22 ธ.ค. 2566 620 4

บอร์ดดีอี เดินหน้าแนวทางการขับเคลื่อน Cloud First Policy ต่อยอดและขยายผลการใช้งาน Digital ID

บอร์ดดีอี เดินหน้าแนวทางการขับเคลื่อน Cloud First Policy ต่อยอดและขยายผลการใช้งาน Digital ID

บอร์ดดีอี เดินหน้าแนวทางการขับเคลื่อน Cloud First Policy ต่อยอดและขยายผลการใช้งาน Digital ID พร้อมไฟเขียว (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม


ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 1/2566 โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วยนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เข้าร่วมประชุม ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 


ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวันนี้ได้ให้ความเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) ทั้งในส่วนของข้อกำหนดหน่วยงานรัฐผู้รับบริการ แนวทางปฏิบัติ ข้อมูล (Data) มาตรฐาน ประเภทของบริการคลาวด์ ผู้ให้บริการคลาวด์ และการบริหารจัดการบริการ ซึ่งได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านบริการคลาวด์ (Cloud Service) ในระยะ 5 ปี โดยเห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) เพื่อกำกับ ติดตาม และให้ข้อแนะนำในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประสานงานในการส่งเสริม และขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวต่อไป รวมถึงเห็นชอบการขับเคลื่อนบริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศ (Digital ID) และ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 – 2580) ฉบับปรับปรุง นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (เดิม) อีกด้วย


ด้าน ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการต่อยอดและขยายผลการใช้งาน Digital ID เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการออนไลน์ของรัฐและเอกชนได้สะดวกและหลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยลดการปลอมแปลงตัวตนที่เป็นสาเหตุการฉ้อโกงทางออนไลน์ ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กำหนดเป้าหมายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนบริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศ (Digital ID) ในระยะต่อไป โดยมี 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1) การให้หน่วยงานของรัฐที่ให้บริการ e-Service ที่จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตน เชื่อมต่อหรือใช้บริการ Digital ID ที่เชื่อถือได้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำซ้อน ทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถให้บริการธุรกรรมสำคัญแก่บุคคลธรรมดาสัญชาติไทยได้อย่างน่าเชื่อถือ อีกทั้ง ยังอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงบริการของภาครัฐและขยายผลให้มีงานบริการออนไลน์ของหน่วยงานของรัฐ (Government e-Service) ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และมีระบบการยืนยันตัวตนที่น่าเชื่อถือ 2) ให้กรมการปกครอง ให้บริการข้อมูล (Authoritative Source) และบริการ (เช่น FVS) สนับสนุนการพิสูจน์ตัวตนให้กับ Identity Provider (IdP) ในการออก Digital ID สำหรับบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมี Digital ID ได้สะดวกขึ้นจากช่องทางออนไลน์ และ 3) ต่อยอดบริการ Digital ID เพื่อนำไปสู่การใช้งานเอกสารดิจิทัลที่สามารถทำ Data Sharing ได้ โดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของข้อมูลซึ่งระบุตัวตนได้ด้วย Digital ID สามารถจัดเก็บและควบคุมดูแลข้อมูลเกี่ยวกับตนในรูปแบบดิจิทัล และสามารถนำข้อมูลไปใช้ทำธุรกรรมทางออนไลน์กับหน่วยงานของรัฐและเอกชนได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล พิจารณากำหนดแนวทางการขับเคลื่อนตามเป้าหมายสำคัญ และรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบเป็นระยะ


ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 - 2580) ฉบับปรับปรุง ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนและปรับปรุงข้อมูลสาระสำคัญของแผนให้เป็นปัจจุบัน โดยเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและนโยบาย รมว.ดีอี ภายใต้นโยบายและแผนฯ ที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Digital Contribution to GDP) ที่ตั้งเป้าตัวชี้วัดไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ภายในปี 2570 โดยมีโครงการต่อยอด Digital ID โครงการจัดทำ (ร่าง) แนวทางการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) และโครงการจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (E-Procurement) ร่วมผลักดัน ในส่วนด้านขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยใน World Digital Competitiveness Ranking ตั้งเป้าอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก หรืออยู่ใน 3 อันดับแรกของอาเซียน ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการกำกับการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ด้วยโครงการ Global Digital Talent Visa นอกจากนี้ ด้านสถานภาพการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy : DL) ของประชาชนคนไทย ตั้งเป้าคะแนนมากกว่า 80 คะแนน ภายในปี 2570 สอดรับกับการเพิ่มเติมหลักสิทธิดิจิทัล (Digital Rights) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์และสร้างสรรค์ พร้อมทั้งรู้ถึงหลักสิทธิดิจิทัลเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล รวมถึงโครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดวงจรอาชญากรรมออนไลน์ โดยการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี (Online Scam) และนำเสนอ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 - 2580) ฉบับปรับปรุง ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการดีอีในวันนี้ ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้พิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป