21 ธ.ค. 2566 448 0

วธ. - ดีอี หารือแนวการทบทวนเนื้อหา (ร่าง) พ.ร.บ.ภาพยนตร์และเกม

วธ. - ดีอี หารือแนวการทบทวนเนื้อหา (ร่าง) พ.ร.บ.ภาพยนตร์และเกม

วธ. - ดีอี หารือแนวการทบทวนเนื้อหา (ร่าง) พ.ร.บ.ภาพยนตร์และเกม เตรียมตั้งคณะทำงานร่วมกัน คลอดกฎหมายเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรม


รมว.ดีอี เข้าพบ รมว.วัฒนธรรม เพื่อหารือแนวทางการทบทวนเนื้อหาของ (ร่าง) พ.ร.บ.ภาพยนตร์และเกม ให้มีความทันสมัยและครอบคลุมในทุกมิติ อีกทั้งเป็นไปในรูปแบบของการส่งเสริมและกำกับผู้ประกอบการไทยให้เหมาะสมและชัดเจน ระบุเตรียมตั้งคณะทำงานร่วมกันจาก.    ทั้งสองกระทรวง พร้อมบูรณาการการทำงานกับภาคเอกชน


ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) เข้าพบ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อหารือแนวการทบทวนเนื้อหาของ (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาพยนตร์และเกม


โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า พร้อมด้วย ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของทั้งสองกระทรวงร่วมหารือในครั้งนี้


ประเสริฐ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการหารือแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยร่วมกับผู้บริหารภาคเอกชนเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้ กระทรวงดีอี ได้รับทราบถึงปัญหาและความกังวลของคนในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะข้อกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาของ (ร่าง) พ.ร.บ.ภาพยนตร์และเกม ฉบับใหม่ที่ กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการยกร่างไว้ จึงเป็นที่มาของการหารือระหว่าง กระทรวงดีอี และ กระทรวงวัฒนธรรม ในวันนี้ เพื่อขอเสนอให้มีการพิจารณาทบทวนเนื้อหาของ (ร่าง) พ.ร.บ.ภาพยนตร์และเกม ฉบับใหม่ ให้มีความทันสมัยและดำเนินงานครอบคลุมในทุกมิติ อีกทั้งเป็นไปในรูปแบบของการส่งเสริมและกำกับผู้ประกอบการไทยให้เหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้น


สำหรับข้อหารือต่าง ๆ ประกอบด้วยการให้คำนิยามและการระบุประเภทของเกมและแอนิเมชัน การปรับรูปแบบการกำกับหรือการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหา (การจัดเรตติง) เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการ การหาแนวทางส่งเสริมการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศเพื่อขยายโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และเกมผ่านกลไกทางการเงินทั้งในรูปแบบกองทุนหรือรูปแบบอื่น การพิจารณาความเป็นไปได้ของการจดแจ้งผ่านคณะกรรมการแทนระบบการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ และการกำหนดโทษที่เหมาะสมกับฐานความผิดตาม พ.ร.บ.

นอกจากนี้คำจำกัดความของสื่อโฆษณาควรครอบคลุมข้อมูลที่ผ่านระบบดิจิทัล รวมถึงเนื้อหาที่เผยแพร่ในลักษณะการเชิญชวนผ่าน Live Streaming ขณะที่แอนิเมชันรูปแบบอวตาร (Avatar) ควรครอบคลุมอยู่ในประเภทภาพยนตร์ ขณะที่ภาพยนตร์หรือภาพยนตร์แอนิเมชันที่เกิดจาก Generative AI รวมถึงภาพอนาจาร

และความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นยังไม่ครอบคลุมใน พ.ร.บ. ซึ่งอาจต้องทบทวนเรื่องการผลิตภาพยนตร์ และคำจำกัดความต่าง ๆ ให้เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี.       รวมถึงคำจำกัดความของร้านเกมควรครอบคลุมถึงร้านเกมออนไลน์หรือร้านเกมในโลกดิจิทัล เช่น ห้องแช็ต หรือห้องเกม ด้วย

"อุตสาหกรรมเกมและแอนิเมชันถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก อีกทั้งเกมยังเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ดังนั้นทั้งสองกระทรวงจึงมีความเห็นตรงกันว่าให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ กระทรวงดีอี โดย ดีป้า และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้การดำเนินงานต่าง ๆ เป็นไปด้วยความถูกต้อง และสอดคล้องไปกับแผนงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ" รมว.ดีอี กล่าว

ด้าน เสริมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม เห็นพ้องที่จะให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อให้การดำเนินงานต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกันและถูกต้อง ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม จะมุ่งส่งเสริมการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มแก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมเกม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ระดับสากล