประกัน, ดูฟรี บอล EPL หนัง ซีรีส์, อาหารและเครื่องดื่มจากแบรนด์ดัง, ส่วนลดร้านค้าห้างสรรพสินค้า

6. แพ็กเกจ Unlimited ไม่ Unlimited จริง?

ข้อเท็จจริง: บริษัทฯ ยังคงมีโปรโมชั่นแบบ Unlimited ให้ลูกค้าเลือกใช้งาน โดยสำหรับลูกค้ารายเดือนจะมีแพ็กเกจเน็ตไม่อั้นที่ความเร็วสูงสุดให้เลือกใช้งานได้ นอกจากนี้ สำหรับแพ็กเกจที่จำกัดปริมาณบนความเร็วสูงสุด (Volume) หลังจากมีการใช้งานครบปริมาณแล้ว บริษัทฯ ได้ปรับความเร็วให้ลูกค้าใช้งานได้ต่อเนื่อง จากเดิมความเร็ว 384kbps เป็น 1Mbps - 6Mbps ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของลูกค้า  สำหรับลูกค้าเติมเงินสามารถเลือกใช้แพ็กเน็ตไม่อั้นที่มีการใช้งานแบบจำกัดความเร็ว (Fixed speed) เลือกได้ตามความเร็วที่ต้องการ และ ระยะเวลาที่ต้องการใช้งาน (เช่น 1 วัน 7 วัน 30 วัน เป็นต้น)