19 ธ.ค. 2566 517 1

โปรเจกต์ Single Grid เป้าหมาย 'โครงข่ายสมรรถนะสูง' เพื่อลูกค้า ทรูพร้อมนำ AI จัดการพลังงาน

โปรเจกต์ Single Grid เป้าหมาย 'โครงข่ายสมรรถนะสูง' เพื่อลูกค้า ทรูพร้อมนำ AI จัดการพลังงาน

อ่านโปรเจกต์ Single Grid กับเป้าหมาย “โครงข่ายสมรรถนะสูง” เพื่อลูกค้า นำ AI จัดการพลังงานมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ (Scope 1 และ 2) สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573

ภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคสำเร็จนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญที่ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ การรวมจุดแข็งของทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกัน เพื่อให้บริการการสื่อสารอย่างไร้รอยต่อแก่ลูกค้าจำนวน 51.4 ล้านราย (ข้อมูล ณ ไตรมาส 3/2566)


นาฟนีท นายาน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน ของ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น เล่าถึงกลยุทธ์โครงข่าย ประสบการณ์ลูกค้า และประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากโปรเจกต์เรือธงที่ใช้ชื่อว่า “Single Grid”


กลยุทธ์โครงข่าย

Single Grid ถือเป็นโปรเจกต์สำคัญด้านโครงข่าย ซึ่งมีเป้าหมายในการรวมพลังด้านโครงข่ายและโครงสร้างพื้นฐานของทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกัน โดยจะเลือกเสาสัญญาณที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการรองรับในอนาคต และผลลัพธ์จากการรวมโครงข่ายให้ทันสมัย ทรู คอร์ปอเรชั่น คาดการณ์ว่าจะสามารถปรับเสาที่ซ้ำซ้อนและอาจก่อให้เกิดสัญญาณรบกวนลงได้ถึง 30% ทั้งประเทศ โดยขยายโครงข่ายให้สัญญาณเพิ่มขึ้น ครอบคลุมขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568

ซึ่งนอกจากประสิทธิภาพด้านโครงข่ายจะดีขึ้นแล้ว ในมุมมองประสบการณ์การใช้บริการของลูกค้าจะดีขึ้นด้วยสัญญาณที่กว้างและครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงความเร็วของสัญญาณที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยปัจจุบันโครงข่าย 4G ของทรู คอร์ปอเรชั่น นั้นครอบคลุมประชากร 99% และโครงข่าย 5G ครอบคลุมแล้ว 90% โดยตั้งเป้าขยาย 5G ให้ถึง 97% ภายในปี 2568

Single Grid ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ให้ทั้งสองแบรนด์ (ทรูและดีแทค) ได้รวมกันและปรับปรุงโครงข่ายให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ในขณะที่คลื่นความถี่มีจำนวนแบนด์วิธที่กว้างขึ้น ทำให้มีพื้นที่บริการที่หนาแน่นขึ้น ซึ่งท้ายที่สุด คือการสร้างโครงข่ายที่มีสมรรถนะสูง โดยมีคุณลักษณะเด่น 3 อย่าง ได้แก่ ทันสมัยขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้น” นาฟนีท อธิบาย


ในส่วนของการออกแบบโครงข่ายแบบ Granular ที่แยกย่อยองค์ประกอบด้านโครงข่ายในระหว่างขั้นวางแผนรวมโครงข่ายนั้น จะช่วยสร้างผลลัพธ์สูงสุดจากการผสานกำลังของทั้งสองฝ่าย ตลอดจนช่วยยกระดับประสบการณ์ลูกค้าจากการใช้บริการ

ทั้งนี้ การร่างพิมพ์เขียวสำหรับบิ๊กโปรเจกต์อย่าง Single Grid นั้น “ข้อมูล” ถือเป็นปัจจัยสำคัญ โดยจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับสถานีฐานและอุปกรณ์โครงข่าย เพื่อนำมาวิเคราะห์เชิงลึกควบคู่กับกรอบทางเทคนิคที่วางไว้ เพื่อ “รักษา” ไว้ซึ่งเสาสัญญาณและสถานีฐานที่สอดรับกับความต้องการการใช้งานของลูกค้าในพื้นที่ต่างๆ ให้ได้มากที่สุด และขั้นตอนการ “คัดเลือก” เสาและสถานีฐานนี้จะนำมาซึ่งผลลัพธ์สูงสุดจากการทำซินเนอร์ยี่ในครั้งนี้

“ปัจจุบัน ได้มีการดำเนินการแล้วหลายร้อยจุด ซึ่งเราเห็นแนวโน้มที่ดีทั้งมุมประสิทธิภาพโครงข่ายและประสบการณ์ลูกค้า” นาฟนีท เปิดเผย


โครงข่ายสมรรถนะสูง

เขากล่าวเสริมว่า ด้วยคลื่นความถี่มีจำนวนมากขึ้นจากการใช้คลื่นความถี่ร่วม ทำให้ทรูสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาด ขณะเดียวกัน ก็มีโอกาสในการสร้างรายได้มากยิ่งขึ้น โดยลูกค้าดีแทค จะเข้าถึงการใช้งาน 5G บนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ลูกค้าทรู จะสามารถใช้การคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะช่วยยกระดับประสบการณ์การใช้งานอย่างมีนัยสำคัญ โดยลูกค้าทรูและดีแทคทุกคนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากคุณภาพการบริการที่ดีขึ้นหลังการควบรวมเสร็จสิ้น ซึ่งทรู คอร์ปอเรชั่น มีความมั่นใจอย่างยิ่งยวดว่าจะสามารถส่งมอบบริการที่ดีขึ้นในระหว่างการพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายให้ทันสมัย รวมถึงการบริหารคลื่นความถี่ในการประสานความถี่ร่วมกัน

นอกจากนี้ การบริหารเสาสัญญาณและสถานีฐาน จะเป็นการอัปเกรดอุปกรณ์ส่งสัญญาณให้ทันสมัยขึ้น ตลอดจนการกระจายสัญญาณหลายแถบ จะส่งผลให้การใช้พลังงานในโครงสร้างพื้นฐานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“นอกเหนือจากประสิทธิภาพและสัญญาณที่ครอบคลุมมากกว่าเดิมแล้ว “Single Grid” ยังมีส่วนสำคัญที่ช่วยลดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการวางแผน โดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 15-20% และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จากโซลูชันปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning (ML) เพื่อวิเคราะห์การใช้พลังงาน และติดตามเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ (Scope 1 และ 2) สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573” นาฟนีท กล่าว

และด้วยจำนวนสถานีฐานและอุปกรณ์ส่งสัญญาณที่นำมาผสานร่วมกันจากโปรเจกต์ Single Grid จะทำให้ผลลัพธ์จากการซินเนอร์ยี่สูงขึ้น การลงทุนด้านการดำเนินการโครงข่ายจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าพื้นที่ ค่าพลังงาน และค่าบำรุงรักษา ในขณะเดียวกัน โครงข่ายสมรรถนะสูงและสถานีฐาน พร้อมด้วยคลื่นความถี่ที่มีจำนวนมากขึ้น จะส่งผลให้ประสิทธิภาพด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (CAPEX) ดีขึ้นใน 2-3 ปีข้างหน้า


ผนึกจุดแข็ง

นาฟนีท เล่าต่อว่า แม้โปรเจกต์ Single Grid จะสามารถสร้างผลประโยชน์ได้นานัปการทั้งในมุมลูกค้า การลงทุน แต่ในทางกลับกัน การรวมโครงข่ายในมุมปฏิบัติการเป็นเรื่องที่ “ท้าทาย” อย่างมาก จากประสบการณ์ทำงานในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมาหลายปี การรวมโครงข่ายมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานหลายมิติ ทั้งการจัดลำดับความสำคัญในการลงทุน ซัพพลายเชน ลอจิสติกส์ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าย ดังนั้น “ทีมเวิร์ค” ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทีมงาน จึงนับเป็นตัวแปรที่สำคัญของโปรเจกต์ Single Grid รวบรวมและสั่งการมดงานต่างๆ เข้าด้วยกันในจังหวะเวลาที่ใช่

ที่สำคัญ ปัญหาและอุปสรรคจะผ่านไปไม่ได้เลย หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นสำคัญทั้ง 2 ราย โดยเทเลนอร์ กรุ๊ป กลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำระดับโลก ได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ล้ำสมัย ขณะที่ ซีพีกรุ๊ปได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกในแต่ละท้องที่ พร้อมทั้งสนับสนุนงานด้านการขนส่งและกระจายอุปกรณ์ ส่งผลให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายในเวลาที่กำหนดไว้ รวมถึงความร่วมมือจากผู้ผลิตอุปกรณ์ส่งสัญญาณที่ทำให้การติดตั้งเป็นไปอย่างลุล่วง

“การควบรวมในครั้งนี้ ได้มอบโอกาสอันล้ำค่าในการเรียนรู้สิ่งที่ดีที่สุดจากทั้งสองฝ่าย จุดแข็งของทั้งสองบริษัทได้ช่วยสร้าง องค์กรสู่ผู้นำโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย ที่มีความพร้อมต่อการเติบโตในอนาคต พร้อมด้วยโครงข่ายสมรรถนะสูง ผสานรวมจุดแข็งเป็นหนึ่งเดียว และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม” นาฟนีท กล่าวทิ้งท้าย